Nick Computer Services

News & Public Relation => IT News => Topic started by: Nick on January 18, 2012, 02:03:34 PM

Title: ทำไม "วิกิพีเดีย" ต้องปิดเว็บประท้วง "SOPA" : Cyber Talk
Post by: Nick on January 18, 2012, 02:03:34 PM
(http://upic.me/i/a4/5550000007643021.jpeg) (http://board.nickcs.com/go.php?http://upic.me/show/32207867)

     วันที่ 18 มกราคม 2555 คือวันสำคัญที่โลกต้องบันทึกว่าสารานุกรมออนไลน์อย่างวิกิพีเดีย (Wikipedia) ประกาศ"ปิดบริการ"ชั่วคราว 24 ชั่วโมงเพื่อประท้วงร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Stop Online Piracy Act) หรือชื่อย่อว่า "SOPA" คำถามคือกฏหมายนี้มีจุดบกพร่องใดจึงสร้างความไม่พอใจจนวิกิพีเดียต้องออกโรงประท้วงอย่างชัดเจนเช่นนี้
       
       ตามข้อมูลจากวิกิพีเดีย SOPA นั้นเป็นร่างรัฐบัญญัติที่ลามาร์ สมิธ (Lamar Smith) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 พร้อมเพื่อนสมาชิกสิบสองคนจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสอง มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความสามารถของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายและเจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนต์ดิจิตอล บนจุดประสงค์หลักคือเพื่อต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและสินค้าปลอมในโลกออนไลน์
       
       สิ่งที่วิกิพีเดียยอมรับไม่ได้คือ SOPA นั้นให้อำนาจกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (Department of Justice) และเจ้าของลิขสิทธิ์มากเกินไป เพราะสามารถขอให้ศาลสั่งปราบปรามบรรดาเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เต็มที่
       
       หาก SOPA มีผลบังคับใช้ในสหรัฐฯ ศาลจะสามารถสั่งห้ามทุกเว็บไซต์คบค้าหากินกับเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งครอบคลุมถึงบรรดาเครือข่ายโฆษณาออนไลน์หรือเครือข่ายชำระเงินออนไลน์ เช่น เพย์แพล (PayPal) โดยบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ (search engine) อย่างกูเกิลหรือเว็บท่าต่างๆจะถูกสั่งห้ามเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์เหล่านั้น ขณะเดียวกัน ศาลจะสามารถสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้สะกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์นั้นได้
       
       ที่สำคัญ ร่างรัฐบัญญัตินี้ยังกำหนดให้การใช้ข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ และการใด ๆ ที่บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกระทำไปเพื่อต่อต้านเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ จะไม่เป็นความผิดและไม่อยู่ในความรับผิดทุกประการ
       
       ทั้งหมดนี้ทำให้ความเห็นในสหรัฐฯแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายเจ้าของคอนเทนต์ทั่งภาพยนตร์ เพลง ภาพ รวมถึงเนื้อหาทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญานั้นสนับสนุนกฏหมายข้อนี้อย่างเต็มที่ เพราะจะได้รับการคุ้มครองผลงานอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน
       
       แต่ฝ่ายผู้ให้บริการเว็บไซต์ที่รับรู้ธรรมชาติของชาวออนไลน์ รู้ดีว่ากฏหมายข้อนี้จะทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้โลกอินเทอร์เน็ตสูญเสียพลังแห่งการเรียนรู้ แถมยังคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
       
       ไม่เพียงสารานุกรมออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวิกิพีเดีย ชุมชนออนไลน์ชื่อดังในสหรัฐฯอย่าง reddit.com ก็ปิดเว็บไซต์ประท้วงร่างกฏหมายนี้เช่นกัน ขณะที่ผู้ให้บริการเว็บล็อก WordPress ก็เขียนบล็อกเชิญชวนให้ผู้ใช้ลุกขึ้นมาต่อต้านร่างกฏหมาย SOPA นี้
       
       ขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนร่างกฏหมายนี้ยังถูกกดดันจากโลกออนไลน์ จนต้องเปลี่ยนท่าทีเลิกสนับสนุน SOPA อย่างชัดเจน
       
       ล่าสุด 17 มกราคม 2555 ร่างกฏหมาย SOPA ถูกยุติการเสนอร่างต่อวุฒิสภาสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางกลุ่มผู้แทนอีกกลุ่มหนึ่งกำลังเสนอร่างกฏหมายลักษณะเดียวกัน นั่นคือร่างรัฐบัญญัติคุ้มครองไอพี (Protect IP Act) หรือ PIPA ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่การบล็อค DNS เมื่อได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่เช่นกัน
       
       การปิดเว็บไซต์ประท้วงครั้งนี้ เกิดขึ้นบนความหวังให้ชาวออนไลน์ในสหรัฐฯเข้าใจถึงร่างกฏหมายทั้ง 2 ฉบับ ทั้ง SOPA ที่เพิ่งแท้งไป และ PIPA ที่วิศวกรอินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งชาวออนไลน์ควรต้องเข้าใจและรับทราบความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา
       
       เอกสารชี้แจงเรื่องการประท้วงร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ ฉบับภาษาอังกฤษ
       
       English Wikipedia anti-SOPA blackout (http://board.nickcs.com/go.php?http://wikimediafoundation.org/wiki/English_Wikipedia_anti-SOPA_blackout)
       Press releases/English Wikipedia to go dark (http://board.nickcs.com/go.php?http://wikimediafoundation.org/wiki/Press_releases/English_Wikipedia_to_go_dark)

ที่มา: manager.co.th