Author Topic: ผู้ค้าคอมพ์อุบลฯหวั่นยอดปีนี้ฮวบ 30%  (Read 870 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

      "อุบลคอมพิวเตอร์" ตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์และระบบไอทีอันดับหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีหวั่นพิษเศรษฐกิจทำยอดขายปีนี้ลดลง 30% ระบุตลาดช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาไม่ดีเลย เชื่อว่าช่วงเมษายนอาจจะลำบากไม่แพ้กัน
       
       นายประหยัด พวงแก้ว ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนอุบลคอมพิวเตอร์แอนด์เทเลคอมเซอร์วิส กล่าวถึงภาพรวมตลาดไอทีในจังหวัดอุบลราชธานีช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ยอดขายในตลาดภาครัฐนั้นลดลงสวนทางกับตลาดผู้บริโภคทั่วไปที่กำลังขยายตัว โดยสัดส่วนใหญ่ในตลาดตกเป็นของ "อินเตอร์แบรนด์" เป็นผลจากราคาจำหน่ายที่ปรับลดลงมาจนทำให้ "โลคอลแบรนด์" หมดมนต์ขลังเรื่องราคาไปโดยปริยาย
       
       "โลคอลแบรนด์ตายไปตั้งแต่ปี 48 ซึ่งเป็นปีที่เอเซอร์วางตลาดเดสก์ท็อปพีซีราคาหมื่นต้นๆ ผมประกอบยังไงก็ไม่ได้ราคานี้นอกจากจะใช้ของใต้ดินซึ่งเราไม่ได้ทำ ตอนนี้โปรเจคภาครัฐน้อยลงแต่เห็นชัดว่าตลาดคอนซูเมอร์กำลังมาเพราะยอดขายช่วงเปิดเทอมเช่นเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายนจะดีเป็นพิเศษ"
       
       ประหยัดบอกว่า คอมพิวเตอร์ที่ขายดีในพื้นที่อุบลฯคือกลุ่มที่มีราคาไม่เกิน 25,000 บาท เจ้าของส่วนแบ่งตลาดใหญ่คือเอเซอร์และเอชพี ซึ่งแบ่งกันครองตลาด 50% กลุ่มตลาดส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ชาวไร่ชาวนา นักศึกษา และยังไม่มีสำนักงานในพื้นที่มากนัก
       
       "เอเซอร์กินส่วนแบ่งประมาณ 50% พอๆกับเอชพี อันดับที่สามในตลาดไม่ชัดเจนเพราะมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก มองว่าในอนาคตมีโอกาสที่เอชพีจะแซงเอเซอร์ได้ในไม่กี่เดือนนี้เพราะเอชพีทำผลิตภัณฑ์ได้ครอบคลุม สำหรับตลาดแมคอินทอชเชื่อว่าอีกสักพักถึงจะโต"
       
       งานคอมมาร์ตหรือคอมเวิลด์ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯนั้นไม่มีผลกับการขายสินค้าไอทีที่อุบลฯ โดยประหยัดให้เหตุผลว่าราคาที่จำหน่ายที่อุบลฯนั้นเท่ากันกับโปรโมชันในงานและผู้บริโภคในอุบลฯไม่ได้รอให้มีช่วงจัดงาน แต่สิ่งที่กระทบคือสภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายคอมพิวเตอร์ลดลงราว 30%
       
       "ถ้ายอดขายคอมพิวเตอร์ลดลงเราก็ต้องหาอย่างอื่นแทน พยายามทำ CRM ทำให้กลุ่มตลาดหลักคือเกษตรและข้าราชการรู้สึกว่าคุ้มค่า โดยในตลาดคอนซูเมอร์ สัดส่วนการจำหน่ายเดสก์ท็อปอยู่ที่ 15% นอกนั้นเป็นแล็ปท็อป ขณะที่ตลาดองค์กร เดสก์ท็อปขายได้ 30-35% นอกนั้นก็เป็นแลปท็อปเช่นกัน"
       
       ในส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ต ประหยัดให้ข้อมูลว่าประชาชนส่วนใหญ่ใช้ ADSL ซึ่งมีคุณภาพไม่ดีนัก โดยอินเทอร์เน็ต Dial Up นั้นแทบไม่มีการใช้งานแล้วในขณะนี้
       
       "เราเคยเป็นโหนดให้ไอเน็ตและทรู ตอนนี้ยกเลิกหมดแล้ว"
       
       จังหวัดอุบลราชธานีถือเป็นตลาดไอทีรายใหญ่อันดับที่ 3 ในภาคอีสาน รองจากอันดับ 1 นครราชสีมา และอันดับ 2 ขอนแก่น ไม่มีข้อมูลว่าภาพรวมตลาดไอทีในอุบลราชธานีมีมูลค่าเท่าใด แต่เฉพาะอุบลคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรายใหญ่ที่สุด ระบุว่ารายได้ในปีที่ผ่านมาอยู่ในหลักร้อยล้านบาท

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)