เริ่มแล้วกับเทศกาลอิ่มบุญ หรือที่เรารู้จักกันดีในเทศกาล "กินเจ" ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่หลายคนจะถือโอกาสในการทำบุญถือศีล ด้วยการละเว้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะการรับประทานเนื้อสัตว์ถือเป็นการเบียดเบียน และที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่จะได้หันมารับประทานผักเพื่อสุขภาพกันอีกด้วย แต่พึงระวัง...หากเรารับประทานอาหารเจโดยลืมคำนึงถึงหลักโภชนาการ ก็อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเราได้เช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการอย่าง นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการแผนงานโภชนาการเชิงรุก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกกับเราว่า เทศกาลกินเจ ถือเป็นเทศกาลที่ต้องถือศีล ไม่ใช่มีแต่เรื่องของการรับประทานเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ปองร้ายหรือนินทาว่าร้ายผู้อื่น และที่สำคัญต้องละเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดอีกด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของการรับประทานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องทำควบคู่กันไปจึงจะถูกต้อง
การรับประทานอาหารเจ ดูผิวเผินน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคน ที่หันมาบริโภคผัก ผลไม้ แทนเนื้อสัตว์ หากแต่ทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ เราจึงควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารในช่วงเทศกาลกินเจเช่นกัน ซึ่งนายสง่า ได้บอกเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเจให้ถูกต้องไว้ว่า
สิ่งแรกที่เราควรต้องคำนึงคือ การเลือกรับประทานอาหารเจให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะในหมู่ของโปรตีน ที่คนส่วนใหญ่ที่รับประทานเจมักจะขาด เพราะโปรตีนจะได้จากการบริโภค เนื้อสัตว์ ไข่ นม เป็นต้น ซึ่งเป็นอาหารที่ผู้รับประทานเจไม่สามารถรับประทานได้ เราจึงต้องมาดูว่าเราจะได้โปรตีนจากที่ใดได้อีก ซึ่งโปรตีนที่ดีที่สุดของคนที่รับประทานเจนั่นคือ ถั่วเมล็ดแห้ง จะมีอยู่ในอาหารจำพวก น้ำเต้าหู้ ฟองเต้าหู้ หรือโปรตีนเกษตร
"อาหารประเภทเต้าหู้นี้แหละที่จะทำให้คนที่รับประทานเจได้โปรตีนอย่างเต็มที่ ซึ่งโปรตีนเหล่านี้จะใกล้เคียงกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากที่สุด เพราะมีกรดอะมิโนแอซิด ซึ่งหากเรารับประทานพร้อมกับข้าวหรืออาหารประเภทงา ที่เป็นคาโบไฮเดรต มันก็จะได้กรดอะมิโนที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นการจะได้รับสารอาหารครบนั้น เราต้องมั่นใจว่าอาหารเจที่เราทานต้องมีส่วนผสมของถั่วเมล็ดแห้งเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยทุกครั้งและรับประทานควบคู่ไปกับการรับประทานผลไม้ เพื่อจะได้สารอาหารครบ 5 หมู่"
ประเด็นต่อมาที่น่าเป็นห่วงของการรับประทานอาหารเจ นั่นคือรสชาติของอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารเจที่มีรสชาติปานกลาง ไม่รสจัด ไม่หนักหวาน มันหรือเค็มจนเกินไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาหารเจที่ขายทั่วไปตามท้องตลาดจะมีรสเค็ม เพราะมีโซเดียมในปริมาณที่มาก หากรับประทานเข้าไปบ่อยๆ อาจทำให้เกิดภาวะความดันสูงโลหิตสูงได้ อีกทั้งไตจะทำงานหนักจนเกินไปส่งผลเสียต่อร่างกายได้
"ในอาหารเจทั่วไป เรามักจะไม่ใส่น้ำปลา แต่จะใช้เครื่องปรุงจำพวกซีอิ้วขาว เกลือและผงชูรสแทนในปริมาณมาก นั่นแปลว่าเราจะได้รับโซเดียมในปริมาณมากเกินที่ร่างกายควรจะได้รับ ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยง"
อีกสิ่งที่ต้องระวัง นั่นคือโรคอ้วน เพราะในอาหารเจนั้นจะมีส่วนผสมของแป้งจำนวนมาก อีกทั้ง การที่เราไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ ทำให้เราเกิดอาการหิวบ่อยขึ้น คนส่วนใหญ่จึงนิยมรับประทานข้าวให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้หิว จึงทำให้ในร่างกายมีแป้งเกินความพอดี จนส่งผลให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้ รวมไปถึงความมันในอาหารเจอีกด้วย ส่วนใหญ่อาหารเจจะปรุงจากน้ำมัน เช่น ผัดหรือทอด ซึ่งการได้รับไขมันที่มากเกินไป จนเผาผลาญไม่หมด มันก็จะสะสมอยู่ในรูปของไขมัน ทำให้อ้วนได้เช่นกัน ทางที่ดีหันมารับประทานอาหารเจจำพวก ต้ม เช่น จับฉ่าย ต้มจืด น่าจะดีกว่า
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดของการระมัดระวังในการบริโภคอาหารเจ นั่นคือ ความสะอาดและปลอดภัย อาหารเจส่วนใหญ่ อุดมไปด้วยผัก ถ้าเราล้างไม่สะอาด ผักนั้นก็จะอุดมไปด้วยสารพิษ อย่างยาฆ่าแมง สารเคมีต่างๆ ที่ตกค้างในผัก หากเป็นเช่นนั้น อาหารที่เรารับประทานก็จะกลายเป็นสารพิษจานพิเศษในทันที ฉะนั้นเราควรล้างผักให้สะอาดก่อนการปรุงอาหารทุกครั้งเสมอ
การรับประทานอาหารเจให้ปลอดภัยยังไม่หมดเท่านี้ โดย นายสง่า ยังฝากถึงผู้ที่ชอบรับประทานอาหารกระป๋อง เช่น ผักกาดกระป๋อง หากจะรับประทานตลอดเทศกาลกินเจมันคงไม่ดีต่อร่างกายแน่ เพราะอย่าลืมว่าอาหารเหล่านั้นคุณค่าทางโภชนาการจะต่ำกว่าผักสด หากจำเป็นต้องรับประทานควรรับประทานสลับกับการรับประทานอาหารอื่นๆ ด้วย รวมถึงอาหารสีฉูดฉาดก็ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน
เพียงแค่นี้การรับประทานเจในปีนี้ของเราก็จะได้ทั้งอิ่ม และได้ทั้งบุญ แถมร่างกายไม่ต้องเสี่ยงอันตรายกับโรคร้าย ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนอีกด้วย อย่าลืมปฏิบัติตามคำแนะนำกันนะคะ
ที่มา: สสส.