การสำรวจล่าสุดพบ ปี 2015 จะเป็นปีที่สัดส่วนระบบปฏิบัติการในตลาดโทรศัพท์มือถือเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยแอนดรอยด์มีแววคว้าอันดับ 1 ในตลาดตามคาด แต่ที่พลิกล็อกคือวินโดวส์โฟนเซเว่นของไมโครซอฟท์ถูกคาดหมายว่าจะสามารถผงาดเป็นอันดับ 2 แซงหน้าไอโฟนได้ในตลาดโลก ส่งให้ระบบปฏิบัติการไอโอเอสซึ่งใช้ในไอโฟนกลายเป็นแพลตฟอร์มเบอร์ 3 โดยปริยาย
เหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทวิจัยไอดีซี (International Data Corp.) มั่นใจว่าระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน (Windows Phone) จะกลายเป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกใช้งานในโทรศัพท์มือถืออย่างแพร่หลายในช่วง 4 ปีข้างหน้าคือความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์และโนเกีย ซึ่งรายหลังประกาศพร้อมติดตั้งวินโดวส์โฟนลงในโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ของโนเกีย (เมนสตรีม) จากเดิมซึ่งใช้ซิมเบียน (Symbian) มาตลอด
ล่าสุด ไอดีซีคาดว่า 45% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกจะใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ในปี 2015 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนราว 40% ในปัจจุบัน ทำให้แอนดรอยด์กลายเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์มือถือที่ได้รับความนิยมสูงสุด สำหรับวินโดวส์โฟน ไอดีซีเชื่อว่าสัดส่วนการใช้งานจะเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 21% สวนทางกับไอโฟนซึ่งไอดีซีเชื่อว่าจะมีสัดส่วนตลาดคงที่คาดว่าจะครองอันดับ 3 ด้วยสัดส่วน 15.3%
Ramon Llamas นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายแนวโน้มและเทคโนโลยีอุปกรณ์เคลื่อนที่ของไอดีซี กล่าวว่านับจากปีนี้เป็นต้นไป ผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จะเร่งพัฒนาสินค้าเต็มกำลังเพื่อดึงตลาดผู้ใช้สมาร์ทโฟนรายใหม่ ทำให้แอนดรอยด์มีแนวโน้มเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน ความสามารถด้านฮาร์ดแวร์ของโนเกียและความแปลกใหม่เรื่องความสามารถของวินโดวส์โฟน ก็ส่งเสริมให้วินโดวส์โฟนมีทิศทางเติบโตต่อเนื่องอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้ ทั้งหมดนี้สวนทางกับไอโฟนและแบล็กเบอร์รีที่ได้รับความกดดันจากคู่แข่งรอบด้าน โดยไอดีซีมองว่าแบล็กเบอร์รีจะมีสัดส่วนตลาดลดลงเหลือ 13.7% ขณะที่ระบบปฏิบัติการอื่นๆ จะมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเป็น 4.6%
สำหรับซิมเบียน ไอดีซีคาดว่าปี 2015 อดีตระบบปฏิบัติการยักษ์ใหญ่ของโนเกียจะมีสัดส่วนการใช้งานเพียง 0.2% เท่านั้นในตลาดสมาร์ทโฟน น้อยกว่าส่วนตลาดระบบปฏิบัติการอื่นๆ ถึง 23 เท่าตัว จุดนี้เป็นเพราะแนวโน้มการพัฒนาระบบปฏิบัติการเองของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะโมโตโรลาซึ่งมีข่าวลือว่ากำลังพัฒนาโอเอสของตัวเองแล้วในขณะนี้
ปัจจุบัน แอนดรอยด์มีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนราว 39.5% รองลงมาคือซิมเบียน 20.9% อันดับ 3 คือ ไอโอเอส 15.7% อันดับ 4 คือ แบล็กเบอร์รี (BlackBerry) 14.9% รั้งท้ายด้วยวินโดวส์โฟนเซเว่นและวินโดวส์โมบายล์ (Windows Mobile) 5.5% โดยระบบปฏิบัติการอื่นๆ เช่น webOS ของเอชพีและ Linux นั้นกินส่วนแบ่งราว 3.5%
จุดนี้ นักวิจัยไอดีซีชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงเรื่องสัดส่วนตลาดระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสิ่งที่จะพิสูจน์ได้ดีคือส่วนแบ่งตลาดของวินดวส์โฟนปัจจุบันที่ทำได้ 5.5% นั้นแสดงให้เห็นว่าไม่เพียงสมาร์ทโฟน WP7 แต่สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Windows Mobile 5.x และ 6.x ล้วนยังสามารถจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ในระดับองค์กรได้อยู่ เนื่องจากสมาร์ทโฟนวินโดวส์โฟนเซเว่นนั้นเพิ่งเปิดตลาดได้เมื่อครึ่งปีที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยผันแปรอื่นๆ ไอดีซีมองว่าความล่าช้าของการพัฒนาระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาดแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนเกิดขึ้นช้าลง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความจริงที่เกิดขึ้นว่ากูเกิล ไมโครซอฟท์ แอปเปิล รวมถึงผู้เล่นรายอื่นจะสามารถชิงไหวพริบแย่งตลาดได้ช้าเร็วเท่าใด
Company Related Link :
Windows Phone
ที่มา: manager.co.th