Author Topic: รองปลัดไอซีทีแจง พ.ร.บ.คอม ปกป้องผู้ใช้ ไม่คุกคามปชช.  (Read 777 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

(27 มี.ค.) นายอังสุมาล ศุนาลัย รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในงานราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 17/2551 ในหัวข้อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปกป้องหรือคุกคาม จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา ว่า ข้อมูลและการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้น จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับการดำเนินการและผลลัพธ์หลังดำเนินงาน ขณะเดียวกัน การแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ทำให้เกิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพื่อปกป้องการเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ และทำให้สิ่งไม่ดีต่างๆ ภายในระบบอินเทอร์เน็ตลดลง ด้วยช่องทางและการค้นหาแนวทางในการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม

“ถ้าคนมีคุณธรรมและจริยธรรม กฎหมายคงไม่มีความจำเป็น ความพยายามในการออก พ.ร.บ.คอมฯ นั้น เนื่องจากความต้องการผลักดันอินเทอร์เน็ตไปสู่โลกของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เราต้องเร่งสร้างเครือข่าย เพื่อลดช่องว่างด้านการค้าขาย การส่งผ่านสิ่งต่างๆ และทำให้ข้อมูลต่างๆ สามารถส่งถึงมือผู้ใช้ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์และสามารถคุ้มครองผู้ใช้ได้” รองปลัดกระทรวงไอซีที กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองผู้บังคับการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศตท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทและแพร่หลายในสังคมอย่างรวดเร็ว จึงมีการบัญญัติ พ.ร.บ.คอมฯ เพื่อให้อำนาจแก่พนักงานและเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการแก่ผู้กระทำความผิด ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและสะดวกยิ่งขึ้น และครอบคลุมความผิดที่เกิดบนสังคมออนไลน์ ส่วนความผิดทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หมิ่นประมาทและฉ้อโกง โดยมากกว่า 90% เป็นความผิดทางอาญา ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือและช่องทางในการกระทำ เช่น การฉ้อโกงออนไลน์

รองผู้บังคับการ ศตท. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับโครงสร้างภายใน เพื่อทำให้การดำเนินคดีเกี่ยวกับเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมสู่การแปรสภาพเป็นกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สร้างขอบข่ายอำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักร โดยการบูรณาการความผิดทางเทคโนโลยีที่ยังคงกระจัดกระจาย ส่วนปัญหาด้านความรู้และความเข้าใจ ในการสืบสวนสอบสวนคดีทางเทคโนโลยีนั้น หน่วยงานมีการพัฒนาความรู้ด้านดังกล่าว โดยบรรจุเป็นหลักสูตรพิเศษร่วมกับหลักสูตรทั่วไปของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขณะที่ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ในภูมิภาคต่างๆ ก็มีโครงการจัดตั้งชุดปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนเทคโนโลยีประจำภาค เพื่อเป็นให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงแก่ตำรวจในพื้นที่

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของประเทศไทย ยังมีเนื้อหาคลุมเครือ เกี่ยวกับการให้คำนิยามและความหมายของคำว่าอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ รวมถึง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต่อข้อมูลข่าวสารอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับ เนื้อหาใน มาตรา 14 ที่ให้ความหมายไว้เพียงกว้างๆ ว่า อะไรก็ตามที่เข้าข่ายขัดต่อสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงแห่งชาติ และก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน ก็ให้อำนาจเจ้าพนักงานตีความด้วยความคิดของตน เพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัย ถิอเป็นความไม่รัดกุมที่สุดใน พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจก่อให้เกิดการนำไปใช้ที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดต้องกลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดี

 
ที่มา: thairath.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)