แฉ 'จุติ ไกรฤกษ์' รมว.ไอซีทีเสนอครม.ตั้งอธิบดีกรมอุตุคนใหม่แบบมีเงื่อนงำ หลังกรรมการสรรหามีมติเอกฉันท์เลือก 'สมชาย ใบม่วง' แต่ขั้นตอนเสนอครม.และแต่งตั้งกลับเป็น 'ต่อศักดิ์ วาณิชขจร' ที่ถูกร้องเรียนหนักเรื่องประพฤติมิชอบ และไร้คุณธรรมในการปฏิบัติราชการ
แหล่งข่าวในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่าปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการมิชอบลามมาถึงกระทรวงไอซีทีจากฝีมือนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว. ไอซีทีกับนายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการตลท.ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ภายหลังจากที่ครม.มีมติแต่งตั้งนายต่อศักดิ์ วาณิชขจร ขึ้นเป็นอธิบดีกรมอุตุฯ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมาตามการนำเสนอของนายจุติ
ทั้งนี้นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของผู้สมัครเข้ากระบวนการสรรหาอธิบดีกรมอุตุฯ จะยื่นฟ้องศาลปกครองในวันศุกร์ที่ 1 ต.ค.นี้ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสรรหา หลังจากคณะกรรมการสรรหาที่มีนายสมพล เป็นประธานและกรรมการอีก 4 คนประกอบด้วยนายอังสุมาล ศุนาลัย อธิบดีกรมอุตุฯ นายศิวะ แสงมณี อดีตอธิบดีกรมการปกครอง นางชมนาด พงศ์พนรัตน์ ที่ปรึกษาระบบราชการสำนักงานก.พ. และนายวรพัฒน์ ทิวถนอม ผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีที ลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์เลือกนายสมชาย ใบม่วงให้เป็นอธิบดีกรมอุตุฯ แต่ปรากฏว่าขั้นตอนการนำเสนอครม.กลายเป็นนายต่อศักดิ์ วานิชขจร
'การแต่งตั้งครั้งนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่าไม่ใช่พรรคภูมิใจไทยเท่านั้น แต่พรรคประชาธิปัตย์โดยรมว.ไอซีที ก็มีการแต่งตั้งข้าราชการโดยมิชอบ'
สิ่งที่ทำให้คณะกรรมการสรรหาไม่เลือกนายต่อศักดิ์ เพราะมีข้อร้องเรียนอย่างน้อย 2 ข้อที่ส่อไปในทางประพฤติมิชอบและการไม่มีคุณธรรมในการปฏิบัติราชการ อย่างโครงการติดตั้งสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ 87 สถานีมูลค่าโครงการ 185 ล้านบาทซึ่งขณะนั้นนายต่อศักดิ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุฯเป็นผู้ริเริ่มโครงการ และยังเป็นคนออกทีโออาร์โครงการนี้
เนื่องจากโครงการไม่มีความชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ ระบบตรวจอากาศของโครงการมีความซ้ำซ้อน เพราะนำไปติดตั้งบนพื้นที่สถานีตรวจอากาศหลักของกรมอุตุฯ ซึ่งมีการตรวจอากาศโดยเจ้าหน้าที่ของกรมอุตุฯอยู่แล้ว ไม่ได้ช่วยลดงานของเจ้าหน้าที่แต่กลับเพิ่มภาระในการดูแลเครื่องมืออัตโนมัติ เพราะจริงๆแล้วสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติควรตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัย
แต่ประเด็นที่สำคัญคือราคากลางของสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติอยู่ที่ 5 แสนบาท และถ้ารวมค่าติดตั้งก็ไม่น่าเกิน 6.5 แสนบาท หรือ ถ้าเป็นสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิอาสาเพื่อพึ่ง 'ภาฯ' ยามยาก สภากาชาดไทยมีค่าใช้จ่ายต่อสถานีไม่เกิน 1.1 แสนบาท รวมค่าติดตั้งแล้ว
แต่สถานีตรวจอากาศอัตโนมัติที่นายต่อศักดิ์ ในสมัยรักษาการอธิบดีกรมอุตุฯจัดหามานั้น มีราคาต่อสถานีถึง 2.1 ล้านบาท ซึ่งแพงมากและไม่สมเหตุผล
สำหรับประเด็นการขาดคุณธรรมในการปฏิบัติราชการนั้น เป็นเพราะถูกนายวัฒนา กันบัว นักอุตุฯ 8ว รักษาราชการแทนอำนวยการสำนักเฝ้าระวังและเตือนสภาวะอากาศ ร้องเรียน เนื่องจากนายวัฒนาได้ทำการขอรับการประเมินเพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและเตือนสภาวะอากาศที่ว่างอยู่ ซึ่งเมื่อเข้าแสดงวิสัยทัศน์ปรากฏว่าได้รับคะแนนที่ไม่เป็นธรรมจากนายต่อศักดิ์ ในขณะที่กรรมการ 4 คนให้คะแนน 82,78,90และ90 คะแนนตามลำดับ แต่นายต่อศักดิ์กลับให้เพียง 5 คะแนนเท่านั้น
'ว่ากันว่าเก้าอี้ราคาแพงถึง 30 ล้านบาท ทำให้มีการแปลงสาส์นระหว่างทาง นายสมพลในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ต้องออกมาชี้แจงให้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับการสรรหาอธิบดีกรมอุตุฯ ในครั้งนี้'
ที่มา: manager.co.th