ดีใจมากๆ ตอนที่ได้ยินว่าภาครัฐให้ความสนใจกับแม่ฮ่องสอน อยากเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นเมืองไอที เพราะเวลานี้แม่ฮ่องสอนเองก็กำลังเน้นการให้ความรู้และเสริมทักษะด้านไอที ด้านภาษา เรามีวิทยาลัยชุมชน กับศูนย์พัฒนาทักษะการเรียนรู้ คอยทำหน้าที่ในส่วนนี้ ความหวังในการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีของเราเริ่มเป็นรูปธรรมที่เหนียวแน่นมากขึ้น ก่อนหน้าเราได้ NECTEC ร่วมกับเทศบาลเมือง ตอนนี้เราได้ซิป้าเข้ามาช่วยสนับสนุนอีกหนึ่งแรง และอีกไม่นาน เราจะได้ใช้ WiMAX เข้ามาเสริม ไม่มีอะไรที่น่ายินดีกว่าการได้เห็นเมืองของเราได้รับการพัฒนาให้เจริญขึ้นอีกแล้ว
เพราะเป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่อย่างเงียบสงบ ท่ามกลางอ้อมกอดแห่งเทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย จากความที่เป็นเมืองหุบเขาเล็กๆ พื้นที่ไม่มากนัก และเปี่ยมด้วยความเงียบสงบสันโดษ อีกทั้งการคมนาคมที่ค่อนข้างลำบากต่อการเข้าถึง ไม่ว่าจะทางบก หรือทางอากาศ ทำให้แม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีมนต์สเน่ห์ที่ยังขลังไม่รู้หาย
และก็เพราะความที่เป็นเมืองหุบเขาเล็กๆ ที่ยากต่อการเข้าถึงนี่เอง ที่ทำให้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ ยากที่จะเข้าถึงตามไปด้วย แม้ปัจจุบันจะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นแล้วก็ตาม
จำได้ว่าได้ยินชื่อโครงการ IT Valley เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน จาก ดร. ศิวรักษ์ ศิวโมกธรรม ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมไร้สายและความมั่นคง NECTEC ซึ่งตอนนั้น ยังไม่มีอะไรเกิดเป็นรูปเป็นร่าง มีเพียงอุปกรณ์ Mobile WiMAX ที่อยู่ในระหว่างการวิจัยที่ ดร. ศิวรักษ์ นำมาให้ดูเท่านั้น
จนกระทั่งปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา NECTEC ก็เปิดตัวโครงการนี้ อย่างเป็นทางการ ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ ส่งสัญญาณ WiMAX ที่ยอดดอยกองมู ซึ่งเป็นจุดที่สามารถส่งสัญญาณครอบคลุมได้ทั่วทุกพื้นที่ของ อ. เมือง แม่ฮ่องสอน
ด้วยฤทธิ์ของต่อมอยากรู้ กอปรกับการเปิดศูนย์การเรียนรู้ ICT แม่ฮ่องสอนของซิป้า ทำให้มีโอกาสได้ไปเยือนเมืองสามหมอก และสังเกตการณ์ดู IT Valley ในส่วนที่เป็นตัวเมืองแม่ฮ่องสอนนี้ด้วยตาของตัวเอง แถมท้ายด้วยข่าวดีจากฝั่งของ กทช. โดย พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. ที่ประกาศว่าจะเดินหน้าลุย 3.9G และ WiMAX ชนิดหน้าไหนก็ขวางไม่ได้ ให้มีไลเซนส์ในเดือนกันยายนนี้ ยิ่งเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้นอีกว่าอนาคตของที่นี่จะออกมาในรูปแบบใด
สู่เมืองสามหมอก
ระยะทางกว่า 986 กม. จาก กทม. ที่ต้องพิชิตเส้นทาง 1,864 โค้ง ไม่ใช่ปัญหาสำหรับคณะของเราแม้แต่น้อย ด้วยบริการจากนกยักษ์ของเจ้าจำปี ที่ใช้เวลาเพียง 45 นาที พาเราลัดฟ้าพิชิตขุนเขามาสู่เชียงใหม่ ก่อนที่จะเข้าสู่ 25 นาทีระทึกใจที่คณะของเราต้องเดินทางต่อด้วยเครื่องบินเล็กแบบแมลงปอ 2 เครื่องยนต์ โดยสายการบิน Nok Mini ที่น่ารักสมชื่อ สู่ท่าอากาศยานที่มีรันเวย์เป็นตำนานเล่าขานมานับสิบปี ซึ่งผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้ยินประวัติของสนามบินแห่งนี้มาตั้งแต่เล็กจนโต
เพียง 25 นาที เจ้านกน้อยพร้อมรอยยิ้มอย่างมั่นใจ ที่อยากเรียกว่าแมลงปอยักษ์มากกว่า ก็ร่อนลงจอด ณ จุดหมายได้อย่างงดงาม ทำให้เข้าใจว่า เพราะอะไร คนจึงพูดว่าการเดินทางมาแม่ฮ่องสอน ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งทางบก และทางอากาศ แม้วันนี้จะมีความปลอดภัยมากกว่าเดิมก็ตาม ส่วนหนึ่งมาจากรันเวย์ที่สั้น และล้อมด้วยภูเขา หากนักบินขาดความชำนาญ แน่นอนครับโศกนาฏกรรม อีกทั้งสนามบินแห่งนี้ยังอยู่ในลิสต์ของสนามบินที่ขึ้นลงจอดยากที่สุดในโลกอีกด้วย
สามหมอกในวันนี้
ภาพของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน นับตั้งแต่มองจากมุม Bird Eye ผ่านหน้าต่างเครื่องบิน ลงมาจนถึงสภาพพื้นที่จริง กล่าวได้ว่าผิดคาดจากที่คิดไว้โดยสิ้นเชิง ภาพที่เราเห็น เป็นเพียงเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ ถนนสายเล็กๆ และแคบวิ่งตัดผ่านหุบเขา สถาปัตยกรรมต่างๆ คงไว้ซึ่งอารยธรรมร่วมสมัย ทั้งแบบลานนา ไทยใหญ่ และสากล ทั้งเมืองมีห้างสรรพสินค้าขนาดย่อมที่ชื่อ กาดคำพลาซ่า ตั้งอยู่เพียงห้างเดียวใจกลางเมือง แม้กระทั่งอาคารศูนย์การเรียนรู้ที่พวกเราจะต้องไปเยือนในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ก็ยังเป็นเพียงอาคารเล็กๆ 3 ชั้น เท่านั้น
ในขณะที่ เสาสัญญาณ WiMAX กลายเป็นจุดเด่นที่สำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่บนยอดดอยกองมู ซึ่งประดิษสถานพระธาตุดอยกองมู สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญคือในบริเวณตัวเมือง จะสามารถมองเห็นเสา WiMAX และยอดพระธาตุได้จากทุกมุม ตอบโจทย์ข้อที่ว่า รัศมี 5 กิโลเมตร มันจะครอบคลุมพอหรือไม่อย่างชัดเจน
จากการสอบถามเบื้องต้นจากแหล่งข่าวท้องถิ่นซึ่งเป็นชาวแม่ฮ่องสอนก็ได้รับทราบข้อมูลว่า แม่ฮ่องสอน เป็นเมืองเล็กๆ ที่คนอยากมาเที่ยว อยากมาพักผ่อน เพราะเป็นเมืองที่เงียบสงบ เหมาะกับคนที่รักสันโดษ ส่วนใหญ่คนจะมาเที่ยวในช่วงฤดูเทศกาลที่มีงานประเพณีสำคัญๆ กับฤดูหนาว โดยเฉพาะประเพณีปอยส่างลอง หรือบวชเณรแก้ว กับประเพณีตักบาตรเทโว
“ก็อย่างที่ทราบ นักท่องเที่ยวชอบมาในช่วงปอยส่างลอง กับตักบาตรเทโว เพราะเขาอยากเห็นประเพณีที่ยังคงวัฒนธรรมเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น นอกเหนือจากนี้จะไม่ค่อยมี เพราะนักท่องเที่ยวจะไปที่ อ. ปายกันมากกว่า ส่วนเสาร์อาทิตย์ ก็มีบ้างที่จะมีชาวต่างชาติ กับชาวไทยมาเดินเที่ยวที่ถนนคนเดิน แต่ไม่เยอะมาก ส่วนคนที่นี่จะเลือกเดินทางเข้าเชียงใหม่ไปพักผ่อนแทน คิดแล้วก็แปลกดีเหมือนกัน” แหล่งข่าวของเรากล่าว
นอกจากนี้ เรายังได้รับทราบถึงปัญหาที่กลายเป็นเรื่องปกติของชาวเมืองแม่ฮ่องสอนไปแล้ว นั่นคือปัญหาไฟดับที่เกิดขึ้นบ่อยถึงบ่อยมาก เรียกได้ว่าถ้าไฟดับทีเดียวเมืองจะมืดไปทั้งแถบในขณะที่อินเทอร์เน็ตคนเริ่มหันมาใช้ ADSL กันมากขึ้น แม้จะมีปัญหาเรื่องของสายเคเบิลอยู่เนืองๆ ก็ตาม แต่ก็มีบ้างที่หันมาใช้เน็ตผ่านดาวเทียม
“ชินแล้วกับเรื่องไฟดับ เพราะที่นี่เป็นเมืองหุบเขา สภาพอากาศแปรปรวนบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน ดึกก็หนาวหน่อย ถ้าไม่ใช่ฤดูหนาว แต่ช่วงที่อากาศร้อนจัด กับมีลมแรงๆ หรือมีฝนตก ปัญหาไฟดับ เน็ตหลุด จะมีทันที เวลาที่ดับก็ดับกันทั้งแถบ แต่ยังดีที่ไม่ดับหมดทั้งเมือง ปัญหาของอินเทอร์เน็ตตอนนี้ก็ดีขึ้นมากแล้ว มีการลากสายเคเบิลมาให้ใช้ได้ 4MB แต่ก็ลำบากอยู่ เพราะเขาต้องลากสายข้ามภูเขามา เจออะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็สายเคเบิลขัดข้อง ถ้า WiMAX เปิดใช้งานได้เมื่อไร เรื่องนี้ก็สบาย คนที่นี่ก็รออยู่ว่าเมื่อไหร่จะได้ใช้กัน ล่าสุดเห็นมาทดสอบกันอยู่ คิดว่าคงจะพร้อมให้ใช้เร็วๆ นี้” แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว
เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ สำหรับปัญหาที่เราได้ฟังมาจากการบอกเล่า เราจึงเลือกสถานที่สังเกตการณ์ในคืนวันนั้นที่ร้านอาหาร Cross Road ซึ่งเป็นร้านที่ตั้งอยู่ ณ หัวมุมถนนคนเดินใจกลางเมืองใกล้กับทั้งศูนย์การเรียนรู้ วิทยาลัยชุมชน และสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ
ผลการพิสูจน์ เป็นจริงดังที่แหล่งข่าวกล่าวไว้ เพราะจู่ๆ ระหว่างที่กำลังนั่งสนทนากันอย่างออกรส ไฟก็ดับเกือบทั้งเมือง เหลือเพียงไฟจราจรกับไฟฉุกเฉินของร้านอาหารเท่านั้นที่ยังทำงานอยู่ หลังจากทิ้งระยะไปครู่ใหญ่ๆ กลางดึกไฟก็ดับทั้งเมืองให้เห็นอีกครั้ง ท่ามกลางสายฝนที่เทกระหน่ำ ทำให้เราเข้าใจถึงเหตุผลของการเลือกใช้ WiMAX ในทันที เพราะสภาพภูมิอากาศบ้านเราไม่เหมาะกับการสื่อสารที่เป็นระบบสายทองแดงอยู่แล้ว ยิ่งเจอระยะทางกับสภาพภูมิอากาศแบบนี้เข้าไป แน่นอนว่าคนต้องเรียกหาแต่ระบบไร้สาย ซึ่งเทคโนโลยีของ WiMAX เป็นตัวที่ตอบโจทย์ได้อย่างดีที่สุด
นอกจากนี้ แหล่งข่าวท้องถิ่นยังแสดงความเห็นต่อการมี WiMAX ว่า “ดีใจมากๆ ตอนที่ได้ยินว่าภาครัฐให้ความสนใจกับแม่ฮ่องสอน อยากเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นเมืองไอที เพราะเวลานี้แม่ฮ่องสอนเองก็กำลังเน้นการให้ความรู้และเสริมทักษะด้านไอที ด้านภาษา เรามีวิทยาลัยชุมชน กับศูนย์พัฒนาทักษะการเรียนรู้ คอยทำหน้าที่ในส่วนนี้ ความหวังในการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีของเราเริ่มเป็นรูปธรรมที่เหนียวแน่นมากขึ้น ก่อนหน้าเราได้ NECTEC ร่วมกับเทศบาลเมือง ตอนนี้เราได้ซิป้าเข้ามาช่วยสนับสนุนอีกหนึ่งแรง และอีกไม่นาน เราจะได้ใช้ WiMAX เข้ามาเสริม ไม่มีอะไรที่น่ายินดีกว่าการได้เห็นเมืองของเราได้รับการพัฒนาให้เจริญขึ้นอีกแล้ว ส่วนเรื่องการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา ไม่อยากหวังเท่าไร แค่ขอให้ที่นี่เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าบ่มเพาะสร้างความรู้ให้กับผู้คนได้ก็พอ เพราะที่ไหนมีความรู้ ที่นั่นจะมีเงินหลั่งไหลเข้ามาเอง”
การพัฒนาไอซีที ความหวังที่ใกล้เป็นจริง
สำหรับการพัฒนาด้านไอซีทีที่แม่ฮ่องสอนในวันนี้ เราได้เห็นศูนย์การเรียนรู้ ICT และวิทยาลัยชุมชน ที่ต่างก็ทำหน้าที่ในการพัฒนาความรู้อย่างเต็มกำลังเท่าที่จะทำได้ ไม่นับรวมถึงสถานศึกษาต่างๆ ที่ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านนี้ให้กับเยาวชนอยู่แล้ว
เมื่อมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมภายในศูนย์แห่งนี้ เราก็ได้พบว่ามีเยาวชนมากมาย ทั้งที่เป็นชาวไทย และชาวเขาชนเผ่าต่างๆ เข้ามาเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะด้านไอซีทีอย่างหนาตา เป็นภาพที่ดูดีจนบรรยายไม่ถูก กับการที่ได้เห็นเยาวชนจากต่างที่ต่างเผ่ามานั่งเรียนรู้ซึมซับวิชาการร่วมกัน
ในส่วนของ WiMAX นั้น เบื้องต้นจะพร้อมใช้งานในเดือนกันยายนนี้ โดยจะเริ่มเปิดให้ใช้บริการในศูนย์ราชการ และสถานศึกษาต่างๆ ในเขตอำเภอเมืองก่อน แล้วจึงค่อยกระจายไปตามบ้านเรือนต่อไป
“เวลานี้ เรากำลังรอให้ WiMAX เปิดอยู่ เพราะประสิทธิภาพของสัญญาณจะเข้ามาช่วยหนุนการพัฒนาการเรียนการสอน เยาวชนก็สามารถเรียนรู้ได้ไวขึ้น เหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับพวกเขา คาดว่ากันยายนนี้คงจะได้เริ่มใช้งานจริงเสียที” เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์การเรียนรู้ ICT กล่าว
ครั้นถึงเวลาก็ต้องลาจาก แมลงปอยักษ์พาพวกเราลัดขุนเขากลับสู่นครพิงค์ เชียงใหม่ ทิ้งไว้แต่เงาของเมืองสามหมอกไว้เพียงเบื้องหลังด้วยความอาลัยยิ่ง แต่เรามั่นใจว่า การมาเยือนครั้งหน้า เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
ที่มา: telecomjournal.net