Author Topic: “กทค.” โต้กรณีแจกไลเซนส์ไทยคม  (Read 664 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


       กทค.ออกโรงโต้กรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลังออกไลเซนส์ดาวเทียมให้ไทยคมไม่ถูกกฎหมาย ก่อให้เกิดการผูกขาด ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์
       
       คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ออกมาชี้แจงจากกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่ กสทช.โดย กทค.ออกใบอนุญาต (ไลเซนส์) ประกอบกิจการดาวเทียมให้แก่บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) นั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และก่อให้เกิดการผูกขาด ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ รวมทั้งมีการตีความข้อกฎหมายเข้าข้างเอกชนนั้น
       
       กทค.จึงขอชี้แจงว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวมีการบิดเบือนไปจากความจริง อีกทั้งยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และเกิดความเข้าใจผิดจากสาธารณชนขึ้นอีกจึงต้องการออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงใน 8 ประเด็น ดังนี้
       
       ประเด็นที่ 1 กรณีที่ กสทช. โดย กทค. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทสาม ก. กับบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม (Satellite Network Operator) ที่มีอายุ 20 ปี โดยไม่ผ่านการประมูลคลื่นความถี่ ปิดโอกาสผู้ประกอบการรายใหม่ในการเข้าสู่ตลาดนั้น
       
       กทค.ขอชี้แจงว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 7 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมตามลักษณะและประเภทที่กำหนดจะต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ดังนั้นใบอนุญาตที่ กสทช. อนุมัติให้ บมจ.ไทยคมเป็นประเภทใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม มิใช่ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 จึงไม่ต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่น
       
       ประเด็นที่ 2 มีการวิพากษ์วิจารณ์โดยกล่าวอ้างว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ตีความว่า “ผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมเป็นกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่จึงไม่จำเป็นต้องเปิดประมูลตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 45 โดยให้เหตุผลว่า...เนื่องจากดาวเทียมเป็นวัตถุที่ลอยอยู่บนฟ้าเกินกว่า 100 กิโลเมตร จึงถือว่าอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของไทย แต่สิ่งที่ กสทช.ควรตอบก็คือ ตำแหน่งวงโคจรไม่ว่าจะ 120 หรือ 50.5 องศาตะวันออก เป็นสิทธิที่ประเทศไทยได้รับการจัดสรรจาก ITU หากยึดตามที่ กทค.ตีความว่าอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยก็จะไม่มีประเทศใดสามารถบังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้นๆ กำกับดูแลการให้บริการดาวเทียมของตนได้เลย
       
       กทค.ขอชี้แจงว่า โดยข้อเท็จจริงแล้วการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารมีองค์ประกอบหลัก 2 ประการ ได้แก่ 1. การมีสิทธิเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะต้องได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมภายใต้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. และ 2. จะต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารจองสิทธิในวงโคจรและย่านความถี่ (Filing) ที่จะใช้งานสำหรับดาวเทียมที่จะนำมาให้บริการ ซึ่งเอกสารดังกล่าวจะได้มาโดยผ่านกระบวนการระหว่างประเทศตามข้อกำหนดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งถือว่า วงโคจรและความถี่ในอวกาศเป็นทรัพยากรร่วมของมนุษยชาติ มิได้อยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐหนึ่งรัฐใด ตามธรรมนูญของ ITU (ITU Constitution) และกฎข้อบังคับวิทยุ ITU Radio Regulation ข้อ 0.3 (Preamble)
       
       ดังนั้น อำนาจหน้าที่ของ กสทช.จึงมีเฉพาะในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามข้อ (1) เท่านั้น ส่วนการดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารจองสิทธิในวงโคจรและย่านความถี่ (Filing) ตามข้อ (2) นั้นจะต้องดำเนินการโดยกระบวนการระหว่างประเทศตามข้อกำหนด ITU
       
       ประเด็นที่ 3 มีการตั้งข้อสังเกตว่า...ในประเทศที่ดาวเทียมแต่ละดวงใช้คลื่นความถี่ไม่เหมือนกัน เช่น C-Band, KU-Band หากให้ผู้ใช้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นผู้ประมูลคลื่นความถี่ แปลว่าทุกรายต้องประมูลคลื่น “ทุกชนิด” เพื่อให้บริการผ่านช่องสัญญาณความถี่ดาวเทียมที่ต่างกันทั้งหมด ซึ่งไม่สมเหตุสมผล และคลื่นความถี่มาตรฐานอย่าง C-Band, KU-Band ผู้ประกอบการหลายรายสามารถใช้งานในย่านเดียวกันและเวลาเดียวกันได้อย่างไม่จำกัด (ต่างจากตำแหน่งวงโคจรที่มีจำกัด) การที่ให้ผู้ให้บริการสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินที่ต้องประมูลคลื่นจะเป็นการจำกัดการแข่งขันในตลาดโดยไม่จำเป็น
       
       กทค.ขอชี้แจงว่า ผู้ประกอบกิจการที่ภาคพื้นดินซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการสถานีภาคพื้นดินต่างๆ เช่น สถานี Up Link Down Link (ตัวอย่าง TOT, CAT) โดยผู้ประกอบกิจการสถานีภาคพื้นดินดังกล่าวเป็นผู้ใช้ความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นผู้ใช้ความถี่ในการรับ-ส่งสัญญาณภายใต้ราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องจัดสรรโดยวิธีการประมูลเท่านั้น ตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่ง กสทช.จะต้องดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการประมูลสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ที่ภาคพื้นดินให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป
       
       ประเด็นที่ 4 มีการกล่าวอ้างถึงความผิดปกติในการให้ใบอนุญาต โดยหยิบยกเอา พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 45 ที่กำหนดว่าการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด.... แต่การอนุมัติใบอนุญาตให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ของ กทค. กลับมีขึ้นในขณะที่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมยังอยู่ในขั้นตอนการร่างเท่านั้น โดยที่ “เงื่อนไขสำคัญ” ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว คือประเด็นเรื่องใครควรเป็นคนประมูลคลื่นความถี่ ยังไม่ได้ข้อยุติ
       
       กทค.ขอชี้แจงว่า กรณีที่ กสทช.ออกใบอนุญาตให้แก่ไทยคม เป็นการอนุญาตประกอบกิจการประเภทสาม (มิใช่ประเภทสาม ก.) ซึ่งมีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ปรากฏอยู่แล้ว และ กสทช.มีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขเฉพาะเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมแต่ละประเภท (ประเภทหนึ่ง ประเภทสอง หรือ ประเภทสาม)
       
       ประเด็นที่ 5 ที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2554 เห็นชอบให้รักษาวงโคจร 120 องศาตะวันออก ภายหลังดาวเทียมไทยคม 1 ปลดระวางไปตั้งแต่เดือน ม.ค. 2554 ขณะที่บริษัทไทยคมได้ลากดาวเทียมเอเชียแซต 6 ของฮ่องกงเข้ามาในตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวแล้ว ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิวงโคจรดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องคืนให้แก่ ITU แล้วเหตุใด กทค.จึงต้องเร่งรัดอนุมัติใบอนุญาตให้แก่บริษัทไทยคม
       
       กทค.ขอชี้แจงว่า การรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียม (Filing) ดังกล่าวนั้น โดยไทยคมจะดำเนินการรักษาสิทธิโดยการนำดาวเทียมมาวางไว้ ณ วงโคจรเป็นการชั่วคราว (ในที่นี้หมายถึงวงโคจร 120 องศาตะวันออก) เพื่อให้เป็นตามข้อกำหนด ITU ซึ่งจะต้องนำดาวเทียมอีกดวงหนึ่งขึ้นให้บริการภายในระยะเวลา 2 ปี
       
       ขณะเดียวกัน ไทยคมได้ดำเนินการภายใต้มติ ครม.ที่อนุมัติให้ไทยคมดำเนินการรักษาสิทธิวงโคจรและจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นตามข้อกำหนด ITU ซึ่งหาก กสทช.ไม่ดำเนินการอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ บมจ.ไทยคม จะส่งผลทำให้ไทยคมไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และหากกรณีไม่มีดาวเทียมขึ้นให้บริการภายใน 2 ปี (ตามหลัก ITU) ประเทศไทยก็จะเสียสิทธิวงโคจรดาวเทียม (Filing) ที่ได้รักษาไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศ
       
       ประเด็นที่ 6 ที่มีการกล่าวอ้างว่า เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่อาจจะกีดกันการแข่งขันในกิจการดาวเทียม เนื่องจากใบอนุญาตที่ กสทช.ให้แก่ไทยคมที่มีอายุ 20 ปี ได้กำหนดเงื่อนไขว่า...บริษัทไทยคมสามารถขอต่ออายุใบอนุญาตได้อีก 10 ปี ทั้งที่ควรกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องคืนตำแหน่งวงโคจรกลับมาจัดสรรใหม่ เพื่อการใช้ประโยชน์ตำแหน่งวงโคจรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
       
       กทค.ขอชี้แจงว่า มีการเข้าใจผิดในสาระสำคัญอย่างยิ่ง โดยข้อเท็จจริงภายใต้เงื่อนไขการออกใบอนุญาตระบุไว้ว่า หากผู้ประกอบการประสงค์จะขยายระยะเวลาการอนุญาตจะต้องดำเนินการยื่นคำขออนุญาตก่อนใบอนุญาตหมดอายุไม่เกิน 10 ปี และไม่ช้ากว่า 30 วัน ซึ่งระยะเวลา 10 ปีนั้นเป็นระยะเวลาที่เพียงพอในการที่ผู้ประกอบการประสงค์จะสร้างดาวเทียมขึ้นให้บริการต่อไป
       
       ประเด็นที่ 7 ที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า เงื่อนไขว่า...ให้บริษัทไทยคมส่งเอกสารจองสิทธิการใช้งานวงโคจรเพิ่มเติมที่ตำแหน่งวงโคจรใดๆ ได้ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัท ไทยคม ที่เป็นผู้ประกอบการรายเก่าในการขยายสิทธิการใช้วงโคจรที่มีอยู่อย่างจำกัด จนอาจทำให้ไม่มีวงโคจรเหลือสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่
       
       กทค.ขอชี้แจงว่า เป็นการก็เข้าใจผิดอย่างยิ่งเช่นกัน.…โดยข้อเท็จจริง ITU มิได้มีการจำกัดจำนวนสิทธิวงโคจรดาวเทียมที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะจองสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้น การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดเพื่อผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารทุกรายที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตจาก กสทช.ก็สามารถที่จะส่งเอกสารจองสิทธิการใช้งานวงโคจร (Filing) ที่วงโคจรใดๆ ก็ได้เช่นกัน มิใช่เป็นการอนุญาตหรือให้สิทธิเป็นการเฉพาะแก่ บมจ.ไทยคม
       
       ประเด็นที่ 8 มีการตั้งคำถามมายัง กสทช.ว่า ควรให้คำตอบแก่สาธารณชนถึงเบื้องหลังการตัดสินใจเชิงนโยบายและการดำเนินการต่างๆ ทั้งการตีความว่า...การให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมเป็นกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ความผิดปกติในการอนุมัติใบอนุญาตให้กับบริษัทไทยคมอย่างเร่งรัด และเป็นไปแบบ “เหนือเมฆ” มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางรายผูกขาดกิจการดาวเทียมนั้น
       
       อย่างไรก็ดี การชี้แจงประเด็นต่างๆ ในข้างต้นของ กทค.นั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กสทช. โดย กทค.ได้พิจารณาออกใบอนุญาตดาวเทียมสื่อสารตามข้อกำหนดของกฎหมายและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ รวมทั้งเป็นข้อกำหนดที่เอื้อให้เกิดผู้ประกอบการดาวเทียมรายใหม่ได้ต่อไปในอนาคต
       
       Company Relate Link :
       กสทช.

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)