คอลัมน์ ไอทีทะลุโลก
โดย siripong@kidtalentz.com
ระยะเวลาสองปีของ แอปเปิลสโตร์ มีสาขาทั่วโลกราว 200 สาขา ทำยอดรายได้เข้าสู่ แอปเปิลประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยตอนนี้ก็ราวๆ 35,000 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขที่งดงามเมื่อเทียบกับระยะเวลาเพียงแค่สองปี แต่สิ่งที่แอปเปิลได้มามากกว่าเม็ดเงินก็คือ ความรับรู้ในยี่ห้อ หรือ แบรนด์รีคอกนิชั่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
ทั้งมีของให้เห็นและทดลอง มีบริการที่ดีน่าประทับใจ และการออกแบบร้านโฉบเฉี่ยวทันสมัยสอดรับกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ สุดท้ายเม็ดเงินก็ตามมา
ไม่น่าแปลกถ้าหากว่ายักษ์ใหญ่ ไมโครซอฟท์ จะประกาศเปิด "ไมโครซอฟท์สโตร์" ขึ้นมาในท่ามกลางภาวะการจับจ่ายใช้สอยฝืดเคืองอย่างนี้ การสร้างความรับรู้ในยี่ห้อถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไมโครซอฟท์มองเอาไว้ ช่วยให้ลูกค้าหาซื้อผลิตภัณฑ์ไมโครซอฟท์ได้ง่ายขึ้นทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย
งานนี้ยักษ์ใหญ่เอาจริง โดยลงทุนดึง "เดวิด พอร์เตอร์" มือดีด้านการค้าปลีกที่เคยมีประสบการณ์กับวอล-มาร์ตมา 25 ปี ก่อนจะย้ายมาอยู่ดรีมเวิร์กเมื่อสองปีก่อน การตัดสินใจว่าจะเปิดไมโครซอฟท์สโตร์ เมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร ขึ้นอยู่กับเขาทั้งหมด
นักวิเคราะห์บางคนชี้ให้เห็นว่าโดยพื้นฐานแล้ว ร้านไม่ใช่ตัวดึงคนเข้ามาหาผลิตภัณฑ์ ทว่าผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ต่างหากที่จะดึงลูกค้า
เข้าร้าน ความสำเร็จของแอปเปิลสโตร์ สะท้อนให้เห็นจุดนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะ แอปเปิลสโตร์นั้นวางยุทธศาสตร์เคียงคู่กับ "ไอพอด" ในตอนเริ่มแรก และถัดจาก ไอพอดก็มาถึง "ไอโฟน"
ปัญหาคือเมื่อเทียบกันแล้ว ไมโครซอฟท์ไม่มีผลิตภัณฑ์อะไรที่โดดเด่นดึงดูดคนได้มากพอ แม้กระทั่ง "วินโดวส์ 7" ที่จะออกมาใหม่แทนวินโดวส์วิสต้า ในราวปีหน้าก็ตาม หรือ Zune เครื่องเล่นเพลงดิจิทัลก็ประสบความล้มเหลวไม่เป็นท่า
อย่างไรก็ดีระดับยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ย่อมรู้ดีถึงจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง กว่าจะไปถึงวันเปิดตัวไมโครซอฟท์สโตร์แห่งแรก เชื่อว่าต้องมีทีเด็ดอะไรสักอย่างสองอย่าง แต่เชื่อกันว่าหนีไม่พ้น "วินโดวส์ 7" อยู่ดี
หรือบางทีการเปิดไมโครซอฟท์สโตร์ ในอีกด้านหนึ่งก็คือการจะกู้แบรนด์ไมโครซอฟท์ที่เสียหายไปมากเพราะวินโดวส์วิสต้า ก็เป็นได้