เคิร์ต เดลเบน (Kurt DelBene) ประธานกลุ่มบริหารธุรกิจไมโครซอฟท์ ให้สัมภาษณ์ในงานเปิดตัวบริการ Office 365 ที่ซานฟรานซิสโก
Edited - ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดบริการสร้างงานเอกสารและอีเมลบนระบบคลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อชนกับ Google Apps ของกูเกิลอย่างเต็มตัว แจ้งเกิดแบรนด์ "Office 365" ในฐานะบริการอีเมลและโปรแกรม Office ออนไลน์ที่จะเปิดให้องค์กรธุรกิจสมัครสมาชิกในราคาเริ่มต้นเพียง 72 เหรียญสหรัฐต่อปี (2,160 บาท) เปิดทดลองใช้งานฟรีในขณะนี้ก่อนจะเริ่มเก็บค่าบริการในปีหน้า (2011)
เคิร์ต เดลเบน (Kurt DelBene) ประธานกลุ่มธุรกิจไมโครซอฟท์ออฟฟิศ ให้สัมภาษณ์ในงานเปิดตัวบริการ Office 365 ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันอังคารที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าชื่อ Office 365 นั้นหมายถึงผู้ใช้จะสามารถรับบริการที่ดีที่สุดทุกวัน 365 วันทั้งปี โดยเชื่อว่า Office 365 จะเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อพนักงานบริษัทในยุคนี้
Office 365 คือหนึ่งในหลายหนทางที่ไมโครซอฟท์ใช้ผลักดันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจคลาวด์คอมพิ้ง ด้วยการขายซอฟต์แวร์ซึ่งให้ผู้ใช้ได้สร้างและจัดเก็บเอกสารบนศูนย์ข้อมูลของไมโครซอฟท์ แน่นอนว่า Office 365 ถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อโต้ตอบบริการ Google Apps เว็บไซต์ให้บริการโปรแกรมประมวลผลคำและงานคำนวณซึ่งกูเกิลคิดค่าบริการจากสมาชิกเพียง 50 เหรียญต่อปี (1,500 บาท) ต่ำกว่าไมโครซอฟท์ที่คิดราคาเริ่มต้นไว้ที่ 72 เหรียญ หรือเดือนละ 6 เหรียญ (180 บาท)
งานนี้ไมโครซอฟท์วางกลยุทธ์รุกเอสเอ็มอีเต็มที่ ด้วยค่าบริการ 6 เหรียญต่อเดือน บริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่ถึง 25 คนจะสามารถใช้งานโปรแกรม Office Web Apps (บริการของไมโครซอฟท์ซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งกับ Google Docs โดยตรง) ซึ่งประกอบด้วย Word, Excel, PowerPoint รวมถึงโปรแกรม SharePoint เพื่อการทำงานร่วมกันจากระยะไกล, โปรแกรม Exchange สำหรับจัดการอีเมล และโปรแกรม Lync เพื่อการติดต่อสื่อสาร ทั้งหมดนี้ทำตลาดในชื่อ Office 365 for small businesses
สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ไมโครซอฟท์กำหนดค่าบริการตั้งแต่ 2-27 เหรียญต่อพนักงาน 1 คน เพื่อให้องค์กรสามารถจัดสรรระดับการใช้ซอฟต์แวร์ที่ต่างกันในพนักงานแต่ละฝ่ายได้ตามต้องการ เช่น พนักงานในโรงงานที่ต้องการซอฟต์แวร์ต่างจากพนักงานบัญชี เป็นต้น ทำตลาดในชื่อ Office 365 for enterprises ผู้ใช้จะสามารถใช้งานโปรแกรม Office 2010 รวมถึงโปรกรม Active Directory แบบออนไลน์
ไมโครซอฟท์ระบุว่า Office 365 จะเป็นแบรนด์ที่ไมโครซอฟท์จะนำมาใช้แทนที่ชุดผลิตภัณฑ์ Office ออนไลน์ดั้งเดิมคือ Business Productivity Online Suite ซึ่งรู้จักในนาม BPOS และ Office Live Small Business รวมถึงบริการ Live@edu สำหรับองค์กรการศึกษา จุดนี้ไมโครซอฟท์เตรียมทำตลาดในชื่อ Office 365 for education ซึ่งจะชนกับ Google Apps for Education โดยตรง
ประโยชน์หลักที่องค์กรธุรกิจจะได้รับจากบริการ Office 365 คือการไม่ต้องเสียงบประมาณซื้อไลเซนส์โปรแกรม Microsoft Office แยกเป็นชุด และการซื้อเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้บริการเมลทั้ง Exchange และ SharePoint มาติดตั้งเองในองค์กร แต่สามารถจ่ายค่าบริการรายเดือน/ปีเพื่อใช้งานโปรแกรมเวอร์ชันที่อยู่บนระบบคลาวด์คอมพิวติ้งของไมโครซอฟท์แทน
ในแง่ไมโครซอฟท์ Office 365 จะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางแหล่งเงินรายได้ใหม่ของไมโครซอฟท์ จากเดิมที่ต้องลุ้นกับเส้นเลือดใหญ่อย่างการขายไลเซนส์ใช้งานซอฟต์แวร์ เปลี่ยนมาเป็นการคิดค่าบริการรายเดือน/ปีแทน ทั้งหมดนี้จะเป็นซอฟต์แวร์ชุดเดิมที่ไมโครซอฟท์ไม่ได้พัฒนาคุณสมบัติเพิ่มเติมให้หวือหวา โดยผู้ใช้ทุกคนจะมีพื้นที่เก็บเอกสารขนาด 25GB ซึ่งไมโครซอฟท์การันตีเสถียรภาพของระบบไว้สูงถึง 99.9%
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ Office 365 มีผลให้ผลิตภัณฑ์ออนไลน์ของไมโครซอฟท์หลายตัวถูกยกเลิก ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์บางรายยังมองว่า Office 365 อาจลดบทบาทของตัวแทนและพันธมิตรไมโครซอฟท์ลง ซึ่งจะทำให้พันธมิตรผู้เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายและให้บริการซัปพอร์ตผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์แก่องค์กรธุรกิจมาตลอดสูญเสียประโยชน์ไป จุดนี้เชื่อกันว่า ไมโครซอฟท์จะต้องวางยุทธ์ศาสตร์ในการสนับสนุนพันธมิตรให้ดี เพื่อให้พันธมิตรของไมโครซอฟท์ไม่ได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของบริษัท
สิ่งสำคัญที่ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าไมโครซอฟท์จะสามารถนำหน้ากูเกิล ซึ่งเดินหน้าทำตลาดมาก่อน คือการพ่วงโซลูชัน Outlook และ Exchange Online ฟรีแก่องค์กร เนื่องจากทั้ง 2 โปรแกรมเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้องค์กรธุรกิจ
Company Related Link :
Microsoft
ที่มา: manager.co.th