> เน้นลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยี ไม่ให้กระจุกตัวในเมือง
รัฐมนตรีว่าการไอซีทีย้ำ จังหวัดนครราชสีมาจะต้องมีศูนย์เรียนรู้ ICT ครบทุกอำเภอภายในปีงบประมาณ 2553 ส่วนภาพรวมโครงการศูนย์ไอซีที ปี 2552 มีการตั้งขึ้นอีก 260 แห่งทั่วประเทศ
ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังหารือกับหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมาในระหว่างการติดตาม การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่จังหวัดนครราชสีมาว่า กระทรวงฯ ได้จัดโครงการศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เพื่อ เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงสารสนเทศ ความรู้ บทเรียนต่างๆ ให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย สำหรับจังหวัดนครราชสีมาจะผลักดันให้มีทุกอำเภอทั้ง 32 อำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 2 จุด โดยเน้นว่าจังหวัดนครราชสีมาจะต้องมีศูนย์เรียนรู้ ICT ครบทุกอำเภอภายในปีงบประมาณ 2553
ด้านนายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็น ประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนกับการพัฒนา เพื่อความยั่งยืน” ที่โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ว่ากระทรวงฯ ได้สนับสนุนให้มีการ นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้โดยสะดวก เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึง ICT อย่างเท่าเทียมกัน
โครงการนี้เน้นการจัดตั้งในการพื้นที่ ชนบทที่อยู่ห่างไกล เพื่อกระจายโอกาสให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ใช้เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลความรู้ ที่เป็นภูมิปัญญา ข้อมูล ประกอบอาชีพ และเป็นช่องทางในการแสวงหาตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าชุมชน และเสริมสร้างรายได้ รวมทั้งยังให้ประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารกับสถานพยาบาล สถานีอนามัย เพื่อช่วยให้บริการด้านสาธารณสุข แก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล
ปลัดกระทรวงฯกล่าวว่าในปี 2552 ได้จัดตั้งศูนย์เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 260 ศูนย์ รวมถึงจำนวนศูนย์เครือข่ายของภาคเอกชนอีก 6 ศูนย์ ทำให้สำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศฯ ได้ใช้โอกาสของการมีศูนย์การเรียนรู้กระจาย ไปทั่วประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของประชาชนในด้าน ICT ให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการดำเนินโครงการฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การจัดอบรมการใช้ ICT ให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ที่ได้รับการจัดตั้งศูนย์และจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 30 ครั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 900 คน และการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน” สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ที่มา: siamturakij.com