Author Topic: เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ซิมเบียน-แอนดรอยด์-บีบี  (Read 918 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai



     3 ระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนถึงคราวเคราะห์เวลาไล่เลี่ยกัน ประเดิมที่ซิมเบียน (Symbian) ถูกผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงประกาศตัดเยื่อใย เตรียมหยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับซิมเบียนทั้งหมดในปลายปีนี้ ด้านแอนดรอยด์ (Android) โดนพิษคดีความเพราะผู้ผลิตรายใหญ่อย่างโมโตโรล่า ถูกไมโครซอฟท์ฟ้องร้องว่าละเมิดสิทธิบัตร 9 เทคโนโลยี ขณะที่บีบีหรือแบล็กเบอรี (BlackBerry) ก็กำลังจะขึ้นเขียงถูกแบนในอาหรับดีเดย์วันที่ 11 ตุลาคมนี้ มีก็แต่เพียงไอโฟน (iPhone) เท่านั้นที่ลอยลำ เนื่องจากการสำรวจพบว่าสาวกบีบีในอาหรับจะหันมาซื้อไอโฟนหากบีบีถูกแบน
       
       ** ไอโฟนรับอานิสงส์บีบีถูกแบน **
       
       สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ผู้ใช้บริการสมาร์ทโฟนแบล็กเบอรีในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการลงดาบบล็อกนานาบริการหลักของแบล็กเบอรี โดยผู้ใช้จำนวนมากระบุว่ากำลังมองหาสมาร์ทโฟนทางเลือกอื่นโดยเฉพาะไอโฟน แม้จะยังหวังว่าการแบนบีบีจะไม่เกิดขึ้น
       
       การสำรวจผู้ใช้บีบีในอาหรับทั้งกลุ่มวันรุ่นและวัยทำงาน พบว่าเมื่อไม่สามารถใช้งานบริการหลักของบีบีทั้งบริการรับส่งข้อความ แบล็กเบอรีแมสเซนเจอร์, บริการเปิดเว็บไซต์ และบริการอีเมล ซึ่งรัฐบาลอาหรับระบุว่าจะปิดกั้นไม่ให้ประชาชนอาหรับใช้งานในวันที่ 11 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป เนื่องจากบริการดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคงเพราะรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ผู้ใช้บีบีก็พร้อมจะขายเครื่องของตัวเองเพื่อซื้อไอโฟนมาใช้งานแทน
       
       มาห์มุด อิบราฮิม ลูกค้าบีบีวัย 19 ปีให้สัมภาษณ์ว่าซื้อบีบีมาเพื่อใช้บริการเหล่านี้เป็นอันดับแรก ซึ่งหากรัฐบาลอาหรับบล็อกบริการจริง ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องใช้งานบีบีต่อไป
       
       นอกจากอาหรับ บีบียังได้รับแรงกดดันจากซาอุดีอาระเบียและอินเดีย โดยยื่นคำขาดให้ผู้ผลิตบีบียินยอมเปิดทางให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบเพื่อรักษาความปลอดภัยในประเทศ แต่ริม (RIM) ผู้ผลิตแบล็กเบอรีก็ยืนยันว่าไม่สามารถละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกค้าได้ ซึ่งขณะนี้ แม้ทุกฝ่ายจะระบุว่ายังอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดคือดีเดย์วันบล็อกบริการบีบีที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคมนี้
       
       ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบีบีจะได้รับผลกระทบจากมาตรการที่เกิดขึ้นเพียงใด เพราะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้นเป็นประเทศร่ำรวยซึ่งมีผู้ใช้กลุ่มเทคโนโลยีมากกว่า 500,000 คน โดยรัฐบาลอาหรับประกาศเส้นตายบล็อกบริการบีบี พบว่ายอดจำหน่ายบีบีในร้านค้าลดลงราว 40% กลุ่มผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ขณะที่กลุ่มผู้ค้าปลีกหยุดสั่งสินค้าจากซัปพลายเออร์ชั่วคราว ด้านโอเปอเรเตอร์อาหรับ 2 รายผู้ให้บริการบีบีอย่าง Etisalat และ Du นั้นได้ประกาศให้ลูกค้าบีบีเลือกเปลี่ยนสัญญาใช้งานใหม่เป็นระยะเวลา 1 ปีและรับสมาร์ทโฟนที่ไม่ใช่แบล็กเบอรี่ไปแทน
       
       ** ซิมเบียนถูกบีบ **
       
       ซัมซุงออกแรงบีบซิมเบียน ระบบปฏิบัติการซึ่งมีต้นกำเนิดจากยักษ์ใหญ่โนเกียด้วยการประกาศยุติการสนับสนุนนักพัฒนาบนแพลตฟอร์มซิมเบียนอย่างเป็นทางการ ยืนยันว่าจะปิดศูนย์รวมนักพัฒนาแพลตฟอร์มซิมเบียนของซัมซุง รวมถึงจะดึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโปรแกรมบนแพลตฟอร์มซิมเบียนออกทั้งหมดในวันที่ 31 ธันวาคม 53
       
       ซัมซุงประกาศแผนตัดใยซิมเบียนไว้บนเว็บไซต์ Samsung Mobile Innovator ว่าบริการ Symbian Lab จะเริ่มปิดให้บริการในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ จากนั้นบริการกระทู้ถามตอบปัญหาการพัฒนาโปรแกรมบนแพลตฟอร์มซิมเบียน Symbian Forum จะเริ่มหยุดให้บริการในวันที่ 30 ธันวาคม โดยกระทู้และข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซิมเบียนจะถูกลบออกในวันที่ 31 ธันวาคม ขณะที่วันดังกล่าวจะเป็นวันสุดท้ายที่แอปพลิเคชันซิมเบียนจะได้รับการรับรองเพื่อให้บริการในร้าน Samsung Apps ของซัมซุง
       
       ที่ผ่านมา ซัมซุงยึดกลยุทธ์สร้างโทรศัพท์มือถือหลายแพลตฟอร์มมาตลอดรวมถึงซิมเบียน แต่ข้อสังเกตเบื้องต้นพบว่าซัมซุงไม่ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนซิมเบียนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และเลือกใช้แพลตฟอร์ม Bada ของตัวเองแทน นอกจากนั้นยังมีแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ และวินโดวส์โฟนเซเว่นที่กำลังจะเปิดตัว ซึ่งไม่ใช่เพียงซัมซุง แต่ผู้ผลิตอย่างโซนี่อีริกสัน (Sony Ericsson) ก็ตัดสินใจไม่ผลิตโทรศัพท์มือถือแพลตฟอร์มซิมเบียนเช่นกัน
       
       อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าวงการพัฒนาแอปพลิเคชันซิมเบียนจะล้มหายไปในทันที เนื่องจากนักพัฒนายังสามารถรวมตัวกันที่เว็บไซต์ Symbian.org ได้ โดยโนเกียเองก็พยายามผลักดันซิมเบียน 3 เวอร์ชันล่าสุดอย่างจริงจัง ด้วยการเปิดตัว N8 และเริ่มจัดส่งสู่นานาประเทศอย่างเป็นทางการในสัปดาห์ที่ผ่านมา
       
       ** ไมโครซอฟท์ฟ้องโมโตโรล่า **
       
       ยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์เปิดฉากฟ้องโมโตโรลาฐานผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์โดยใช้ 9 เทคโนโลยีที่เป็นสิทธิบัตรของไมโครซอฟท์โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่ออีเมล ปฏิทินงาน และรายชื่อผู้ติดต่อ ยังมีระบบจัดตารางนัดหมาย และระบบแจ้งเตือนความเข้มหรืออ่อนของสัญญาณโทรศัพท์ และปริมาณพลังงานแบตเตอรี่
       
       ไมโครซอฟท์ยื่นฟ้องโมโตโรล่าต่อคณะกรรมการการค้านานาชาติ International Trade Commission และศาลวอชิงตันตะวันตกซึ่งเป็นท้องที่สำนักงานใหญ่ไมโครซอฟท์ โดย Horacio Gutierrez ฝ่ายกฏหมายไมโครซอฟท์ระบุว่าการฟ้องร้องนี้ทำไปเพื่อปกป้องประโยชน์ของพันธมิตรและผู้ถือหุ้นไมโครซอฟท์ เนื่องจากบริษัทต้องใช้เงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อทำตลาด โดยเรียกร้องให้โมโตโรลาหยุดการละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ในสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์อย่างเร็วที่สุด
       
       นี่ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ถูกฟ้องร้อง ครั้งแรกเป็นการฟ้องร้องผู้ผลิตสัญชาติไต้หวันอย่างเอชทีซีโดยแอปเปิล ครั้งนั้นแอปเปิลระบุว่าเอชทีซีละเมิดสิทธิบัตรแอปเปิลถึง 20 รายการ โดยขอให้ศาลสั่งห้ามเอชทีซีวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่ละเมิดสิทธิบัตร ครั้งที่ 2 เป็นการฟ้องกูเกิลโดยออราเคิล ซึ่งระบุว่าแอนดรอยด์นั้นใช้คำสั่งภาษาจาวา (Java) ที่เป็นสิทธิบัตรของออราเคิลโดยไม่ได้รับอนุญาต (เดิมเป็นสิทธิบัตรของซันไมโครซิสเต็มส์ ซึ่งถูกควบรวมเป็นของออราเคิลตั้งแต่ต้นปี 53)
       
       ทั้ง 3 คดีความล้วนมีแนวโน้มสูงมากที่แอนดรอยด์จะทำตลาดได้ลำบากขึ้น โดยคดีความระหว่างไมโครซอฟท์และโมโตโรล่านั้น มีข้อสังเกตว่า 2 ยักษ์ใหญ่อาจตกลงยอมความกันเพื่อเปิดตัวสมาร์ทโฟนวินโดวส์โฟนเซเว่นในอนาคตก็ได้
       
       ข้อมูลล่าสุดจากบริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ระบุว่า ซิมเบียนจะกินส่วนแบ่งตลาดแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนราว 40.1% ภายในปีนี้ ตามมาด้วยแอนดรอยด์ที่มีส่วนแบ่ง 17.7% นำหน้าบีบีที่มีส่วนแบ่ง 17.5% ขณะที่แอปเปิลมีส่วนแบ่งราว 15.4% และวินโดวส์โมบายล์ของไมโครซอฟท์อีก 4.7%

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)