ออร์วานน์ โธมัสเซน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แอมด็อคส์ เอเชีย แปซิฟิก แอมด็อคส์ ชูโซลูชันใหม่ 'Connected Home' หวังร่วมมือโอเปอเรเตอร์ในไทยให้บริการ เชื่อเป็นหนทางสร้างรายได้ในอนาคต เพราะเทรนด์การใช้งานดาต้ายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการให้บริการด้านเสียงที่ลดลง เออร์วานน์ โธมัสเซน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แอมด็อคส์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงพูดคุยกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในไทย ทั้ง เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เพื่อที่จะนำโซลูชั่นConnected Home เข้ามาให้บริการภายในประเทศไทย
โซลูชันดังกล่าวเป็นการทำงานบนคลาวด์ คอมพิวติงเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เข้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้า และระบบรักษาความปลอดภัยในครัวเรือน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปควบคุม ดูแล และจัดการอุปกรณ์ต่างๆที่เชื่อมต่อในระบบอย่าง ระบบเปิด-ปิดไฟ เซ็นเซอร์รักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิด ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตได้
'ที่ต้องคุยกับโอเปอเรเตอร์เนื่องจากมองว่า หัวใจสำคัญของรูปแบบการให้บริการโซลูชันดังกล่าวคือ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นเมื่อมีการเปิดให้บริการ 3G หรือ LTE ในอนาคต ก็จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถสร้างบริการใหม่ให้แก่ลูกค้าได้นอกจากให้บริการด้านเสียง และดาต้าในปัจจุบัน'
แม้ว่าความต้องการในการใช้งานโซลูชันดังกล่าวในไทยจะยังไม่ชัดเจน แต่แอมด็อคส์เชื่อว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 รายสนใจที่จะลงทุน และให้บริการในที่สุด เนื่องจากถ้าไม่ทำก็จะมีผู้เล่นรายอื่นนำไปให้บริการอยู่ดี โดยในต่างประเทศ รูปแบบการให้บริการดังกล่าวเริ่มให้บริการมานานแล้ว ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่า 10% ของครัวเรือนในสหรัฐฯ แคนาดา รวมถึงอังกฤษ ใช้งานโซลูชันดังกล่าว และเชื่อว่าจะมีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และอุปกรณ์เคลื่อนที่สมัยใหม่
กลุ่มเป้าหมายหลักของ Connected Home ในเบื้องต้น จะเป็นในส่วนของโรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต องค์กร บ้านราคาแพง สถานศึกษา และเชื่อว่าในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีราคาถูกลง โซลูชันเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสูงอายุ หรือ เด็กเล็ก หันมาใช้งานกันมากขึ้น เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย
ทั้งนี้แอมด๊อคส์ เป็นผู้ให้บริการในด้านนวัตกรรมระบบจัดการประสบการณ์ลูกค้า ที่ผสานระบบธุรกิจเข้ากับการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้บริการโครงข่ายและลูกค้า สามารถเข้าถึงการสื่อสารได้รวดเร็ว และหลากหลายรูปแบบ
ขณะที่ในแง่ของการใช้งานดาต้าในประเทศไทย บนเวทีสัมมนาเรื่อง ภาพรวมของอุตสาหกรรมและการกำหนดนโยบายโทรคมในประเทศไทย ผู้ให้บริการต่างเตรียมแผนรับมือการใช้งานดาต้า ในแง่ของการจำกัดปริมาณการใช้ และมองถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี
นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีทีกล่าวว่า ปีนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากไอซีทีตั้งเป้าหมายหลักไว้คือต้องการให้ประชากร 80% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปี 2012 และเพิ่มขึ้นเป็น 95% ในปี 2020 ซึ่งต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อขยายการใช้งานเข้าไปในระดับอำเภอถึงตำบล
นายปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ดีแทค กล่าวถึงปริมาณการใช้งานงาน 3G พบว่า หลังจากเปิดให้บริการจำนวนการใช้งานดาต้า บนเครือข่าย 3G วันเดียว เท่ากับปริมาณการใช้งานดาต้าในระบบ 2.5G EDGE/GPRS ถึง 8 เดือน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคในการใช้งานได้เป็นอย่างดี
'เมื่อเทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนใหม่ๆเข้ามา พฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป ไม่ว่าจากความละเอียดของกล้องที่มากขึ้น สามารถถ่ายวิดีโอได้ละเอียดขึ้น เมื่ออัปโหลดขึ้นสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์ ก็จะใช้ปริมาณดาต้าเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน'
นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจนอนวอยซ์ และ 3G บริษัท ทรูมูฟ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อให้บริการดาต้าแบบไม่จำกัดคือ จะเกิดการใช้งานดาต้าปริมาณมหาศาล เช่น ในช่วงแรกที่เปิดให้บริการ เคยมีผู้ใช้แบบไม่จำกัดนำไปใช้งานโหลดบิตทอเรนท์ ส่งผลให้ปริมาณการใช้งานสูงถึง 600 GB ใน 1 เดือน คิดเป็นกว่า 60% ของระบบ ส่งผลให้จำเป็นต้องมีข้อตกลงจำกัดปริมาณการใช้งานเกิดขึ้นหรือ Fair Usage Policy
'ในต่างประเทศ เมื่อมีการเปิดให้ใช้งาน 3G ได้มีการยกเลิกการให้บริการแบบไม่จำกัด แต่เชื่อว่าในไทยยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถคำนวนปริมาณการใช้งานดาต้าของตนเองได้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีการปรับรูปแบบการคิดค่าบริการดาต้ามาเป็นแบบตามปริมาณการใช้งานก็ตาม'
Company Related Link :
Amdocs
ที่มา: manager.co.th