"เพลย์สเตชัน4"(PS4) เครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่ล่าสุดจากโซนี่ คอมพิวเตอร์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่จะมาสานต่อความสำเร็จของเพลย์สเตชัน3(PS3) ถูกเปิดตัวออกมาครั้งแรกในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี 2013 โดยระบุว่าจะออกวางจำหน่ายที่อเมริกาในวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2013 ด้วยราคา 399 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13,000 บาท จากนั้นจะวางจำหน่ายที่ยุโรป และออสเตรเลียในวันที่ 29 พฤศจิกายน ด้านญี่ปุ่นจะออกวางจำหน่ายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี 2014 เพื่อมาแข่งกับเครื่อง "วียู"(Wii U) ของนินเทนโด และ "Xbox One" ของไมโครซอฟต์ ภายในกล่องเพลย์สเตชัน 4 จะประกอบด้วยตัวเครื่องเพลย์สเตชัน 4 , จอยดูอัลช็อก4 จำนวน 1 ตัว , ชุดหูฟัง 1 ตัว , สายไฟ , สาย HDMI , สาย USB ชาร์จจอย PS4 ถูกพัฒนาให้มีศักยภาพสูงขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านกราฟิก , ระบบการเล่น และความเร็ว นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชันการเล่นบนหน้าจอที่สอง และฟังก์ชันโซเชียลเน็ตเวิร์คสังคมที่เสริมเข้ามาด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการผนวกเอาคลาวน์เทคโนโลยีเข้าไปในเพลย์สเตชันเน็ตเวิร์คเพื่อให้ เครื่องเพลย์สเตชัน 4 เป็นศูนย์กลางของการเล่นเกม สามารถเล่นเกมได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ
ในส่วนของสเปกเครื่องเพลย์สเตชัน 4 จะมีซีพียู x86-64 AMD “Jaguar”, 8 คอร์ การ์ดจอ 1.84 TFLOPS, AMD next-generation Radeon ความจุแรม 8 กิ๊กกะไบต์ ฟังก์ชันโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องเพลย์สเตชัน 4 ตัวเครื่องจะมีความสามารถในการบันทึกบีบอัดวิดีโอและแปลงไฟล์ได้ในตัว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถแชร์แบ่งปันวิดีโอระหว่างเล่นเกมได้เพียงกดปุ่มแชร์(Share) ที่อยู่บนจอยดูอัลช็อก 4 งานนี้ผู้เล่นก็สามารถจะโชว์ภาพและวิดีโอในเกมให้เพื่อนเห็นได้ผ่านบริการโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค อย่างเฟซบุ๊ก
เพลย์สเตชัน 4 ได้เสริมฟังก์ชันการเฝ้าสังเกตดูการณ์เล่นเกมอีกด้วย ฟังก์ชันที่ว่านี้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ถ่ายทอดสดการเล่นเกมของตัวเองในแบบเรียลไทม์ให้เพื่อนได้ดูผ่านบริการอินเทอร์เนทสตรีมมิ่งอย่าง Ustream ซึ่งระหว่างการเล่นแบบถ่ายทอดสดนั้น เพื่อนสามารถแสดงความเห็นต่อการเล่นได้ และถ้าหากว่าผู้เล่นเกิดเล่นไม่ผ่านขึ้นมาเพื่อนก็สามารถเข้ามาจอยเพื่อให้เล่นเกมผ่านได้ ยกตัวอย่างว่าเพื่อนสามารถเข้ามาช่วยในการเพิ่มเลือด หรือให้อาวุธพิเศษกับผู้เล่นได้แบบสดๆในระหว่างการเล่นเกม
ผู้เล่นสามารถเชื่อมต่อกับแอคเคาท์เฟซบุ๊กของตัวเองได้ผ่านเน็ตเวิร์คแอคเคาท์ของโซนี่ ซึ่งการเชื่อมต่อกันระหว่าง 2 แอคเคาท์นี้จะทำให้ผู้เล่นมีโอกาสในการร่วมเล่นเกมกับเพื่อน หรือการแชทพูดคุยข้ามเกมกับเพื่อน
ฟังก์ชันการเล่นเกมบนหน้าจอที่สอง ถือเป็นอีกจุดน่าสนใจของเพลย์สเตชัน 4 ผู้เล่นสามารถใช้เครื่องเกมพกพาเพลย์สเตชัน วีตาหรือ สมาร์ทโฟน และแทปเล็ต เป็นหน้าจอที่สองในการเล่นเกมบนเครื่องเพลย์สเตชัน 4 ได้ ฟังก์ชัน "รีโมท เพลย์"(Remote Play) จะใช้งานกับฟังก์ชันการเล่นเกมบนหน้าจอที่สอง ซึ่งจะรองรับสมบูรณ์แบบระหว่างเครื่องเพลย์สเตชัน 4 กับเครื่องเพลย์สเตชัน วีตา ที่เจ้าของเครื่องวีตา สามารถดึงภาพที่แสดงบนหน้าจอจากเครื่อง PS4 มาแสดงบนหน้าจอ 5 นิ้วบนเครื่องวีตาได้ผ่านไวไฟเน็ตเวิร์ค ด้านโครงการในระยะยาวนั้นโซนี่จะพยายามทำให้เกมส่วนใหญ่บนเพลย์สเตชัน 4 สามารถเล่นได้บนเครื่องวีตา
โซนี่จะมีแอพพลิเคชันในชื่อ “PlayStation App” เปิดโอกาสให้ ไอโฟน ,ไอแพด และสมาร์ทโฟน หรือแทปเล็ตบนระบบปฏิบัตการแอนดรอยด์สามารถใช้ฟังก์ชันการเล่นเกมบนหน้าจอที่สองได้ เมื่อติดตั้งแอพพลิเคชันนี้แล้ว ยกตัวอย่าง ผู้เล่นสามารถใช้สมาร์ทโฟนของตัวเองเพื่อดูแผนที่ระหว่างเล่นเกมแนวผจญภัย , สามารถใช้สมาร์ทโฟนเลือกซื้อเกม PS4 เวลาที่อยู่นอกบ้านแล้วสั่งให้ดาวน์โหลดเกมลง PS4 ที่อยู่ที่บ้าน หรือสั่งการเพื่อดูผู้เล่นคนอื่นเล่นเกมก็ได้
"เพลย์สเตชัน เน็ตเวิร์ค" บริการเน็ตเวิร์คของโซนี่ ที่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2006 ขณะนี้เปิดให้บริการใน 67 ประเทศทั่วโลก มียอดดาวน์โหลดคอนเทนต์ไปแล้วมากกว่า 2.8 พันล้านคอนเทนต์ ซึ่งนอกจากเกมจำนวนมากที่พร้อมให้ดาวน์โหลดผ่านเพลย์สเตชัน สโตร์แล้ว ผู้ใช้เครื่อง PS4 จะได้สนุกสนานกับบริการที่หลากหลายมากขึ้นบนเพลย์สเตชัน เน็ตเวิร์ค อาทิ Music Unlimited ของโซนี่ คอร์ปอเรชัน , บริการสมาชิกเพลงแบบคลาวด์ และ วิดีโออันลิมิตไม่จำกัด , บริการวิดีโอแบบพรีเมียม พร้อมด้วย บริการจัดจำหน่ายคอนเทนต์
บริการเพลย์สเตชัน เน็ตเวิร์ค จะมีการนำไปผนวกกับเทคโนโลยีคลาวด์ ของ Gaikai ที่โซนี่ซื้อกิจการมา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโซนี่ที่ต้องการให้ผู้เล่นมีอิสระมากที่สุดในการเข้าถึงเกมที่หลากหลาย ในอนาคตโซนี่อยากจะเห็นภาพที่ เวลาเกมเมอร์สนใจเกมใดเกมหนึ่งในเพลย์สเตชัน สโตร์ แล้วผู้เล่นสามารถจะเข้าไปทดลองเล่นเกมนั้นในช่วงใดช่วงหนึ่งได้แบบทันทีทันใด ซึ่งการได้เข้ามาทดลองเล่นเกมก่อนจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการเล่นเกมนั้นๆได้ และผู้เล่นจะมั่นใจมากขึ้นและยอมจ่ายเงินซื้อเกมที่ตัวเองทดลองเล่นแล้วรู้สึกชอบจริงๆ สำหรับโครงการในระยะยาวโซนี่มีแผนที่จะใช้เพลย์สเตชัน เน็ตเวิร์ค และเทคโนโลยีคลาวด์ ทำงานร่วมกันเพื่อดึงเอาเกมเก่าบนเครื่องเพลย์สเตชัน หรือเกมดังๆจากเครื่องเพลย์สเตชัน 3 มาให้บริการผ่านเทคโนโลยีคลาวด์ บนเครื่องเพลย์สเตชัน 4
ถัดจากเรื่องของตัวเครื่องเพลย์สเตชัน 4 ก็มาถึงเรื่องของจอยบังคับกันบ้าง จอยสำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 4 จะมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ดูอัลช็อก 4(DUALSHOCK4) ซึ่งจะมีรูปลักษณ์การออกแบบคล้ายกับจอยรุ่นก่อนอย่างดูอัลช็อก3 แต่จะมีการเพิ่มฟังก์ชันที่น่าสนใจเข้ามาเพื่อให้ประสบการณ์เล่นเกมมากขึ้น อย่าง เซนเซอร์ six-axis จับการเอียงของจอย และ ทัชแพดที่อยู่ด้านหน้าจอย
จอยดูอัลช็อก4 จะมีช่องเรืองแสงอยู่ที่ด้านบน ภายในจะมีหลอด LED 3 ดวงที่จะทำให้เรืองแสงเป็นสีสันต่างๆได้หลายสี ซึ่งสีที่แสดงออกมาจะตรงกับสีของตัวละครในเกม , ทำให้ผู้เล่นรู้ว่าจอยไหนควบคุมตัวละครตัวไหน และ ช่วยให้รู้ว่าว่าผู้เล่นไหนอยู่ฝ่ายไหนพวกเดียวกันหรือไม่ นอกจากนั้นสีของช่องเรืองแสงนี้จะเปลี่ยนไปตามระหว่างการเล่นเกมด้วยเพื่อบอกข้อมูลบางอย่างแก่ผู้เล่น ยกตัวอย่างว่าถ้าหากว่าตัวละครในเกมอยู่ในช่วงวิกฤตเลือดเหลือน้อยแล้วก็จะมีสีบอกให้ผู้เล่นได้รับทราบว่าตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากแล้ว เท่านั้นยังไม่พอ ดูอัลช็อก4 ยังมาพร้อมกับลำโพงบิ๊วอิน และแจ็คสำหรับเสียบหูฟัง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้สัมผัสเอฟเฟกซ์เสียงในเกมทั้งจากลำโพงของโทรทัศน์ และลำโพงของจอย ชุดหูฟังจะมีพร้อมมากับเครื่องเพลย์สเตชัน 4 ให้ผู้เล่นได้แชทพูดคุยกับเพื่อนระหว่างเล่นเกม และสามารถฟังเสียงเอฟเฟกต์ในเกมไปได้พร้อมๆกัน
ปุ่มของจอยดูอัลช็อก4 จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ปุ่ม Select และปุ่ม Start ที่เคยมีบนจอยดูอัลช็อก3 จะหายไป เปลี่ยนเป็นปุ่ม Option และปุ่ม Share แทน ซึ่งปุ่มแชร์จะใช้สำหรับแสดงออกถึงการเล่นผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ปุ่มแชร์จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้บันทึกและถ่ายทอดการเล่นเกมสดๆเรียลไทม์เพื่อโชว์เพื่อนผ่านบริการอินเทอร์เนทสตรีมมิ่ง Ustream ผู้เล่นสามารถแชร์ชัยชนะความสำเร็จจากในเกมได้ด้วยการอัพโหลดวิดีโอผ่านเฟซบุ๊กเพียงแค่กดปุ่มแชร์เท่านั้น โดยที่ผู้เล่นไม่ต้องมาเสียเวลาแปลงไฟล์วิดีโอแต่อย่างใด ระบบเครื่องจะจัดการเรื่องไฟล์ให้เรียบร้อยเพื่อความสะดวกของผู้ใช้ ด้านการชาร์จไฟให้กับจอยดูอัลช็อก4 จะสามารถชาร์จได้ในระหว่างที่เครื่องเพลย์สเตชัน 4 เปิดใช้งานอยู่หรือชาร์จกับแท่นชาร์จก็ได้ ทางโซนี่ย้ำว่าจอยดูอัลช็อก4 ได้ทำการออกแบบร่วมกับพาร์ทเนอร์พัฒนาให้ปุ่มกด และปุ่มทริกเกอร์ให้ความรู้สึกที่ดีขึ้นในการเล่นฉากแอคชันในเกม
การมาของเพลย์สเตชัน 4 นี้ ทางโซนี่จะมีกล้องเพลย์สเตชัน อายรุ่นใหม่ออกมาด้วยจะมีการติดตั้งกล้อง 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นเลนส์มุมกว้าง อีกตัวหนึ่งเป็นเลนส์รับภาพ 85 องศา ที่จะช่วยจับภาพในเชิงลึกได้อย่างแม่นยำ และจะช่วยให้สามารถสร้างภาพของผู้เล่นออกจากฉากหลัง และรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าผู้เล่นอยู่ในตำแหน่งใด เพลย์สเตชันอายรุ่นใหม่นี้จะติดตั้งไมโครโฟนมาถึง 4 ตัว เพื่อตรวจจับเสียง และทำให้รู้ถึงแหล่งกำเนิดเสียง นอกจากนั้นผู้ใช้ยังสามารถล็อคอินเพลย์สเตชัน 4 ได้ผ่านฟังก์ชัน face recognition ตรวจจับจดจำใบหน้า และสามารถสั่งการเล่นเกมผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือใช้เสียงในการสั่งการได้ เพลย์สเตชันอายจะรองรับการทำงานกับเพลย์สเตชันมูฟด้วย ซึ่งจะทำให้การตรวจจับการเคลื่อนไหวของเพลย์สเตชั่นมูฟแม่นยำมากขึ้น เพลย์สเตชันอาย จะทำงานสัมพันธ์กับช่องเรืองแสงบนจอยดูอัลช็อก4 เพื่อเพื่อบอกว่าผู้เล่นควรยืนอยู่ในตำแหน่งไหนหากเล่นกันหลายคน
โซนี่ได้ออกมายืนยันว่าวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นวันเปิดวางจำหน่าย "เพลย์สเตชัน 4" ในอเมริกาจะมีเกมออกวางจำหน่ายพร้อมเครื่อง 22 เกม ได้แก่ Flower , Killzone Shadow Fall , Knack , Resogun , Sound Shapes , Angry Birds Star Wars , Assassin's Creed IV: Black Flag , Call of Duty: Ghosts , FIFA 14 , Battlefield 4 , Just Dance 2014 , Injustice: Gods Among Us Ultimate Edition , Lego Marvel Super Heroes , Madden NFL 25 , NBA 2K14 , Contrast , Pinball Arcade , DC Universe Online , Skylanders SWAP Force , Super Motherload , Tiny Brains และ Warframe
ในวันแรกที่เพลย์สเตชัน 4 เปิดวางจำหน่ายจะมีการอัพเดตเฟิร์มแวร์ เพื่อปลดล็อกลูกเล่นความสามารถเกือบทุกอย่างที่เคยโฆษณาเอาไว้เมื่อตอนเปิดตัว การอัพเดตดังกล่าวจะเป็นเฟิร์มแวร์เวอร์ชัน 1.50 ขนาดประมาณ 300MB โดยจะมีฟังก์ชันดาวน์โหลดในเบื้องหลังให้ผู้เล่นทำอย่างอื่นไปพร้อมกันได้ พรือถ้ายังไม่สะดวกก็อาจใส่แผ่นเข้าไปเล่นเกมอย่างเดียวแบบไม่ต้องอัพเดตอะไรเลยก็ได้เช่นกัน
ตัวอัพเดตนี้จะเพิ่มความสามารถ "รีโมตเพลย์" ให้เครื่องเพลย์สเตชัน 4 ส่งสัญญานภาพไปเล่นบนเครื่องพกพาวีตาได้เป็นบางเกม พร้อมด้วยการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ระบบ iOS หรือแอนดรอยด์ที่ลงแอพพลิเคชันเพลย์สเตชันเอาไว้แล้วใช้เป็นหน้าจอพิเศษอันที่สอง ในด้านโซเชียล ผู้เล่นจะสามารถกดปุ่ม Share เพิ่ออัพโหลดภาพสกรีนช็อตหรือวีดีโอการเล่น 15 นาทีหลังสุดขึ้นอินเตอร์เน็ตได้ในทันที รวมถึงโหมดการถ่ายทอดสดเกมที่ตนเองกำลังเล่นอยู่และการเข้าไป "สังเกตการณ์" ดูวีดีโอการเล่นของคนอื่นผ่านเครื่องเพลย์สเตชัน 4 หรือแอพพลิเคชันสมาร์ทโฟนด้วย
ลูกเล่นอื่นที่มาพร้อมกันในตัวอัพเดตจะมีทั้งการเล่นเกมที่กำลังดาวน์โหลดอยู่แบบไม่ต้องรอให้เสร็จทั้งหมดก่อน การล็อกอินพร้อมกัน 4 ไอดีเพื่อเล่นเกมแบบหลายคน การคุยเสียงขณะเล่นเกมสูงสุดถึง 8 คน ระบบจำหน้าผู้ใช้ผ่านกล้องและการสั่งงานด้วยเสียง บริการฟังเพลงขณะทำกิจกรรมอื่นบนเครื่อง การเล่นแผ่นภาพยนตร์ดีวีดี-บลูเรย์ และที่สำคัญที่สุดคือการเล่นเกมออนไลน์สำหรับสมาชิกเพลย์สเตชันพลัสที่ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่ม
ที่มา: manager.co.th