"เอชพี" ดันไทยเป็นตลาดยุทธศาสตร์การพิมพ์ดิจิตอลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้รูปแบบธุรกิจการพิมพ์เปลี่ยนเป็นบริการ คิดค่าใช้จ่ายตามปริมาณการพิมพ์ พร้อมชูกลยุทธ์ให้บริการการพิมพ์ผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง-โมบาย-การบริหารจัดการการพิมพ์ เจาะตลาดองค์กรเล็ก-ใหญ่ ตลอดจนคอนซูเมอร์
นางสาวมาร์กาเร็ต อัง รองประธานกลุ่มธุรกิจภาพและการพิมพ์ บริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ดฯ หรือ เอชพี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า บริษัทได้วางไทยเป็นตลาดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการลงทุนเพื่อขยายกลุ่มธุรกิจภาพและการพิมพ์ดิจิตอล โดยในการลงทุนนั้นจะมุ่งเน้นการลงทุนจะแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.การเพิ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันในตลาดเมืองไทยให้มากขึ้น , 2. การส่งเสริมกิจกรรมการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และ 3.การจำกัดกิจกรรมร่วมกับคู่ค้าจัดจำหน่ายอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและขยายช่องทางจัดจำหน่าย
ทั้งนี้เล็งเห็นว่าแนวโน้มการพิมพ์ดิจิตอลนั้นมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโต คือ การเกิดขึ้นของเนื้อหาจำนวนมหาศาลบนเว็บซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 10 เท่าภายในปี 2555 นอกจากนี้การใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ ที่สามารถเชื่อมต่อกับเว็บได้มากขึ้นทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาบนเว็บและเลือกพิมพ์เนื้อหาที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นที่คาดว่าเนื้อหาบนเว็บที่ผู้ใช้จะสามารถพิมพ์ได้นั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าภายในปี 2555
ขณะที่รูปแบบการพิมพ์จะเปลี่ยนจากยุคอะนาล็อกไปสู่ยุคดิจิตอล และรูปแบบธุรกิจการพิมพ์ที่เปลี่ยนมากไป โดยมุ่งเน้นการให้บริการ (service-based) มากขึ้น อาทิ การบริการจัดการงานพิมพ์ (Managed Print Services - MPS) สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ การคิดค่าบริการตามปริมาณงานพิมพ์สำหรับงานพิมพ์กราฟิกขนาดใหญ่ เช่น บิลบอร์ดและป้ายต่างๆ หรือแม้กระทั่งงานพิมพ์ธุรกิจประเภทสื่อการตลาด
"ข้อมูลสนับสนุนแนวโน้มการเติบโตการพิมพ์ดิจิตอลที่สำคัญ คือ การเติบโตในแง่ของจำนวนของเครื่องพิมพ์เอชพีที่มีคุณสมบัติเชื่อมต่อแบบไร้สายที่สูงขึ้น 70% ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และผลการศึกษาสำรวจของเอชพียังพบว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนจำนวน 85% มีความต้องการพิมพ์เนื้อหาหรือข้อมูลต่างๆ ทั้งจากสมาร์ทโฟนและจากเว็บ นอกจากนี้ ในปี 2554 จะมีปริมาณงานพิมพ์ทั้งหมดเกิดขึ้นถึง 64 ล้านแผ่น ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นงานพิมพ์แบบดิจิตอลเพียง 10% ของยอดพิมพ์ทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่ายังคงมีโอกาสอีก 90% ในตลาดงานพิมพ์ โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มธุรกิจกราฟิกที่ส่วนใหญ่ยังใช้งานพิมพ์แบบออฟเซตอยู่"
นางสาวมาร์กาเร็ต กล่าวอีกว่า สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การบริการผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์เนื้อหาบนเว็บโดยตรงจากเครื่องพิมพ์ที่สามารถเชื่อมต่อเว็บได้โดยไม่ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์ (Web-connected printers) นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี HP ePrint ที่สามารถสั่งพิมพ์จากอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้จากทุกแห่ง ทุกที่ ทุกเวลา และการสร้างเนื้อหาหรือแอพพลิเคชันใหม่ๆ บนเว็บที่จะเอื้อต่อการใช้งานของทั้งคอนซูเมอร์ เอสเอ็มบี และเอนเตอร์ไพรส์ ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่คู่ค้าด้วย
โดยกลุ่มคอนซูเมอร์และเอสเอ็มบีนั้นมีโมเดลธุรกิจที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าพิมพ์ที่บ้านด้วยเครื่องพิมพ์ส่วนตัว หรือพิมพ์จากออนไลน์ผ่านเว็บพอร์ทัล Snapfish ที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมรูปภาพสำหรับเก็บ แบ่งปัน และสั่งพิมพ์ได้อย่างง่ายๆ หรือสามารถเลือกพิมพ์ได้จากหน้าร้านค้าปลีกด้วยตัวเอง ไปจนถึงเลือกสั่งพิมพ์งานกับผู้ให้บริการงานพิมพ์ ส่วนของกลุ่มเอนเตอร์ไพรส์จะมุ่งผลักดันการบริการจัดการงานพิมพ์ เข้าสู่ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านการลดต้นทุน การลดความยุ่งยาก และเวลาในการจัดการปัญหาด้านการพิมพ์ และที่สำคัญคือการบริหารระบบเวิร์กโฟลว์ให้มีประสิทธิภาพ
ที่มา: thannews.th.com