Author Topic: อดชมยูโรผ่านฟรีทีวีดาวเทียม ศาลแพ่งไม่คุ้มครองฉุกเฉิน หวั่น GMM ผิดสัญญายูฟ่า  (Read 1005 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


ศาลแพ่งยกคำร้องขอไต่สวนเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉินให้ปล่อยสัญญาณถ่ายทอดฟุตบอลยูโรผ่านทีวีดาวเทียม ยกเหตุประชาชนส่วนใหญ่รับชมการถ่ายทอดระบบภาคพื้นดินและเสาอากาศได้อยู่แล้ว และจีเอ็มเอ็มแซทได้ลิขสิทธิ์จากยูฟ่าโดยถูกต้อง หากสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะส่งผลให้ยูฟ่ายกเลิกสัญญา และกระทบการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาอื่นๆ ในอนาคต
       
       เมื่อเวลา 15.45 น.วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 310 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว คดีที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นผู้บริโภคโทรทัศน์ระบบฟรีทีวี ระบบเคเบิล ระบบดาวเทียม และกล่องจีเอ็มเอ็มแซท เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท บีอีซี-เทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของทีวีสีช่อง 3), กองทัพบก เจ้าของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เจ้าของโมเดิร์นไนน์ทีวี และบริษัท จีเอ็มเอ็ม จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ เรื่องละเมิดและผิดสัญญา และขอคุ้มครองฉุกเฉินให้มีการแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 (ฟุตบอลยูโร) ทันทีจนกว่าจะหมดรายการ
       
       โดยศาลพิเคราะห์แล้ว มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุฉุกเฉินที่ศาลจะต้องมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้ง 4 แพร่ภาพและกระจายเสียงรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ผ่านระบบการส่งภาคพื้นดิน ผ่านระบบจานรับสัญญาณดาวเทียม ผ่านระบบอื่นใด หรือการใด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับชมรายการผ่านการรับสัญญาณทุกประเภทตามที่เคยปฎิบัติก่อนการแข่งขันฟุตบอลจะสิ้นสุดในวันที่ 2 กรกฎาคม 2555
       
       ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในกรณีพิจารณากำหนดวิธีการชั่วคราวระหว่างพิจารณาในคดีผู้บริโภคนั้น นอกจากศาลจะต้องพิจารณาประโยชน์ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังต้องพิจารณาประโยชน์และความเสียหายของผู้บริโภคอื่นหรือผลกระทบต่อส่วนรวมโดยรอบด้านด้วย ดังนั้นในการพิจารณาหรือมีคำสั่งใดๆ ของศาล จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และสิทธิของผู้บริโภคทั่วไปซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวมฝ่ายหนึ่งกับประโยชน์และสิทธิของปัจเจกชนในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์อันมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการจำหน่าย จ่ายโอน หรือหวงกันสิทธิของตน อีกฝ่ายหนึ่ง
       
       โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 47 บัญญัติว่า “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” จำเลยที่ 1 เป็นเอกชนที่ได้เข้าทำสัญญาสัมปทานกับรัฐเพื่อจัดทำบริการสื่อสาธารณะ ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 เป็นหน่วยงานของรัฐที่ประกอบกิจการบริการสื่อสาธารณะอันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ ย่อมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม ดังนั้น ในการประกอบกิจการรวมถึงการทำสัญญาซื้อสิทธิหรือให้เช่าเวลาออกอากาศจากเอกชน ซึ่งรวมถึงการถ่ายทอดรายการฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 ระหว่างจำเลยที่ 1-3 กับจำเลยที่ 4 ก็ย่อมต้องกระทำโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนในการเข้าถึงสื่อสาธารณะ แม้จำเลยที่ 1-3 จะมีอำนาจในการแสวงหาประโยชน์โดยชอบจากการได้รับสัมปทานหรือการจัดการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ดังกล่าว แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่กระทบสาระสำคัญของหลักการใช้ทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
       
       ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1-3 ทราบดีอยู่แล้วว่าการที่จำเลยที่ 4 ขอเช่าเวลาของทางสถานีเพื่อถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 นั้น เป็นรายการที่มีเนื้อหาอันมีลิขสิทธิ์จากสมาพันธ์ยุโรปและมีเงื่อนไขในการเข้ารหัสเพื่อป้องกันมิให้สัญญาณรั่วไหลออกนอกประเทศ อันจะส่งผลให้ผู้ชมจำนวนหนึ่งที่รับชมทีวีโดยรับสัญญาณภาพและเสียงผ่านจานหรือกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่ไม่มีรหัส ไม่อาจรับชมรายการฟุตบอลผ่านช่องฟรีทีวีของจำเลยที่ 1-3 ได้ ซึ่งเป็นการกระทบสิทธิของผู้ชมดังกล่าวในการเข้าถึงสื่อสาธารณะของรัฐ ทั้งการถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 ครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนผังรายการปกติเดิมของช่องสถานี จำเลยที่ 1-3 น่าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบเหมาะสมว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นแก่ผู้ชมมากน้อยเพียงใด แม้ปัจจุบันคระกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติจะยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการขอเปลี่ยนผังรายการ ตาม ม.34 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แต่ในฐานะผู้บริหารจัดการสื่อสาธารณะของรัฐและผู้ประกอบธุรกิจที่มีจริยธรรมที่ดีย่อมต้องใช้ดุลพินิจของตนพิจารณาความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงผังรายการได้เองโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรสื่อสารของชาติและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของตนเป็นสำคัญ ยิงกว่าประโยชน์ในทางธุรกิจ
       
       อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสิทธิของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเอกชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 43 บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการหรืออาชีพโดยการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับรองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินไว้ ดังนั้น การใช้อำนาจของรัฐทุกองค์กรซึ่งรวมถึงศาลก็ย่อมต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นปัจเจกบุคคลในส่วนนี้เช่นกัน การที่ศาลหรือองค์กรของรัฐจะใช้อำนาจหรือออกคำสั่งใดๆ เพื่อล่วงล้ำแดนสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องกระทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
       
       เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังสามารถได้รับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวจากทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 ได้โดยผ่านทางสายอากาศรับสัญญาณทั่วไป หรือโดยการรับช่องทางอื่น ดังเช่น ทางอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวในส่วนของจำเลยที่ 1-3 ดังที่โจทก์ทั้ง 5 ขอ ทางสมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจศาลไทยอาจใช้เป็นข้ออ้างในเรื่องสิขสิทธิ์ผ่านทางจำเลยที่ 4 เพื่อระงับการส่งสัญญาณให้แก่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 ได้ ส่วนการระงับสัญญาณจะเป็นการกระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์สิทธิกันในภายหลังระหว่างคู่กรณี แต่กระทบที่จะเกิดขึ้นทันทีก็คือ ไม่เพียงแต่โจทก์ทั้ง 5 และผู้บริโภคที่ใช้บริการในทำนองเดียวกับโจทก์ทั้ง 5 แล้ว ยังลุกลามไปถึงผู้บริโภคอื่นทั้งประเทศที่อาจไม่ได้รับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวไปด้วย อันจะเป็นความเสียหายมากมายยิ่งกว่า นอกจากนี้ ผลกระทบยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น ก็คือความน่าเชื่อถือของประเทศที่มีต่อประชาคมโลกในเรื่องการรับรองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬารายการอื่นๆ รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในอนาคต อันยากที่จะเยียวยาแก้ไข
       
       เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของผู้บริโภคโดยรวมและความเสียหายที่จะเกิดแก่จำเลยทั้ง 4 แล้ว เห็นว่า กรณียังไม่เป็นการสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างการพิจารณามาใช้บังคับในคดีนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาของโจทก์ทั้ง 5
       
       ส่วนคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 4 เกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวในระหว่างการพิจารณา เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องนี้แล้วจึงไม่จำต้องสั่งคำร้องค้านค้านของจำเลยที่ 4 อีก ให้รอการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราวเพื่อดำเนินการตาม ม.10 พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2551
       
       ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว นายณรัช อิ่มสุขศรี เลขานุการศาลแพ่ง ได้แถลงย้ำคำสั่งของศาลแพ่งว่า ศาลแพ่งได้คำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค โจทก์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับสิทธิถ่ายทอดบอลยูโร ศาลเข้าใจว่าช่อง 3, 5 และ 9 เป็นโทรทัศน์สาธารณะ มีบทบาทต้องรับใช้สิทธิ์ของประชาชน แต่ช่อง 3, 5 และ 9 ได้ทำสัญญากับทางแกรมมี่ ถ้าหากมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว และให้ถ่ายทอดสดใน 2 ระบบ อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์และทางยูฟ่าอาจจะระงับสัญญาณได้ ทำให้ประชาชนที่ชมการถ่ายทอดสดผ่านทางเสาก้างปลาไม่ได้รับชม เมื่อพิจารณาแล้วจึงให้ความคุ้มครองคนส่วนใหญ่ แต่ศาลก็ได้เขียนในคำสั่งให้ช่อง 3, 5 และ 9 คำนึงถึงสิทธิ์ของประชาชนมากขึ้น โดยอยู่ภายใต้กฎหมายของ กสทช.
       
       เมื่อถามว่า หากศาลมีคำสั่งเช่นนี้แล้ว จะเป็นการตัดสิทธิในการใช้สิทธิฟ้องคดีของผู้บริโภคที่ซื้อเสาก้างปลา ซึ่งจะเป็นการสร้างภาระเกินความจำเป็นหรือไม่ นายณรัชกล่าวว่า มองในแง่ของผู้บริโภคแล้วก็เป็นไปได้ แต่ศาลก็คำนึงและมองถึงภาพรวมด้วยว่าจะได้ประโยชน์อย่างไร แต่ด้วยกฎหมายที่มีอยู่ถ้าคุ้มครองโจทก์ทั้ง 5 คน อาจทำให้ประชาชนคนอื่นไม่ได้รับชมถ่ายทอดสดบอลยูโรด้วย และเมื่อดูจากสัญญาแล้วถือว่าช่อง 3, 5 และ 9 ได้ทำตามสัญญากับแกรมมี่ ภาระดังกล่าวอาจจะต้องเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ในอนาคตเมื่อ กสทช.มีบทบัญญัติควบคุมช่องฟรีทีวีแล้วก็ต้องทำตาม ซึ่งคำสั่งของศาลก็แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจต้องดูแลภาระที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย
       
       ด้าน นางสารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลไม่ว่าคำสั่งของศาลจะให้คุ้มครองหรือไม่ ก็เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการเตือนผู้ประกอบการธุรกิจให้ตระหนักว่า การทำสัญญาโดยละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ยอมรับกันไม่ได้ หน่วยงานต่างๆ ของรัฐจะต้องพิจารณาเงื่อนไขของสัญญาก่อนว่าจะไม่ขัดกับสิทธิการรับรู้ของประชาชน ซึ่งในคำสั่งของศาลก็ระบุว่า ได้พิจารณาถึงภาพรวม หากมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว แต่ในส่วนของคดีก็เดินหน้าต่อไป
       
       ขณะที่ นายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการสายงาน Platform Strategy บ.จีเอ็มเอ็มแซท ซึ่งเป็นผู้ดูแลกลยุทธ์ทั่วไปของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด กล่าวว่า ในคดีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางแกรมมี่เอง ทีวีช่องต่างๆ และกสทช.ต้องตะหนักถึงปัญหาและมีการมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก อย่างในคดีนี้ก็จะเป็นปัญหาที่เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ไปกระทบกับสิทธิในการรับชมขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่จะเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อป้องกันปัญหาลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต ซึ่งก็ต้องมีการพูดคุยและตกลงในข้อสัญญากันให้มีความชัดเจน อย่างเช่นเรื่องที่ว่า การส่งสัญญาณทางดาวเทียมกับการส่งคลื่นความถี่ทางภาคพื้นดินมีความแตกต่างกันอย่างไรและอยู่ในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาด้วยหรือไม่
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่จะทำให้การถ่ายทอดสดที่มีปัญหาลิขสิทธิ์ไม่ให้หลุดไปในต่างประเทศแต่ได้ดูในฟรีทีวีทุกช่องได้หรือไม่ นายเดียวกล่าวว่า เรื่องนี้ทางแกรมมี่ก็ต้องมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีควบคู่กันไปด้วย แต่ติดปัญหาคือในทางสัญญาละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีการทำกับองค์กรต่างประเทศเสียมากกว่าที่เราต้องมีการพูดคุยกันให้เข้าใจในผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)