วิเชียร เมฆตระการ (คนกลาง) และทีมผู้บริหาร ทดลองบริการ AIS mPAY Rabbit ในการจ่ายค่าบริการทางด่วน ที่เป็นบริการที่ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่าง 3G ใหม่ ความถี่ 2.1 GHz กับ 3G เดิม เอไอเอสพร้อมทำธุรกิจ 4G ร่วมกับทีโอที เผยที่ผ่านมามีการคิดโมเดลมาตลอดแต่หาทางออกไม่ได้ จนเมื่อ กสทช.ชี้ว่าสัญญาบริการมือถือรูปแบบใหม่ระหว่างกลุ่มทรูกับกสทถูกกฎหมาย ก็สามารถเดินตามแนวทางนี้ได้เช่นกัน ส่วน 3G ความถี่ 2.1 GHz เริ่มให้บริการกับลูกค้า 200,000 เลขหมาย คาดสิ้นปีมีลูกค้ากว่า 10 ล้านรายบนเครือข่ายใหม่ พร้อมจับมือบีทีเอส และแรบบิตการ์ทดลองให้บริการ NFC เป็นที่แรกในเอเชียแปซิฟิก นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เอไอเอสพร้อมเสมอในการเปิดให้บริการ 4G โดยการดำเนินการดังกล่าวนั้นมีอยู่หลายแนวทางไม่ว่าจะเป็นการที่ กสทช.เรียกคืนคลื่นความถี่ 1800 MHz แล้วจัดประมูลใหม่ซึ่งเอไอเอสก็พร้อมที่จะเข้าประมูล หรือการที่เอไอเอสจะเข้าไปคุยกับทีโอทีในการให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 2.3 GHz ก็มีทางเป็นไปได้เช่นกัน โดยทั้งหมดถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่หากทำได้เอไอเอสก็ควรจะทำ
“ในเมื่อแนวทางการทำธุรกิจแบบทรู และ กสท สามารถทำได้ เอไอเอสก็พร้อมที่จะทำโดยที่ผ่านมาเอไอเอสมีแผนที่จะทำธุรกิจเพิ่มเติมกับทีโอที แต่อยู่ในระหว่างการคิดโมเดลการทำธุรกิจในลักษณะนี้มานานแล้ว แต่ยังหาแนวทางไม่ได้จนเมื่อ กสทช.ตัดสินการดำเนินธุรกิจของ บีเอฟเคที (ประเทศไทย) ว่าไม่เข้าข่ายขัดกฎหมายมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ทำให้เอไอเอสมีทางออกในเรื่องนี้”
ขณะนี้เอไอเอสเริ่มเปิดให้บริการ 3G บนความถี่ 2.1GHz เชิงพาณิชย์แบบวงจำกัด (คอมเมอร์เชียล ซอฟต์ลอนช์) กับลูกค้าประมาณ 200,000 เลขหมาย โดยคัดเลือกจากลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการ มีเครื่องโทรศัพท์พร้อมด้วยซิมการ์ดที่รองรับ 3G ความถี่ 2.1GHz ให้ได้เริ่มใช้บริการเบื้องต้น ก่อนที่จะเปิดให้บริการในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งการให้บริการดังกล่าวเป็นการใช้เวลาในการติดตั้งเครือข่ายเพียง 4 เดือน มีเครือข่ายให้ลูกค้าได้ใช้บริการในหัวเมือง 18 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ภูเก็ต สงขลา ชลบุรี ระยอง อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี โดยมีสถานีฐานที่พร้อมให้บริการในขณะนี้ทั้งสิ้น 3,600 สถานีฐาน
นายวิเชียรกล่าวว่า เอไอเอสคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ เอไอเอสจะสามารถเปิดให้บริการ 3G ความถี่ 2.1GHz ได้ทั้งสิ้นจำนวน 3,800 สถานีฐาน และจะสามารถติดตั้งได้ 9,000 สถานีฐานภายในสิ้นปี ซึ่งจะสามารถให้บริการได้ครบทั้ง 77 จังหวัด โดยการลงทุน 3G ความถี่ 2.1 GHz นั้น เอไอเอสตั้งงบประมาณไว้ที่ 70,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี ซึ่งจะสามารถติดตั้งสถานีฐานได้ทั้งสิ้น 20,000 สถานีฐาน
“เอไอเอสได้ทำการยื่นขอเลขหมายใหม่สำหรับ 3G ความถี่ 2.1GHz ไปทั้งสิ้น 14 ล้านเบอร์และได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว สำหรับลูกค้าที่ได้ทดลองใช้ในขณะนี้จะเป็นแพกเกจราคาเดิม ส่วนหลังจากเปิดให้บริการแล้วคาดว่าจะมีรูปแบบของการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นในราคาใกล้เคียงกัน โดยเอไอเอสคาดว่าการเปิดให้บริการ 3G ความถี่ 2.1GHz จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 10 ล้านราย ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมที่ย้ายมาสู่เครือข่ายใหม่”
การเปิดให้บริการ 3G ความถี่ 2.1GHz ของเอไอเอสนั้น นอกจากจะสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรอย่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด ผู้ให้บริการระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ “แรบบิท” ในการร่วมพัฒนาบริการการชำระเงินผ่านเทคโนโลยี NFC โดยลูกค้าสามารถนำโทรศัพท์มือถือรุ่นที่รองรับเทคโนโลยีนี้ในระบบ AIS 3G ใหม่ ไปชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ รวมถึงใช้ในการซื้อของ ร้านค้าที่ร่วมให้บริการ อาทิ ร้านแมคโดนัลด์
โดยนวัตกรรมใหม่นี้จะไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในรูปแบบของบัตรอีกต่อไป แต่จะมาในรูปแบบของซิมการ์ดบนเอไอเอส 3G และถือเป็นครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิกที่จะได้ใช้นวัตกรรมนี้ นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถเติมเงินและตรวจสอบวงเงินคงเหลือได้อย่างง่ายดาย และเรียกดูรายการเงินเข้าออกได้ตลอดเวลา โดยบริการ AIS mPAY Rabbit ได้เริ่มให้กับลูกค้าที่มีความสนใจทดลองใช้บริการ ก่อนที่จะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 3 ของปีนี้
ที่มา: manager.co.th