หน้าแฟนเพจของมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กถูกแฮกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาตามเวลาสหรัฐฯ เบื้องต้นพบว่ามือแฮกต้องการนำเสนอแผนธุรกิจทางเลือกสำหรับเฟซบุ๊ก โดยโพสต์ข้อความแนะนำให้เฟซบุ๊กเปิดกว้างให้สมาชิกสามารถลงทุนกับเฟซบุ๊กในรูปแบบเชิงสังคม แทนที่รับเงินทุนจากธนาคาร ล่าสุดซีอีโอเฟซบุ๊กต้องเปลี่ยนเว็บแอดเดรสในแฟนเพจใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์สามารถเจาะระบบเข้ามาแอบอ้างชื่อแล้วโพสต์ข้อความสถานะหรือ status message ได้อีก
ข้อความที่มือแฮกนิรนามโพสต์ไว้ในเพจของซีอีโอเฟซบุ๊กนั้นอ้างถึงแนวคิดสินเชื่อรายย่อยซึ่งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสันติภาพชาวบังกลาเทศนามมูฮัมหมัด โยนัส ส่งเสริมมาตลอด โดยโพสต์เว็บแอดเดรสแบบย่อ
http://bit.ly/fs6rT3 เพื่อเชื่อมโยงถึงเว็บไซต์สารานุกรมวิกิพีเดีย ในเพจซึ่งอธิบายเรื่อง social business หรือแนวคิดธุรกิจเชิงสังคมเอาไว้
หลักการสินเชื่อรายย่อยของโยนัสเกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อมูลค่าน้อยแก่คนยากจนโดยไม่มีหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ยากไร้สามารถหาเลี้ยงตัวเองจนพ้นจากความยากจน แต่ข้อความที่มือแฮกโพสต์ไว้นั้นสั้นเกินกว่าที่จะอธิบายว่า แนวคิดเพื่อช่วยเหลือประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาเช่นนี้จะสามารถใช้กับเฟซบุ๊กได้อย่างไร
ข้อความเสนอแนะที่มือแฮกโพสต์ไว้หลังจากเจาะระบบเข้าสู่หน้าแฟนเพจของผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กนี้ลงชื่อต่อท้ายด้วยชื่อ #hackercup2011 โดยปรากฏว่ามีสถิติ "like" หรือสัญลักษณ์นิ้วหัวแม่โป้งแสดงความชื่นชอบถูกใจมากกว่า 1,800 คน ท่ามกลางข้อความคอมเมนต์มากกว่า 450 ข้อความ
ซีอีโอเฟซบุ๊ก
การแฮกครั้งนี้มีนัยต่อความน่าเชื่อถือของมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก เนื่องจากหากนักลงทุนเชื่อว่าข้อความนี้เป็นแนวคิดการบริหารจากซีอีโอเฟซบุ๊กจริง คำถามมากมายเกี่ยวกับเงินทุนและการจัดการอื่นๆในอนาคตย่อมถาโถมเข้ามาจนนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น
สำหรับ Hacker Cup 2011 ซึ่งปรากฏท้ายข้อความนั้นเป็นโครงการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วโลกประจำปีซึ่งเฟซบุ๊กจัดขึ้นเป็นครั้งแรก
ขณะนี้ แฟนเพจของมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์กนั้นถูกแก้ไขจนเป็นปกติ แต่เปลี่ยนยูอาร์แอลจาก Facebook.com/markzuckerberg มาเป็น Facebook.com/pages/Mark-Zuckerberg/68310606562 โดยในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการเจาะระบบเกิดขึ้นได้อย่างไร หนึ่งในความเป็นไปได้คือการตั้งค่ารหัสผ่านที่หละหลวมของทีมงานผู้ดูแลจัดการหน้าแฟนเพจของมาร์ก
มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุแฮกหน้าเฟซบุ๊กที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกับกรณีหน้าประวัติประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโคลัส ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ถูกแฮกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมือแฮกสร้างความปั่นป่วนด้วยการโพสต์ข้อความเท็จร้ายกาจไว้ให้ดูต่างหน้า
Company Related Link :
Facebook
ที่มา: manager.co.th