"สินค้าปลอม ซีดีละเมิดลิขสิทธิ์เกลื่อนทำไมตำรวจไม่จับ"
นี่อาจเป็นเศษเสี้ยวความคิดของใครหลายๆ คน เวลาเดินตามห้างแถวๆ ประตูน้ำหรือข้างถนน พบเห็นการวางขายแผ่นซีดีโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์โจ๋งครึ่ม รวมทั้งตลาดหลายๆ แห่งที่มีสินค้าแบรนด์เนม ชั้นนำวางขายในราคาถูกเหลือเชื่อ
ขณะที่ในภาพรวมประเทศไทยเองก็ถูกตราหน้าจากต่างชาติว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในสินค้าหลากหลายประเภท สร้างความเสื่อมเสียแก่คนไทยเป็นอย่างมาก แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าในมุมของตำรวจก็มีเหตุผลน่าเห็นใจ
"คดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นคดีที่เจ้าของสิทธิต้องเข้ามาแจ้งความ ตำรวจจึงจะสามารถดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดได้ ดังนั้นหากเจ้าทุกข์ไม่แจ้งความ ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้" พ.ต.อ.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) บอกเล่าถึงปัญหาในการทำงานและให้ข้อมูลว่า การทำงานของตำรวจทุกวันนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น
"อย่างพวกซีดีเถื่อนตามพันทิป เราก็มีชุดปฏิบัติการไปตรวจอยู่เสมอ และจับได้เรื่อยๆ แต่เนื่องจากมีกำลังคนน้อย ไปบ่อยๆ คนขายก็จำหน้าได้หมด บางทีไปจับได้ร้านหนึ่ง ร้านอื่นก็ปิดหนีกันหมด ถามว่าตำรวจไม่เห็นหรือ ก็เห็น แต่พอจะไปจับก็ปิดร้านเสียแล้ว"
หรือกับวิธีการขาย โดยวางแค่หน้าปก แต่ไม่มีแผ่น ก็มีปัญหาที่ต้องตีความอีกว่า ปกเป็นวรรณกรรม และเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ เจ้าของสิทธิบางรายได้สิทธิ มาแต่ซอฟต์แวร์ แต่ไม่ได้สิทธิปกซีดี ก็เป็นปัญหาของผู้ปฏิบัติงานเหมือนกัน บางครั้งต้องใช้วิธีการล่อซื้อ แต่คนขาย มักรู้ทัน ต้องให้คนอื่นที่ไม่ใช่ตำรวจไป ล่อซื้อแทน
การทำงานของ ปศท.จะเน้นการสืบสวนไปที่องค์กรเอกชนที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่าผู้ใช้ทั่วไป เนื่องจากมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยในปี 2550 สามารถจับกุมได้ 80 บริษัท ปี 2551 จับกุมได้ 40 บริษัท ซึ่งปริมาณการจับกุมที่ลดลงนั้นหมายถึงบรรดาองค์กรบริษัทต่างๆ ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์น้อยลง
"ที่เราคิดว่าการละเมิดสิทธิน้อยลง เพราะกลุ่ม BSA (business software alliance) เปิดเผยว่า ดีลเลอร์ของเขามียอดขายมากขึ้น ทั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงจาก 80% มาอยู่ที่ 78% โดยปีนี้ตั้งเป้าว่าจะลดลงให้เหลือ 76%"
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็กำหนดให้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นวาระแห่งชาติ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนมาแล้ว
ในปี 2552 ปศท.ก็ตั้งเป้าว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทุกๆ เรื่องต้องลดลง โดยร่วมมือกับเจ้าของสิทธิในการตรวจค้นและจับกุม ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รายชื่อ ผู้กระทำผิดจากเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างเช่น BSA ก็ให้รายชื่อมาประมาณเดือนละ 5 บริษัท ทางเราก็จะขอหมายศาลและ ขอเข้าตรวจค้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยพลาด ค้นที่ไหนก็ไม่รอดสักราย
โดยกลุ่มซอฟต์แวร์ที่พบการละเมิดมากที่สุดคือ ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส เพราะเป็นโปรแกรมที่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจำเป็นต้องมี อันดับต่อมาเป็นโปรแกรมออฟฟิศ และอันดับ 3 เป็นซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการออกแบบ
อย่างไรก็ตามการจับกุมของ ปศท.ที่ผ่านมาไม่มีคดีใดที่ฟ้องไปถึงศาลแพ่ง เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์จะใช้วิธีเจรจาให้บริษัทผู้ละเมิดหันมาซื้อซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายแทน เมื่อตกลงกันได้ก็จะถอนแจ้งความ ยกเว้นบางกรณีที่เจ้าของซอฟต์แวร์ดำเนินการฟ้องศาลแพ่งด้วยตัวเอง
"ส่วนใหญ่ถ้าโดนจับแล้วจะเจรจายอมความกันทุกราย เพราะผู้ถูกจับเป็นองค์กรธุรกิจ ถ้าไม่ยอมความก็ทำธุรกิจต่อไม่ได้ เพราะของกลางคือคอมพิวเตอร์โดนอายัดไว้หมด ดังนั้นเขายอมจ่ายเงินซื้อซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายเพื่อให้ทำธุรกิจต่อไปได้"
พ.ต.อ.ศรายุทธทิ้งท้ายโดยฝากไปถึงองค์กรธุรกิจที่ยังใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายว่า ถ้าโดนจับจะไม่คุ้มกับธุรกิจที่เสียหายมากกว่าเงินที่ต้องจ่ายไปเพื่อซื้อซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นสู้จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์แก่คนที่พึงได้รับค่าลิขสิทธิ์น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
ที่มา: matichon.co.th