คอลัมน์ Click World
"อินเทล" ผู้ผลิตซีพียู เบอร์ 1 ของโลกตกลง ที่จะยอมความหลังจากถูกกล่าวหาว่าใช้วิธีขู่คุกคามและใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อหวังสกัดคู่แข่งทางการตลาด และโดนร้องเรียนว่าวิธีการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการผูกขาดทางการค้า ในตลาดโปรเซสเซอร์
เอเอฟพีรายงานว่า คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐ (Federal Trade Commission) หรือ FTC หน่วยงานของรัฐผู้ดูแลคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขัน ยอมรับข้อตกลงการยอมความกับบริษัท ผู้ผลิตโปรเซสเซอร์ "อินเทล" หลังจากกล่าวหาว่า "อินเทล" ปิดกั้นคู่แข่งอย่าง ไม่ถูกต้องบนสังเวียนการแข่งขันของตลาดหน่วยประมวลผล ซึ่งถือเป็นมันสมองสำคัญของการทำงานคอมพิวเตอร์ พร้อมระบุว่าอินเทลมีลักษณะคุกคามหรือให้รางวัลพิเศษกับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายหลัก เช่น เดลล์, ฮิวเลตต์-แพคการ์ด และไอบีเอ็ม เพื่อบีบไม่ให้แบรนด์ต่าง ๆ ซื้อชิป ที่ผลิตจากบริษัทคู่แข่ง
โดยอินเทลจะถูกห้ามไม่ให้เสนอผลประโยชน์หรือเงื่อนไขพิเศษใด ๆ เช่น การลดราคาสินค้า งบฯสนับสนุนด้านการตลาด และการสนับสนุนวิศวกรแก่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์เพื่อเลือกแลกสัญญากับการทำตลาดแบบเอ็กซ์คลูซีฟ หรือคู่ค้าจะต้องซื้อชิปจากอินเทลเพียงรายเดียวเท่านั้น และให้ปฏิเสธการซื้อชิปจากผู้ผลิตรายอื่น
นอกจากนี้ ภายใต้ข้อตกลงยังต้องการให้อินเทลเปลี่ยนแปลงหนังสือสัญญา ทรัพย์สินทางปัญญาของอินเทลที่ร่วมกับผู้ผลิตชิปรายอื่นประกอบด้วย บริษัท เอเอ็มดี, เอ็นวีเดีย (Nvidia) และเวีย (Via) เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ มีอิสระในการทำงานมากขึ้นในการพิจารณาควบรวมกิจการหรือร่วมทุนกับบริษัทอื่น ๆ โดยปราศจากการขู่เพื่อยื่นฟ้องดำเนินคดี ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรด้วย
ทั้งนี้ หลังจากมีข้อตกลงดังกล่าวแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ใน 30 วัน ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการในขั้นสุดท้าย
"จอน เลย์โบวิซ" ประธาน FTC กล่าวว่า กรณีดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่า FTC มีความท้าทายเพื่อจัดการต่อต้านการแข่งขัน แม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะมีอิทธิพลมากที่สุด และอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด โดยการยอมรับข้อตกลงครั้งนี้พวกเราจะเปิดประตูสู่การแข่งขันอีกครั้ง
"หากอินเทลฝ่าฝืนคำสั่งพวกเราจำเป็นต้องบังคับให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด และจะไม่ลังเลเลยที่จะสั่งปรับหากมีการฝ่าฝืน"
สืบเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 FTC ได้รับข้อร้องเรียนและพร้อมแรงกระตุ้นจากเอเอ็มดี และเอ็นวีเดียว่าการกระทำของอินเทลนั้นทำให้บริษัทของ พวกเขาเสียประโยชน์ โดยแคมเปญของ ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกปิดประตูคู่แข่งรายอื่น ๆ และตัดโอกาส ไม่ให้เข้าสู่การแข่งขันในตลาด ถือเป็น ความเสียหายให้กับผู้บริโภค ซึ่งในเวลานั้น FTC ยังกล่าวด้วยว่าอินเทลมีการจัดสรรงบฯค่าจ้างจำนวนหนึ่งเพื่อไม่ให้คู่แข่งสามารถแข่งขันได้เป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี
ทั้งนี้ ล่าสุดก็มีรายงานข่าวว่า "เดลล์" ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่จากสหรัฐยินยอมจ่ายเงิน 100 ล้านดอลลาร์เพื่อ ยุติคดีที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.สหรัฐยื่นฟ้องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 โดยกล่าวหาว่าเดลล์ฝ่าฝืนกฎหมายหลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึงการบิดเบือนรายงานทางการเงิน และการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับข้อตกลงที่ทำกับอินเทล โดยเดลล์ได้เงินก้อนโตจาก อินเทลเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่ว่าเดลล์จะไม่ใช้ชิปจากบริษัทเอเอ็มดี
ปัจจุบันอินเทลครองส่วนแบ่งตลาดไมโครโปรเซสเซอร์จำนวนกว่า 80% ของ ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ขณะที่เอเอ็มดีมีส่วนแบ่งประมาณ 18%
อย่างไรก็ตาม อินเทลระบุในแถลงการณ์ว่า "ข้อตกลงยอมความดังกล่าวอินเทล ไม่ได้สารภาพว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายใด ๆ หรือมีการยืนยันว่าข้อร้องทุกข์เป็นเรื่องจริง"
"โดวจ์ มีลาเมด" ผู้ช่วยประธานอาวุโส และที่ปรึกษากฎหมายทั่วไป ของบริษัท อินเทลกล่าวว่า ข้อตกลงครั้งนี้จะวางกรอบและอนุญาตให้อินเทลแข่งขันและจัดการสินค้าที่ดีที่สุดในราคาที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าของเรา และการยอมความทำให้เราหมดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและการฟ้องร้องของ FTC
"เรายังมีเสรีภาพในการแข่งขันอย่าง ต่อเนื่อง และเราคงจะไม่ยอมความ หากการยอมความนั้นกลับมาทำลาย ตัวเราเองในทางใดก็ตาม"
ที่ผ่านมาอินเทลใช้เวลาหลายปีในการเดินสายพบกับผู้ดูแลกฎระเบียบทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐ เพื่อต่อสู้กับข้อหาที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติที่เข้าข่ายต่อการผูกขาดการค้า โดยพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ผู้ควบคุมดูแลกฎแห่งสหภาพยุโรปสั่งปรับอินเทลเป็นมูลค่า 1.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในข้อหาใช้อำนาจการแข่งขันในทางที่ผิดของตลาดเซมิคอนดักเตอร์เพื่อบีบ เอเอ็มดีไม่ให้เข้าสู่ตลาด และปลายปี อินเทลต้องควักกระเป๋าจ่ายเงิน 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับเอเอ็มดีเพื่อให้เอเอ็มดียอมความ ไม่กล่าวหาว่าอินเทลผูกขาดทางการค้าด้วย
"แฮรี่ วอลิน" ที่ปรึกษากฎหมายทั่วไปจากเอเอ็มดีกล่าวว่า บริษัทรู้สึกยินดีกับการตกลงยอมความของอินเทลครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับการแข่งขันขึ้นมาอีกก้าวหนึ่ง ข้อกังวลสำคัญที่ยังเหลือคือ การใช้มาตรการลดราคาแบบ "ให้หมด หรือไม่ให้เลย" ของอินเทลนั้นเป็นการสกัดกั้นคู่แข่งรายอื่นเข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตามคำสั่งของ FTC มีข้อห้ามอย่างชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการใช้ที่ผิด และรับรองว่าจะมีการเฝ้าติดตาม การดำเนินการของอินเทลต่อไป
ที่มา: prachachat.net