Author Topic: กสทช. ติวเข้มเอกชน วางมาตรฐาน เซ็ตท้อปบ็อกซ์-ทีวีดิจิตอล  (Read 846 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


     กสทช.หารือร่วมผู้ประกอบการวางกรอบมาตรฐานทีวีดิจิตอลและเซ็ตท้อปบ็อกซ์ ก่อนอนุญาตให้นำเข้าในช่วงไตรมาส 2 หากใครฝ่าฝืนนำเข้าตอนนี้มีโทษอาญา
       
       นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และเลขานุการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) กล่าวว่า หลังจากจัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อย เรื่องเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เมื่อวันที่ 27ก.พ.โดยสำนักงาน กสทช.ได้เชิญผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอล ทั้งกล่องรับสัญญาณ และเครื่องทีวีที่สามารถรับสัญญาณทีวีดิจิตอล จำนวนราว 200 ราย อาทิแบรนด์ โตชิบา โซนี พานาโซนิค ซัมซุง และแอลจี เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่องการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์รับสัญญาณในการเปลี่ยนผ่านระบบจากทีวีอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิตอล
       
       โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย 1.แผนงาน กสทช. ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทีวีดิจิตอล 2.สรุปหลักเกณฑ์มาตรฐานที่สมบูรณ์ของอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอล เช่น มาตรฐานอุปกรณ์รับสัญญาณต้องเป็นรุ่น DVB-T2 รุ่น
       1.2.1หรือสูงกว่า มาตรฐานกระแสไฟฟ้าของอุปกรณ์รับสัญาณ 3.ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น กิจการใดที่สามารถรับการสนับสนุนจากกองทุนฯได้ และ 4.กระบวนการนำเข้าอุปกรณ์รับสัญญาณ
       
       ส่วนขั้นตอนกระบวนการนำเข้าอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ทาง กสทช. ได้ชี้แจงกับเอกชนว่าขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของกระบวนการทดลองออกอากาศเท่านั้น จึงยังไม่อนุญาตให้นำเข้า และจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เนื่องจากหากนำมาจำหน่ายในเวลานี้จะเกิดความซ้ำซ้อนในการใช้งาน รวมไปถึงในตอนนี้ก็ยังไม่มีการแพร่ภาพทีวีดิจิตอลที่ใช้งานจริงอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
       
       'เบื้องต้นกสทช.จะเรียกผู้ประกอบการมาตรวจสอบมาตรฐาน เพื่อที่จะสามารถนำเข้าอุปกรณ์ และจัดจำหน่ายได้ในช่วงไตรมาส2 หลังจากมีการออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลในกลุ่มช่องทีวีสาธารณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากในเวลานี้กสทช.พบผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืน นำเข้า และจัดจำหน่ายก่อน จะถือว่าผิด พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม จะมีโทษทางอาญา จำคุก 5ปี และปรับ 1 แสนบาท ซึ่ง กสทช. ก็จะช่วยในการสอดส่องดูแลผู้กระทำผิดด้วยเช่นกัน'
       
       นายประเสริฐ กล่าวว่า ในการชี้แจงเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการทั้ง 200 ราย สิ่งที่ผู้ประกอบเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ มาตรฐานอุปกรณ์รับสัญญาณ เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กสทช. เองก็ได้เปลี่ยนให้เป็น DVB-T2 รุ่น 1.2.1 หรือสูงกว่า เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้ง กสทช. ยังได้เสนอความเห็นของกลุ่มผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสที่ขอให้ผู้ประกอบการดำเนินการ เช่น การเสนอให้พัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณให้มีหน่วยความจำสำหรับเรียกดูรายการย้อนหลัง มีบรรยายใต้ภาพ และมีบรรยายภาษามือ ทั้งนี้ในส่วนของ การปฎิบัติตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ประกอบการเอง
       
       ***เชื่อไทยเป็นฮับผลิตเซ็ตท้อปบ็อกซ์- ทีวีรับสัญณาณทีวีดิจิตอล
       
       นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ รองเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลาง (Hub) การผลิตเครื่องรับสัญญาณระบบทีวีดิจิตอล รวมทั้งกล่องรับสัญญาณทีวีดีจิตอล (Set Top Box) และเครื่องโทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณทีวีดิจิตอล เนื่องจากประเทศไทย มีบุคลากรที่มีฝีมือ และมีคุณภาพ ขณะที่การส่งออกเครื่องรับสัญญาณระบบทีวีดิจิตอลในปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้ โดยไม่ต้องเสียภาษี ในขณะที่ประเทศจีน จะต้องเสียภาษีนำเข้าอุปกรณ์ 10% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นข้อได้เปรียบของไทย
       
       'โชคดีที่ตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันได้เป็นอย่างดี โดยจะทำให้กล่องมีราคาที่ถูกลง เนื่องจากการผลิตที่มีจำนวนมากๆ จะทำให้อัตราต้นทุนต่อจำนวนกล่องหรือเครื่องรับทีวีดิจิตอลต่ำลง โดยปัจจุบันจำนวนประชากรในแถบอาเซียนมีอยู่ราว 100 ล้านครัวเรือน ซึ่งตามข้อตกลงตั้งแต่ปี 2009 ที่จะมีการเริ่มสวิซต์ออฟ ระบบอนาล็อก ตั้งแต่ปี 2015-2020 โดยจะทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในแถบอาเซียนเติบโตขึ้นมากทำให้ไทย สามารถเป็นฮับได้อย่างแน่นอน'
       
       แม้ในเบื้องต้นผู้ประกอบการ และผู้ผลิต ยังไม่สามารถผลิตเซ็ตท้อปบ็อกซ์และทำการตลาดได้ เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้ผลิตจะต้องทำรูปแบบ (โมเดล) เซ็ตท้อปบ็อกซ์ให้กสทช.ตรวจสอบเพื่อทำการทดสอบด้านคุณภาพและคุณสมบัติก่อนว่าจะผ่านเกณฑ์ที่กสทช. กำหนดไว้และสามารถรับส่งสัญญาณได้หรือไม่
       
       'คาดว่าจะสามารถสรุปโมเดลกล่องได้ราวเดือน พ.ค. 56 และหลังจากนั้นจะเริ่มผลิตได้ในเดือน มิ.ย.และทำการตลาดได้ราวในเดือน ส.ค.- ก.ย.56'
       
       ส่วนข้อกังวลในอุตสาหกรรมขณะนี้จะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการรายเล็ก ที่นำเข้ากล่องเซ็ตท้อปบ็อกซ์ผิดกฎหมายและไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพจากกสทช. ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้ เป็นอันตรายต่อทรัพย์สิน และครัวเรือนได้ จึงอยากให้ กสทช. กำหนดบทลงโทษบังคับตามกฏหมายอย่างจริงจังในช่วงที่ยังไม่มีการอนุญาตนำเข้า
       
       สำหรับผู้ประกอบการในปัจจุบันที่สนใจในการผลิตกล่อง และเครื่องรับทีวีดิจิตอล ได้แก่ โซนี่, PSI, IPM,อินโฟแซท, ไพโอเนีย กลุ่มสามารถ,แกรมมี่ และผู้ที่ผลิตรายการช่องทีวี เป็นต้น
       
       ทั้งนี้คาดว่าประเทศไทยจะเริ่มมีทีวีดิจิตอลใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในราวเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ หลังจากมีการออกใบอนุญาตช่องทีวีดิจิตอลประเภทช่องสาธารณะภายในเดือนพ.ค.และกสทช.อนุญาตให้มีการนำเข้า และจัดจำหน่ายกล่องเซ้ตท้อปบ็อกซ์และเครื่องรับทีวีดิจิตอลในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
       
       Company Relate Link :
       กสทช

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)