Author Topic: วิถี 'ซัมซุง' สร้างระบบปิดยึดโลกดิจิตอล  (Read 772 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


Galaxy NX

ไม่เพียงแอปเปิล แบรนด์ดังในสหรัฐอเมริกา ที่สร้างสินค้าตระกูลไอ ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ไอแพด ไอพอด หรือ แมคบุ๊ก รวมไปถึงแอปเปิลทีวี พร้อมทั้งความพยายามสร้างระบบปิด เชื่อมต่อ โยงใย การใช้งานเพื่อตอบสนองผู้บริโภคให้ใช้ชีวิต ใช้ไลฟ์สไตล์ผูกพันกับสินค้าและบริการของตนเองเท่านั้น
       
       แต่ในเอเชีย ซัมซุงก็กำลังย่ำลงบนรอยเท้าที่แอปเปิลเดิน ด้วยความพยายามผสมผสานกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในทุกความต้องการด้วยความที่ซัมซุงมีสินค้าในมือหลากหลาย ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ผลิตชิ้นส่วนสินค้าไอที ตลอดจนออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูปด้านไอที ด้านสื่อสารโทรคมนาคม อุปกรณ์ให้ความบันเทิง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน ไปจนถึงเครื่องมือแพทย์
       
       นายวิชัย พรพระตั้ง รองประธานธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าวถึงแนวทางการทำตลาดผลิตภัณฑ์ของซัมซุงในช่วงครึ่งปีหลังว่า จะเน้นการคืนกำไรให้แก่ลูกค้าที่เสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์ไป โดยเน้นให้พนักงานคิดว่าลูกค้าที่เสียเงินซื้อสินค้าอย่าง Galaxy S4 ที่ราคา 21,900 บาท ก็เหมือนซัมซุงติดหนี้ลูกค้ารายนั้นเท่าจำนวนเงินที่ซื้อสินค้าของซัมซุงไป จำเป็นต้องให้ลูกค้าได้ใช้งานให้คุ้มค่ามากที่สุด
       
       'ซัมซุงเป็นหนี้ลูกค้าที่เสียเงินซื้อสินค้าไป เราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้งาน สามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งการให้ความรู้ในการใช้งาน การเฟ้นหาคอนเทนต์ บริการ และสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่มาช่วยอำนวยความสะดวก หรือเพิ่มมูลค่าให้แก่การใช้ชีวิตของคนไทย'
       
       เป้าหมายหลักในตอนนี้ของซัมซุง ที่ขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ คงหนีไม่พ้นการที่ต้องรับผิดชอบคนไทยทั้งประเทศ ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ในทุกกลุ่มอาชีพทั้งคนเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งเมื่อมีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาก็ต้องหาทางทำตลาดเพื่อให้ลูกค้าสามารถนำสินค้าเหล่านั้นไปใช้งานได้จริง
       
       'ซัมซุงไม่ได้ทำงานกับเทคโนโลยี แต่ทำงานร่วมกับลูกค้าที่ใช้งาน ดังนั้นมายด์เซ็ตของคนซัมซุงคือ การออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองกับคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เลือกทำตลาดเฉพาะกลุ่มเพื่อให้แบรนด์ดูดีเพียงอย่างเดียว'
       
       สิ่งที่จับต้องได้จากแนวคิดดังกล่าวคือแอปพลิเคชันอย่าง Galaxy Gift ที่ซัมซุงถือเป็นของขวัญให้แก่ผู้ใช้งาน ซึ่งปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดไปใช้งานมากกว่า 6 แสนครั้ง ทั้งการให้ลูกค้าได้สิทธิพิเศษอย่างการรับชมภาพยนตร์ฟรี ส่วนลดค่าตั๋ว ส่วนลดค่าอาหาร ขนม และบริการต่างๆ ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
       
       'Galaxy Gift มีให้ลูกค้าซัมซุงใช้งานเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งในจุดนี้ต้องยอมรับว่าเรานำหน้าประเทศอื่นไปค่อนข้างเยอะ โดยมีแนวคิดมาจากการขอบคุณลูกค้า'
       
       นอกจากนี้ก็ยังมี Galaxy Showtime ให้ผู้ใช้งานได้รับชมภาพยนตร์ ซีรีส์ ช่องทีวีสดๆผ่านสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต หรือแม้แต่กระทั่ง Galaxy Kids ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มีคอนเทนต์สำหรับเด็กๆโดยเฉพาะ ซึ่งยืนยันได้ถึงความมีประสิทธิภาพ เพราะซัมซุงได้มีการทำงานร่วมกับทางกระทรวงศึกษาธิการอย่างใกล้ชิด
       
       แนวทางการทำตลาดดังกล่าวส่งผลให้ในท้ายที่สุดแล้ว ซัมซุงสามารถขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ระดับล่างอย่างรุ่น Hero ไปจนถึง Galaxy S4 เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ที่ซัมซุงกำลังไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดโทรศัพท์มือถือในหลายประเทศ และจากจุดนี้เองทำให้เริ่มมีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อนำจุดแข็งมาช่วยสร้างแบรนด์
       
       ***พร้อมปรับโครงสร้างองค์กร
       
       ในต่างประเทศซัมซุงได้เริ่มมีการปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการนำหน่วยธุรกิจไอที เข้ามารวมกับธุรกิจโทรคมนาคม เนื่องจากรายได้หลักของซัมซุงในตอนนี้ส่วนใหญ่มาจากการขายสมาร์ทโฟน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแนวทางการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในช่วงหลังๆ จะมีการผสมผสานรูปแบบการใช้งานของสมาร์ทโฟน เข้าไปรวมกับผลิตภัณฑ์อย่างโน้ตบุ๊ก และกล้องมากขึ้น
       
       แม้ว่าในไทย จะยังไม่มีการรวมหน่วยธุรกิจด้านโทรคมนาคมและไอทีเข้าด้วยกัน แต่ผู้บริหารซัมซุงเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ในการวางแผนทำตลาดทุกหน่วยธุรกิจมีการคุยกันภายในบ้านอยู่ตลอดเวลา เพราะท้ายที่สุดแล้วก็คือบ้านหลังเดียวกัน ทำเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานให้แก่ผู้บริโภคเหมือนกัน
       
       นายบุญเลิศ วิบูลย์เกียรติ รองประธานธุรกิจไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าวเสริมว่า ในฝั่งธุรกิจไอที ซัมซุงเพิ่งเริ่มมีการรีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่ใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 ให้ใช้ชื่อซีรีส์เดียวกับสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน 8 อย่าง ATIV เป็นชื่อหลัก ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะรวมทั้งผลิตภัณฑ์ของโน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนที่ทำงานภายใต้วินโดวส์โฟน 8 ด้วย
       
       'ตอนนี้ในไทยเริ่มมีการวางตลาดโน้ตบุ๊กที่ใช้ชื่อรุ่น ATIV และตามด้วยตัวเลขรุ่นแล้วอย่าง ATIV Book 5 และต่อไปในช่วงปลายไตรมาส 3 ก็จะมีผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งเปิดตัวที่งาน Samsung Premiere 2013 ที่ประเทศอังกฤษ อย่าง ATIV Q ATIV Tab 3 ATIV Book 9 ATIV One 5 เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย'
       
       จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของผลิตภัณฑ์ในซีรีส์ ATIV ทุกรุ่นคือความสามารถในการเชื่อมต่อกับแอนดรอยด์โฟนตระกูล Galaxy ของซัมซุง ผ่านฟีเจอร์ที่เรียกว่า SideSync ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุม และสั่งงานสมาร์ทโฟนเมื่อเชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์ในตระกูล ATIV ผ่านสายยูเอสบี โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสที่ตัวเครื่องแต่อย่างใด
       
       ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์กล้องก็จะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นจากกล้องที่มีระบบเชื่อมต่อ กับ Wi-Fi ที่ปัจจุบันสามารถใช้งานคู่กับสมาร์ทโฟนในการส่งภาพเพื่อมาปรับแต่งเพิ่มเติมก่อนอัปโหลดไปยังเครือข่ายสังคม หรือใช้สมาร์ทโฟนในการควบคุมชัตเตอร์ถ่ายภาพแบบเรียลไทม์
       
       ยังไม่นับรวมกับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปในงานเดียวกันอย่าง Galaxy NX และ Galaxy S4 Zoom ที่ผสานความสามารถของกล้องเข้ากับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์พร้อมความสามารถใส่การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่าย 3G หรือ 4G ในอนาคต
       
       ขณะเดียวกันในกลุ่มของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างตู้เย็น โทรทัศน์ ทางซัมซุงก็เริ่มที่จะผสานความสามารถของสมาร์ทโฟนเข้าไปร่วมด้วย เช่นการสั่งควบคุมตู้เย็น ซึ่งเริ่มแสดงสินค้ามาตั้งแต่งาน CES 2013 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หรือจะเป็น ในกลุ่มสมาร์ททีวี ที่เครื่องสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆสามารถส่งคอนเทนต์ผ่านระบบเครือข่ายภายใน บ้านออกไปยังหน้าจอโทรทัศน์ได้ทันที ยังไม่นับรวมกับระบบ HomeSync ที่สามารถตั้งให้เครื่องพีซีหรือโน้ตบุ๊กกลายเป็นคลาวด์สำหรับเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติ เพื่อเรียกใช้งานผ่านคลาวด์ได้ทุกที่ทุกเวลา
       
       จึงไม่แปลกใจที่ต่อไปนี้จะได้เห็นชอปของซัมซุงมีการนำสินค้าทั้ง โทรทัศน์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต กล้อง และสมาร์ทโฟน มาแสดงให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้งานจริง ว่าสินค้าทุกตัวสามารถใช้งานร่วมกันได้ทั้งหมด ผ่านฟีเจอร์ต่างๆอย่าง HomeSync หรือ SideSync เป็นต้น
       
       ***ยังไม่ถึงเวลา 4G
       
       นายวิชัย ให้ข้อมูลถึงการที่ไทยซัมซุง ยังไม่นำสมาร์ทโฟนโมเดลที่รองรับการใช้งาน 4G เข้ามาในตลาดเนื่องจากมองว่าปัจจุบันยังไม่ถึงเวลาที่เทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้งานได้จริง ซึ่งถ้านำเข้ามาก็จะตอบสนองได้แค่คนกลุ่มน้อยๆเท่านั้น จึงขัดกับเป้าหมายหลักของซัมซุง ที่จะนำเทคโนโลยีให้เข้าถึงคนไทยทั้งประเทศ
       
       แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อมีการให้บริการ 4G ครอบคลุมมากกว่านี้ หรือมีความชัดเจนในการประมูลคลื่นความถี่ที่เป็นมาตรฐานในการใช้งาน 4G ในประเทศไทย ทางไทยซัมซุง ก็พร้อมที่จะนำผลิตภัณฑ์รุ่นที่รองรับการใช้งานเข้ามาทำตลาดในทันที เพราะมีวางจำหน่ายในบางประเทศอยู่แล้ว
       
       'สิ่งที่ต้องจับตาดูตอนนี้คือความเคลื่อนไหวของซัปพลายเออร์จีน ที่เชื่อว่าจะกลายเป็นผู้กำหนดมาตรฐานความถี่ของ 4G เพราะถ้าเหล่าผู้ผลิตในจีนผลิตทั้งโครงข่าย และดีไวซ์ที่รองรับการใช้งานออกมาปริมาณมาก ตลาดทั่วโลกก็จะโน้มเอียงไปใช้งานความถี่ดังกล่าว'
       
       ซึ่งท้ายที่สุดก็ยอมรับว่า 4G เป็นเทคโนโลยีที่ต้องเข้ามาเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เพราะจะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงโอกาสอีกหลากหลายที่ยังเห็นไม่ชัดเจนใน ปัจจุบันทำให้ต้องเน้นไปที่ความเหมาะสมกับการใช้งานของคนไทยมากกว่า รวมถึงรูปแบบการนำเสนอก็จะไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ที่รองรับ แต่ต้องมองด้วยว่าผู้บริโภคใช้แล้วจะได้อะไร

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)