ดร.ธัชพล โปษยานนท์
ซิสโก้ ออกแรงหนุนนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ชี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศในการขยายบรอดแบนด์ ซึ่งกลายเป็นสิ่งสำคัญของนานาๆประเทศไม่แพ้ถนน และสาธารณูปโภคต่างๆ ระบุ 3G ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง
ดร.ธัชพล โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เทคโนโลยี 3G ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง เพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ผ่านนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติของรัฐบาล ตามแผนแม่บทไอซีที 2020 สามารถตอบสนองความต้องการด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยได้ และขณะนี้โครงการบรอดแบนด์แห่งชาติถือเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงมากขึ้น จากปัจจุบันมีคนไทยใช้บรอดแบนด์ 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 5% ของจำนวนประชากร 63 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาแนวโน้มของสังคม พบว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดีย ชุมชนเมืองจะมีการเติบโตมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ 3-5 เท่า ซึ่งเปลี่ยนจากการเติบโตของชุมชนในประเทศมหาอำนาจเดิมๆ และในปี ค.ศ.2013 ทั่วโลกจะมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านไอพีแอดเดรสกว่า 1 ล้านล้านชิ้น ดังนั้นบรอดแบนด์จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น นอกเหนือจากเรื่องของถนน และสาธารณูปโภค
“ปัจจุบัน 11 หัวเมืองหลักของประเทศไทย มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 5 ล้านคน และอีกกว่า 25 หัวเมืองกำลังจะมีประชากรอาศัยอยู่เกิน 5 ล้านคน และจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหม่ ซึ่งการที่ประเทศไทยไม่มี 3G ก็ใช่ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะหมดลง เพราะยังมีบรอดแบนด์ที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งการศึกษาของเวิลด์แบงก์ ระบุว่า อัตราการเติบโตของการใช้งานบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10% จะทำให้จีดีพีโตขึ้น 1%”
ทั้งนี้บทบาทของซิสโก้ในการผลักดันโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ คือ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลการศึกษาการทำบรอดแบนด์แห่งชาติในต่างประเทศ รวมทั้งการนำบรอดแบนด์ไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของการศึกษา สาธารณสุข และการให้บริการภาคประชาชน เช่น การมีบรอดแบนด์ทำให้นักเรียนในชนบทมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลเหมือนเด็กในเมือง และประชาชนในชนบทไม่ต้องเดินทางเข้ามาที่โรงพยาบาลในเมือง ก็สามารถได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคผ่านแอปพลิเคชั่นวิดีโอคอนเฟอเรนท์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วสูง
ด้านนายอดิศร์ หะริณสุต ผู้อำนวยการโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะเป็นโครงข่ายของรัฐดังนั้นแนวทางที่เป็นไปได้ของการทำโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ คือ การใช้โครงข่ายร่วมกัน ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบของการร่วมทุน ระหว่างรัฐกับเอกชนในการทำโครงข่าย โดยตัวอย่างในประเทศสิงคโปร์ได้ใช้แนวทางการร่วมทุนในการทำโครงข่าย ซึ่งใช้เวลาในการขยายตัวได้รวดเร็วมาก ส่วนความคืบหน้าเรื่องโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติที่อยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องรูปแบบการใช้โครงข่ายรวม หากได้ข้อสรุปและมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ก็จะถือเป็นก้าวแรกของของโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ
Company Related Link :
Cisco
ที่มา: manager.co.th