Author Topic: กสทช. เตือน 'กิตติศักดิ์' ซีอีโอ กสท. ยื้อความถี่ 1800 MHz ระวังติดคุกหัวโต  (Read 1059 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


กสทช. ขู่โทษพฤติกรรมยื้อคลื่น 1800 MHz


'สุทธิพล' กสทช.ด้านกฎหมายโทรคมนาคม

   'สุทธิพล' กสทช.ด้านกฎหมายโทรคมนาคม ย้ำกฎหมายระบุชัดคลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ หมดสัมปทานต้องเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ชี้ไม่ควรจับผู้บริโภคเป็นตัวประกัน แนะอย่าดึงรัฐบาลทำผิดกฎหมาย ยืนยันต้องเดินหน้าเอาคลื่นความถี่คืนเพื่อชาติให้ได้
       
       นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า จากกรณีที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคมได้แสดงท่าทีว่าจะยื้อหรือไม่ยอมคืนคลื่น 1800 MHz ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในช่วงปลายปีนี้ มาให้ กสทช. ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้น ในเบื้องต้น กสทช.จะขอความร่วมมือดีๆก่อน แต่ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็จำเป็นต้องใช้ทุกมาตรการเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด
       
       ทั้งมาตรการทางปกครอง มาตรการทางแพ่ง และอาญา ซึ่งกรณีที่มีการฝ่าฝืนใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งๆที่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้วว่าหมดสิทธิ์ใช้ แต่หากยังมีการดื้อดึงฝ่าฝืนไปใช้คลื่นหรือไปสนับสนุนให้มีการลงทุนหรือหาลูกค้าเพิ่ม ก็เท่ากับว่ามีเจตนาจะกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน
       
       ดังนั้นจึงขอเตือนว่าผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจะต้องรับความเสี่ยงต่อบทกำหนดโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 10 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ามีการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระก็ต้องเรียงกระทงลงโทษ ส่งผลให้มีโทษมากขึ้น นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบอัตราโทษสูงถึงจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       'ผลที่ได้รับคืออาจติดคุกหัวโต ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการขู่ แต่เป็นบทลงโทษทางกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน ในส่วนบทบาทของ กสทช.เอง ก็ต้องดำเนินการมิฉะนั้นจะถูกข้อหาฐานปฎิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หรือ ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ไปด้วย'

       กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ากสทได้รับประโยชน์ตามบทเฉพาะกาล มิฉะนั้นจะมีบทเฉพาะกาลไว้เพื่ออะไร ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าบทเฉพาะกาล มาตรา 82-84 ของพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯปี 2553 นั้น ให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ได้รับประโยชน์ตามกฎหมายเดิมไม่ให้หายไปพร้อมกับพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี 2543 ที่ถูกยกเลิกไป ทั้งนี้เพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่
       แต่บทเฉพาะกาลก็มิได้คุ้มครองให้สามารถใช้คลื่นได้ตลอดไป มิฉะนั้นระบบใหม่คือระบบใบอนุญาตจะไม่สามารถเริ่มเดินหน้าได้เลย ในกรณีสัญญาสัมปทานที่มีระยะเวลา บทเฉพาะกาลรับรองสิทธิจนสิ้นสุดระยะเวลาของสัมปทานเท่านั้น โดยเมื่อสัญญาสัมปทานหมดอายุ สิทธิในการใช้คลื่นนั้นๆก็หมดตามไปด้วย ข้อกฎหมายเรื่องนี้ชัดเจนมากจะไปเอานักกฎหมายกี่สำนักมาตีความ หากมองตรงไปตรงมาโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ก็ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้
       
       'ผมว่าน่าจะยอมรับความจริงกันได้แล้วว่าระบบสัมปทานให้ใช้คลื่นความถี่กำลังจะกลายเป็นอดีต หากเห็นแก่ประโยชน์ของชาติก็ไม่ควรที่จะอ้างเหตุต่างๆนานา เพื่อยื้อระบบสัมปทานให้อยู่ต่อไป เพราะถึงเวลาแล้วที่จะคืนคลื่นที่หมดสัมปทานมาให้กสทช. ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย นำไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง'
       
       นายสุทธิพล กล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ก็คือ จะมีแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการอยู่ในระบบนี้จำนวน 17 ล้านเลขหมายอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะในขณะนี้ศักยภาพในการโอนย้ายเลขหมายได้เพียงวันละ 40,000 เลขหมายเท่านั้น หากจะโอนย้ายทั้ง 17 ล้านเลขหมาย ก็จะต้องใช้เวลาถึง 425 วัน ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนที่สัญญาสัมปทานจะหมดลง หากความสามารถโอนย้ายได้ประมาณ 7 ล้านเลขหมาย คงเหลือผู้ให้บริการค้างอยู่ในระบบถึง 10 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกสทช.ที่จะต้องให้ความคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มนี้
       
       ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีกรรมการ กสทช.บางคนไปพูดว่าถึงอย่างไร ซิมก็ต้องดับ อีกทั้งยังยุยงให้ไปเร่งประมูลคลื่น 1800 MHzโดยไม่ใส่ใจผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้มองว่า กสทช.เอาตัวรอด โดยละเลยหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นจะไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ทางกฎหมาย คือ การกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดสัมปทานเพื่อมิให้บริการสาธารณะหยุดชะงัก แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่กสทช. ต้องกำหนดให้ชัดเจน ซึ่งแนวคิดในเรื่องนี้ตกผลึกแล้วและมีกฎหมายรองรับสอดคล้องกับแนวทางสากล หากภาครัฐและผู้ประกอบการร่วมมือกับ กสทช. อย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหานี้จะถูกก้าวข้ามไปโดยง่ายและสามารถนำคลื่นความถี่มาจัดสรรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเสรีอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
       
       'ส่วนกรณีที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของกสทหยิบยกประเด็นว่า กสทช.จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภานั้น ผมขอย้ำว่าที่ผ่านมา กสทช. โดยกทค.ได้ดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่เท่าที่ทราบมาในขณะนี้ไม่ปรากฎนโยบายรัฐบาลที่ไม่ให้คืนคลื่นเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน และไม่ปรากฎว่ามีนโยบายใดที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี 2553 อีกทั้งผมไม่เห็นด้วยต่อความพยายามในการไปขอมติครม. ให้ยื้อเวลาในการคืนคลื่นเพื่อใช้ประโยชน์ในคลื่น 1800 MHz ต่อไป ทั้งๆที่สัมปทานสิ้นสุดแล้ว เพราะเท่ากับเป็นการขอให้รัฐบาลทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกเช็คบิลจากภาคการเมืองและภาคประชาชน'
       
       ***ยื้อความถี่ 1800 MHz ผลประโยชน์ใครกันแน่***
       
       สำหรับกรณีความถี่ 1800 MHz นั้นกสทมีแนวทางเสนอแผนไปยังกสทช. เพื่อขออนุญาตบริหารจัดการความถี่ 1800 MHz ต่อไปโดยอ้างอิงจากบทเฉพาะกาลตามมาตรา 82, 83 และ 84 ที่ว่าด้วยการรองรับการเปลี่ยนผ่านเนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ใช้งานค้างอยู่ ในระบบ 1800 MHz ราว 17 ล้านเลขหมาย ที่ใช้งานของทรูมูฟ และดีพีซี ซึ่งการขออนุญาตใช้งานความถี่ต่อไป ในครั้งนี้จะแบ่งเป็นความถี่จำนวน 12.5 MHz ของทรูมูฟ จะขอบริหารจัดการต่อถึงปี 2568
       
       ส่วนความถี่จำนวน 12.5 MHz ของดีพีซี จะขอบริหารจัดการต่อถึงปี 2559 รวมถึงความถี่จำนวน 25 MHz ของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นหรือ ดีแทค ที่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน และจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2561 ซึ่ง กสท จะขอใช้งานต่อไปจนถึงปี 2568 เช่นเดียวกัน
       
       ในขณะที่มีความพยายามยื้อความถี่ 1800 MHz ไว้ แต่ฝ่ายบริหารกสท กลับละเลยที่จะเร่งให้มีการโอนทรัพย์สิน โครงข่ายทั้งของทรูมูฟและดีพีซี ทำให้ในการประชุมบอร์ดกสทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติกระตุ้นฝ่ายบริหารกสท ให้รีบดำเนินการเรื่องโอนทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทานบีทีโอ ที่เนิ่นนานกว่า 20 เดือนแล้วยังไม่มีความคืบหน้า โดยน.ท.สมพงษ์ โพธิเกษม กรรมการบอร์ดกสทระบุว่าที่ประชุมบอร์ดกสท.สัปดาห์ที่ผ่านมามีมติรับทราบการรายงานผลการติดตามการโอนทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ มือถือระหว่างกสท กับ บริษัท ทรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี)ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
       
       โดยสั่งการให้ฝ่ายบริหารทำหนังสือแจ้งไปยังทรูมูฟ และดีพีซี เพื่อให้ส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากกสท หรือภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้
       
       'ทรูและดีพีซีจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนหลังจากที่เรามีคำสั่งออกไป พร้อมกันนี้บอร์ดยังได้สั่งให้จัดทำแนวทางการแก้ปัญหากรณีคู่สัมปทาน ทั้ง2รายไม่ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กับกสทด้วย'
       
       บอร์ดยังมีคำสั่งให้ฝ่ายบริหารไปตรวจสอบทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทานทุกสถานีฐานว่าพื้นที่ใดส่งมอบ และไม่ส่งมอบบ้าง ซึ่งถ้าพื้นที่ใดไม่ส่งมอบก็ให้ส่งมอบโดยเร็ว และหากพบมีอุปกรณ์ใดมาเกี่ยวกับเสาสถานีฐาน ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับกสทโดยตรง กสทก็จะปลดอุปกรณ์ออกทันที
       
       'ในประเด็นดังกล่าวบอร์ดใช้เวลาในการหารือเป็นเวลานาน เนื่องจากสัญญาสัมปทานทรูมูฟ และดีพีซี เหลือเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น หากไม่จัดการให้แล้วเสร็จ กสทจะดำเนินการอย่างไร ในเมื่ออยากได้คลื่นความถี่ไว้ แต่ไม่มีอุปกรณ์โทรคมนาคมตามสัญญาสัมปทาน แล้วจะขอคลื่นคืนทำไม ซึ่งเรื่องนี้บอร์ดได้สั่งการมาเป็นเวลานานกว่า 20 เดือนแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ฝ่ายบริหารได้แต่รายงานว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับคู่สัญญามาโดยตลอดดังนั้นบอร์ดมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องสะสางให้มีความชัดเจน'
       
       ปัจจุบันทรูมูฟ ได้โอนสถานีฐานให้แล้ว 7,892 สถานีฐาน เสาอากาศ 6,951 เสา ชุมสาย 16 แห่งขณะที่ดีพีซีได้โอนสถานีฐานให้กสท 3,609 สถานีฐาน ชุมสาย 10 แห่ง แต่ทั้งนี้การโอนทรัพย์สินดังกล่าวที่กสทสั่งให้คืนนั้นเป็นเพียงการโอน เพียงเฉพาะอุปกรณ์ แต่ไม่รวมถึงการโอนโครงสร้างเสา สถานีฐาน รวมถึงพื้นที่แต่อย่างใด เนื่องจากโครงข่ายบางส่วนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ
       
       หากมองภาพรวมพฤติกรรมทั้งหมดของกสท เกี่ยวกับความถี่ 1800 MHz น่าสงสัยเป็นอย่างมากว่าทำเพื่อใครกันแน่ หากวิเคราะห์จาก 1.ต้องการใช้ความถี่ 1800 MHz ต่ออีกยาวนาน แต่เรื่องสำคัญเช่นการโอนทรัพย์สินโครงข่าย ผ่านมากว่า 20 เดือน แต่ฝ่ายบริหารกลับไม่ทำอะไร เดือดร้อนถึงระดับบอร์ดต้องออกเป็นมติเพื่อเร่งให้ทำในสิ่งที่ควรจะต้องทำก่อนหน้านี้ ซึ่งสงสัยได้ว่า หากดำเนินการอะไรให้เอกชนคู่สัญญาสัมปทานอยู่ในภาวะไม่นิ่ง หรือ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง ไม่ใช่วิสัยที่กสทต้องเร่ง 2.การอ้างข้อกฎหมาย เพื่อหวังใช้ความถี่ 1800 MHz อีกนาน หมายถึงกว่ากสทช.จะได้ความถี่ 1800 MHz มาประมูลเพื่อจัดสรรใหม่ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-4 ปี ซึ่งความถี่ 1800 MHz สามารถนำมาให้บริการ 4G ได้ ทำให้ในช่ง 3-4 ปีนี้ คู่แข่งของเอกชนบางราย ไม่สามารถประมูลความถี่ 1800 MHz เพื่อให้บริการ 4G เสริมจากใบอนุญาต 3G ความถี่ 2.1 GHz ที่มีอยู่ เพราะผู้ให้บริการที่มีความถี่อยู่ในมือจำนวนมาก ย่อมได้เปรียบคู่แข่งขันในตลาด
       
       3.การเร่งขอเลขหมายใหม่ 16.25 ล้านเลขหมายของกสท ในขณะที่สัญญาทรูมูฟที่มีลูกค้าประมาณ 17 ล้านราย จะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย. 2556 นี้ หากคิดง่ายๆ ถ้าใช้กระบวนการย้ายค่ายเบอร์เดิม หรือ นัมเบอร์พอร์ต ที่ตอนนี้ได้ราวๆ 4 หมื่นเลขหมาย ต้องใช้เวลา 425 วัน ส่วนการที่คณะอนุกรรมการนัมเบอร์พอร์ตเสนอให้มีการเพิ่มการโอนย้ายให้ได้เป็นวันละ 3-5แสนเลขหมาย ก็ต้องได้รับความร่วมมือจาก 5 โอเปอเรเตอร์ในตลาดคือทีโอที กสท เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ เพราะต้องมีการลงทุน แต่คาดว่าทีโอทีและกสท อาจไม่เห็นด้วยกับการโอนย้ายครั้งละมากๆ เพราะจะเสียผลประโยชน์จากลูกค้าในระบบสัญญาสัมปทานเดิมและไม่ยอมลงทุน
       
       โดยเฉพาะอดีตสหภาพฯทีโอที อย่างนายนราพล ปลายเนตร มีความคิดที่จะส่งหนังสือถึงกทค.เพื่อให้ยับยั้งการเร่งให้เอกชนขยายความสามารถในการโอนย้ายลูกค้าจากระบบ2Gไป3G และหากไม่ได้รับความร่วมมือก็จะยื่นฟ้องศาลปกครองเพราะหากเอกชนย้ายลูกค้าออกจากสัมปทานไปอยู่ที่บริษัทใหม่ นั่นหมายถึงส่วนแบ่งรายได้ที่ทีโอทีในฐานะหน่วยงานรัฐเคยได้รับก็จะหมดลงไปอย่างรวดเร็วถือว่าทำให้รัฐเสียหาย
       
       ในขณะที่เอไอเอสที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานทีโอที จะหมดอายุในปี 2558 ด้วยซ้ำแต่ทรูมูฟที่จะหมดสัญญาในเดือนก.ย.2556 กสทเลือกที่จะอำนวยความสะดวกให้เอกชน ทำนองถ้าเปลี่ยนค่ายไม่ทัน เพราะระบบไม่รองรับ ก็ปิดเบอร์เดิม เปิดเบอร์ใหม่ได้เลยทันใจกว่า
       
       Company Related Link :
       กสทช

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)


Related Topics

  Subject / Started by Replies Last post
0 Replies
1335 Views
Last post December 16, 2011, 03:22:56 PM
by Nick
0 Replies
876 Views
Last post December 28, 2012, 03:51:20 PM
by Nick
0 Replies
831 Views
Last post February 07, 2013, 12:08:07 AM
by Nick
0 Replies
915 Views
Last post February 11, 2013, 05:48:40 PM
by Nick
0 Replies
950 Views
Last post February 12, 2013, 09:52:49 PM
by Nick
0 Replies
909 Views
Last post May 03, 2013, 07:16:43 PM
by Nick
0 Replies
993 Views
Last post June 19, 2013, 10:22:24 AM
by Nick
0 Replies
1080 Views
Last post August 27, 2013, 06:49:36 PM
by Nick
0 Replies
1122 Views
Last post September 08, 2013, 11:58:32 AM
by Nick
0 Replies
690 Views
Last post April 20, 2023, 05:38:21 PM
by guupost