ตอกย้ำผลการสำรวจก่อนหน้านี้ที่ชี้ว่า แสงไฟจากหน้าจออุปกรณ์ไอทีทั้งคอมพิวเตอร์โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตอาจมีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้งาน ล่าสุดทีมนักวิจัยอเมริกันเผยผลสำรวจล่าสุด พบชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่มีปัญหาการนอนหลับล้วนมีกิจวัตรคือการใช้อุปกรณ์ไอทีเหล่านี้ในช่วงเวลาก่อนเข้านอนเป็นประจำ เชื่อการสำรวจนี้ช่วยจุดประกายให้ประชาชนในชาติเห็นความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพระดับชาติที่อาจตามมา
มูลนิธิ National Sleep Foundation ของสหรัฐฯเปิดเผยผลการสำรวจล่าสุดที่พบว่าอเมริกันชนส่วนใหญ่มีปัญหาการนอนหลับ โดย 43% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่ามีปัญหานอนไม่หลับอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่ 60% ระบุว่ามีปัญหาเช่น ตื่นนอนเร็ว นอนกรน และรู้สึกไม่สดชื่นเมื่อตื่นนอนทุกวัน โดยมูลนิธิมั่นใจว่าสาเหตุของปัญหาการนอนหลับนอกจากจะมาจากปัญหาชีวิต ครอบครัว และงานที่รัดตัว สาเหตุหนึ่งยังมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ดร. ชาร์ลส์ ไซสเลอร์ ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด ให้สัมภาษณ์ว่าการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 1,508 คนซึ่งมีอายุช่วง 13 ถึง 64 ปีพบว่าส่วนใหญ่มีการใช้งานอุปกรณ์ที่มีหน้าจอเรืองแสงอย่างจริงจังในช่วงเวลาก่อนเข้านอน จึงสามารถสรุปได้ว่าผู้ใช้สินค้าเทคโนโลยีก่อนเข้านอนเป็นกิจวัตรมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ใช้รายนั้นได้รับการพักผ่อนน้อยกว่าที่ควร
การศึกษาพบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่อ่านหนังสือก่อนนอนอย่างเคย แต่กลับใช้เวลาไปกับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และวิดีโอเกม โดยการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างมากกว่า 95% ใช้อุปกรณ์ทั้งหมดนี้อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดย 6 ใน 10 ระบุว่าใช้คอมพิวเตอร์เป็นบางวัน แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นถึงอายุ 30 ปี ระบุว่าใช้งานเกือบทุกวัน
นอกจากนี้ ราว 1 ใน 10 ของวัยรุ่นยอมรับว่าถูกปลุกให้ตื่นทุกค่ำคืนเพราะเสียงโทรศัพท์ ซึ่งทำให้ต้องคุยโทรศัพท์ ส่งอีเมล หรือส่งข้อความตอบกลับ ขณะที่ 1 ใน 5 ระบุว่าถูกปลุกเพราะโทรศัพท์มือถือราว 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
การสำรวจที่เกิดขึ้นถือเป็นการจุดประกายให้อเมริกันชนรับรู้ปัญหาที่อาจตามมาจากการใช้งานเทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม โดยนักวิจัยล้วนเรียกร้องให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ปรับพฤติกรรมส่วนตัว เพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นหากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
จุดสำคัญที่นักวิจัยอเมริกันเรียกร้อง คือพฤติกรรมการใช้งานแบล็กเบอร์รีของวัยรุ่น โดยระบุว่าวัยรุ่น (อายุ 13-18 ปี) ราว 1 ใน 10 ไม่ยอมปิดเครื่องจึงทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ถูกบีบีเบียดบังเวลานอนหลับทุกวัน การสำรวจพบว่าอุปกรณ์ไอทีมีผลให้เวลาการนอนหลับเฉลี่ยในวัยรุ่นอเมริกันลดลงเหลือ 7 ชั่วโมง 26 นาที จากเดิมที่นักวิชาการแนะนำให้วัยรุ่นพักผ่อน 9 ชั่วโมง 15 นาที
ไซสเลอร์มองตัวเลขที่เกิดขึ้นว่า วัยรุ่นยุคไอทีมีเวลานอนหลับน้อยกว่าวัยรุ่นยุคก่อนราว 2 ชั่วโมง ซึ่งแปลว่าตลอดทั้งเดือน เวลานอนหลับของวัยรุ่นยุคปัจจุบันจะหายไปมากกว่า 50 ชั่วโมง สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยงในการเกิดปัญหาด้านการงาน อารมณ์ ครอบครัว การขับขี่ พฤติกรรมทางเพศ และสุขภาพ ซึ่งอาจจะตามมาในสังคมอเมริกันในอนาคต
งานวิจัยนี้ถือเป็นการตอกย้ำผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism ในเดือนมกราคมซึ่งพบว่าการมองแสงไฟในเวลากลางคืนจะนำไปสู่ภาวะความดันเลือดสูง ขณะที่ทีมวิจัยมหาวิทยาลัย University of Haifa พบว่าแสงไฟในเวลากลางคืนมีความเกี่ยวพันกับสาเหตุการเกิดมะเร็งด้วย
ที่มา: manager.co.th