สัมภาษณ์
หลัง "ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" ประธานบอร์ดสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า คนเก่าต้องลาออก ตาม "มารยาท" ทางการเมืองจากการเปลี่ยนตัว รมว.ไอซีที ท่ามกลางกระแสขัดแย้งที่คนในและสมาคมต่างๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับ "ซิป้า" รู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร
ด้วยว่าตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ข่าวคราวความขัดแย้งระหว่างบอร์ดกับผู้บริหารระดับสูงของซิป้าหลุดรอดออกมาเป็นระยะ
ดังขนาดอดีตเจ้ากระทรวงไอซีที "มั่น พัธโนทัย" ถึงกับเคยเปรยว่า รุนแรงถึงขั้นเกือบต้องขึ้นโรงขึ้นศาล โดยเฉพาะประเด็นการประเมินผลงานผู้อำนวยการซิป้าคนปัจจุบัน ตามสัญญาจ้างที่ล่าช้ามานาน
ไม่รวมจดหมายเปิดผนึกร้องเรียนจากบรรดาสมาคมต่างๆ เกี่ยวกับความชัดเจนของนโยบายและความโปร่งใสในการใช้ งบประมาณ
"ประชาชาติธุรกิจ" ฉบับนี้มีโอกาสพูดคุยกับ "ดร.จีรศักดิ์ พงษ์พิษณุพิจิตร์" อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ประธานบอร์ดซิป้าคนใหม่
- ก่อนมานั่งตำแหน่งมองซิป้าอย่างไร
ให้บอกจริงๆ คงต้องบอกว่า ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งตรงนี้น่าจะชี้วัดอะไรได้หลายๆ อย่าง อาจเป็นเพราะหน่วยงานที่เพิ่งตั้งมาไม่นาน แต่ก็ดีเพราะเท่ากับเริ่มต้นทำงานให้แบบ zero base ปราศจากอคติใดๆ ทั้งนั้น
- มารับตำแหน่งได้อย่างไร
ทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีไอซีที (ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี) ทาบทามมา ก็มองว่าน่าจะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีช่วยผลักดันให้ซิป้าทำหน้าที่ได้ในระดับที่สร้างอิมแพ็กต์โดยรวมกับเศรษฐกิจได้ เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยยังไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตาม เป้าหมายที่วางไว้
เดิมรัฐบาลเคยตั้งเป้าว่าไทยจะเป็นฮับของอุตสาหกรรม 5 กลุ่ม ได้แก่อาหาร แฟชั่น รถยนต์ ไอที ซอฟต์แวร์ และ แอนิเมชั่นที่ผ่านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และแอนิเมชั่นยังเป็น
แค่ราคาคุย แต่มีศักยภาพจะพัฒนาให้ แข่งขันได้ จึงต้องการผลักดันให้ซิป้ามีบทบาทผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
เหมือนที่พูดถึงคอลเซ็นเตอร์แล้วทั่วโลกคิดถึงอินเดีย จริงๆ คนไทยมีศักยภาพ มีความละเอียดอ่อนโดยธรรมชาติที่ทำได้
- ตั้งเป้าไว้เมื่อไร
คงก่อนที่ผมจะตาย ตอนนี้อายุ 60 ปี ถ้าใน 3 ปีที่อยู่ในวาระคงลำบาก เพราะการผลักดันให้กลายเป็นฮับต้องใช้เวลา อย่างยานยนต์ใช้เวลากว่า 20 ปี แต่ไอทีและซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมที่วูบวาบ มีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาตลอด หากพัฒนาให้ถูกจุดจะกลายเป็นผู้นำได้ ถ้าไปแข่งแบบรวมๆ มันยาก เพราะตอนนี้ตลาดแคบลง คู่แข่งจากต่างประเทศก็รุกเข้ามาเยอะ
เราต้องเน้นในตลาดที่มีความถนัด อย่างแอนิเมชั่น หรือเกม โดยธรรมชาติคนไทยน่าจะทำได้ดีกว่า น่าจะสู้ได้ ถ้าเรามีคนเก่ง ไม่มีปัญหาในการทำงาน ค่าจ้างไม่แพง และคิดนอกกรอบของฝรั่งได้ มองว่าซิป้าน่าจะมีส่วนช่วยเข้าไปเป็นพ่อสื่อแม่สื่อระหว่างผู้ประกอบการแต่ละด้านเพื่อจับคู่ความต้องการให้ตรงกัน
- ไม่หนักใจที่ต้องทำงานในองค์กรที่มีความขัดแย้ง
เท่าที่ได้เริ่มทำงาน ถ้าจะให้บอกว่าไม่หนักใจเลย ก็คงพูดไม่จริง แต่ไม่ถึงกับถอดใจ เชื่อว่ารับมือได้ เพราะหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เคยเป็นบอร์ดมา ทุกที่ ปัญหาเยอะตลอด อย่างเอ็กซิมแบงก์ องค์การสะพานปลา ก็ต้องค่อยๆ แก้ไขกันไป เก็บกวาดให้เป็นระเบียบ เวลานี้ไม่ใช่เวลามาชี้ว่าใครผิด หรือหาคนรับผิดชอบ เป็นธรรมดาของการทำงานที่ต้องมีปัญหา ต้องพูดคุยกันทุกฝ่าย ตนเองก็เป็นนักแก้ปัญหา
- สิ่งแรกที่จะทำ คือ
มี 2 อย่าง คือต้องสร้างความเป็นเอกภาพในองค์กรขึ้นก่อน และต้องกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับของซิป้าให้ชัดเจน ที่ผ่านมาทราบว่าเอกชนหงุดหงิดในจุดนี้เหมือนกันที่ซิป้าตกลงว่าช่วยแต่ทำไม่ได้ เพราะไม่มีข้อบังคับรองรับ มีแต่มติบอร์ดบอกให้ทำได้ กลายเป็นบอร์ดต้องเป็นคนรับผิดชอบ พอจะลงมือจริงก็เกรงว่าจะเกิดปัญหา ก็เลยไม่ได้เริ่มจริงๆ
ในการประชุมบอร์ดครั้งแรกจึงได้เตรียมจัดทำข้อบังคับของซิป้า ว่าด้วยการบริหารโครงการความร่วมมือระหว่างซิป้ากับหน่วยงานอื่น และข้อบังคับเกี่ยวกับการให้ทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เพื่อให้เกิดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเรื่องการร่วมทุน ร่วมโครงการ ให้ทุนสนับสนุนเพื่อจัดการ งบประมาณราว 4-500 ล้านบาท ที่ซิป้าได้รับจากรัฐบาลในแต่ละปีให้ชัดเจน
การกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายสบายใจ คนทำงานก็สบายใจ บอร์ดเองก็ไม่อยากมีปัญหาหลังหมดวาระ เพราะติดคุกจริงๆ ยังไม่เลวร้ายเท่ากับติดคุกสังคม
- เรื่องการประเมินผลงาน ผอ.ซิป้าที่ล่าช้า
ตอนนี้อยากทำเรื่องเร่งด่วนก่อน คือเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับ การประเมิน ผลงานต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขณะนี้ก็ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาจ้างต่างๆ อยู่ ถ้าถามใจผมคงอยากให้มีการเริ่มประเมินได้ภายใน 3 เดือน แต่การประเมินต้องให้ทั้งคนประเมินและถูกประเมินยอมรับหลักเกณฑ์ ดูเหมือนผมเป็นคนประนีประนอม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎระเบียบด้วย ไม่ใช้ความรู้สึกเข้าไปตัดสิน
- ปัญหาการประสานงานกับองค์กรภายนอก
จากสายตามองว่าที่ผ่านมาการทำหน้าที่นี้ของซิป้าแค่พอผ่าน เป็นนักเรียนก็ได้แค่เกรด C โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นๆ มีหลายเรื่องที่ทำให้เอกชนหงุดหงิด เชื่อว่าข้อบังคับที่จะออกมาช่วยได้ส่วนหนึ่ง
ส่วนเรื่องการทำงานร่วมกับองค์กรสมาคมต่างๆ บอร์ดยังต้องการข้อมูลจากคนนอกที่อยู่ในอุตสาหกรรม เพราะยังไม่รู้อะไรมากนัก นโยบายที่จะให้ตัวแทนจากสมาคมหรือองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเป็นคณะอนุกรรมการก็ยังคงเดิม เพราะเชื่อว่าให้คนที่มีความรู้ความเข้าใจเข้ามาช่วยเป็นสิ่งที่ดี แต่ในระดับปฏิบัติการอาจต้องปรับเจตคติในการทำงาน คือต้องถือว่าทุกคนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในหรือนอกองค์กร ต้องช่วยกันผลักดันให้บรรลุผล
จะพยายามประสานความร่วมมือกระชับความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการมากขึ้น เพื่อให้รู้ความต้องการของแต่ละฝ่าย ให้ทุกคนเข้าใจว่าเรามาช่วยเหลือด้วยเจตนาดี ไม่มีนอกไม่มีใน โปร่งใส
- เรื่องธรรมาภิบาลในการทำงานล่ะ
เชื่อว่าเมื่อได้วางหลักเกณฑ์ ข้อบังคับชัดเจนแล้ว ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ขอรับการสนับสนุน ต่อไปจะอธิบายได้มีเป้าหมาย มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ปัญหาเรื่องการพิจารณาโครงการต่างๆ น่าจะดีขึ้น
- ซิป้าโดนฝ่ายการเมืองเข้ามาล้วงลูกดึงงบฯตลอดไม่รู้สึกกังวล
การเข้ามารับตำแหน่งนี้ อาจมองได้ว่าการเมืองส่งมา แต่โดยส่วนตัวไม่กังวลกับจุดนี้ เพราะบริสุทธิ์ใจ ตลอดเวลาที่ทำงานมาอะไรๆ ที่ออกสีเทาๆ ไม่เคยทำ ไปงานราชการค่าทางด่วนยังไม่เคยเบิก แม้ใครจะบอกว่า ทำได้ ไม่ผิด แต่ถ้าไม่เหมาะก็ไม่ควรทำ ผมคิดว่าบอร์ดนี้มียางอาย
- จะต้านแรงกดดันจากการเมืองได้หรือ
คิดว่าคุยกับฝ่ายการเมืองได้ว่า อะไรที่ไม่ควร ยอมให้ไม่ได้ หรืออะไรเป็นเรื่องงานที่มีเหตุผลที่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ผมคิดว่าต้านทานได้ เพราะไม่จำเป็นต้องมานั่งตำแหน่งนี้ ชีวิตก็มีความสุขดี ในชีวิตไม่เคยขอตำแหน่งใคร ฉะนั้นพร้อมที่จะยื่นใบลาออกได้ ที่ชัวร์ๆ คือผมไม่ยอมติดคุกตอนแก่
ที่มา: matichon.co.th