Author Topic: ซิสโก้พร้อมขายเซิร์ฟเวอร์  (Read 915 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

       ซิสโก้ซิสเต็มส์ (Cisco Systems) เตรียมท้าทายอดีตพันธมิตรซี้ย่ำปึ้กอย่างเอชพี (Hewlett-Packard) และไอบีเอ็ม (IBM) ด้วยการประกาศพร้อมเปิดสายการผลิตคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์แบรนด์ตัวเอง เสริมแกร่งระบบประมวลผลข้อมูลไร้รอยต่อหรือ Unified Computing System (UCS) ของซิสโก้ให้ครบวงจร หลังจากครองเฉพาะตลาดเครือข่ายข้อมูลอย่างเดียวมานาน
       
       จอห์น ชามเบอร์ส (John Chambers) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารซิสโกเป็นผู้ประกาศรายละเอียดแผนการเข้าสู่สังเวียนเซิร์ฟเวอร์ ว่าการสร้างเบลดเซิร์ฟเวอร์ด้วยตัวเองของซิสโก้ในครั้งนี้คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบประมวลผลหนึ่งเดียวหรือ UCS ของค่าย ซึ่งจะจำหน่ายเป็นแพคเก็จบนจุดประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบศูนย์กลางข้อมูลหรือแพลตฟอร์มดาต้าเซ็นเตอร์ยุคหน้า ที่องค์กรจะสามารถใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง
       
       "เรามีความสนใจน้อยมากในตลาดผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์ แต่เราเดินตามรอยความคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้ระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวได้" สอดคล้องกับที่มาริโอ มาซโซลา (Mario Mazzola) รองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจเวอร์ซวลไลเซชันและเซอร์ฟเวอร์ของซิสโก้ ระบุว่าเพราะซิสโก้ต้องการสร้างระบบการทำงานเสมือนแบบครบวงจร ซิสโก้จึงตัดสินใจสร้างเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองขึ้นมา
       
       ที่ผ่านมา ซิสโก้นั้นเป็นที่รู้จักในฐานะผู้จำหน่ายอุปกรณ์เครือข่ายข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น เราเตอร์ และสวิตช์ สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ภายในองค์กร ซึ่งในขณะนี้ ซิสโก้ได้ร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft), แอคเซนเจอร์ (Accenture), วีเอ็มแวร์ (VMware), บีเอ็มซีซอฟต์แวร์ (BMC Software) และอีเอ็มซี (EMC) แล้ว เพื่อดำเนินตามนโยบาย UCS ให้ซอฟต์แวร์เหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้แบบเสมือน
       
       ซิสโก้ไม่ได้ระบุว่าจะเริ่มทำตลาดชุดระบบ UCS พร้อมเซิร์ฟเวอร์เมื่อใด แต่คุยฟุ้งว่าระบบการทำงานเสมือนในชุดแพคเก็จ UCS ครบวงจรของซิสโก้นั้นช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานศูนย์กลางข้อมูลลงราว 20 เปอร์เซ็นต์ และลดต้นทุนด้านการปฏิบัติการอีกราว 30 เปอร์เซ็นต์ จะมาในรูปเบลดหรือเซิร์ฟเวอร์ตัวบางที่ใช้ชิปอินเทล ซึ่งเอชพีครองตลาดเบอร์หนึ่ง และไอบีเอ็มครองตลาดเบอร์สอง
       
       แม้ซีอีโอซิสโก้จะให้สัมภาษณ์ต่อวอลล์สตรีทเจอร์นอลว่า ซิสโก้ไม่ได้หวังผลิตคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์มาแข่งขันกับเอชพีหรือไอบีเอ็ม แต่สื่อต่างประเทศเชื่อว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจะทำให้ซิสโก้และเอชพีจะเป็นทั้งมิตรและศัตรูในคราวเดียวกัน เนื่องจากเอชพีเองก็เริ่มไม่ได้ผลิตเฉพาะเซิร์ฟเวอร์ แต่ได้พัฒนาอุปกรณ์เครือข่ายเพื่อสร้างระบบ UCS แบบครบวงจรของตัวเองแล้วเช่นกันในชื่อ Adaptive Infrastructure
       
       ชามเบอร์สกล่าวด้วยว่าความเคลื่อนไหวเรื่องผลิตภัณฑ์ระบบ UCS ครบชุดนี้คือก้าวสำคัญที่สุดของซิสโก้นับตั้งแต่ซิสโก้เริ่มพ่วงผลิตภัณฑ์สวิตช์ลงในเราเตอร์ หลังจากบริษัทตัดสินใจควบรวมบริษัท Crescendo Communications ในปี 1993 เนื่องจากเป็นการตัดสินใจสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง ไม่ใช่การเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์จากการซื้อบริษัทอื่นๆอย่างที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
       
       นักวิเคราะห์ไอดีซีเชื่อว่า ซิสโก้ไม่ได้มุ่งหวังเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลก แต่จะเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่มากๆ เช่น ธนาคาร ภาครัฐ และบริษัทโทรคมนาคมที่ต้องการศูนย์กลางข้อมูลสำหรับเก็บบันทึก-เข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ต้องการความสามารถในการรันเว็บเพจขนาดใหญ่จำนวนมหาศาล หรือการส่งภาพยนตร์จำนวนมากไปรันบนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งการสำรวจพบว่าตลาดดังกล่าวมีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
       
       เอชพีไม่วายเกทับความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของซิสโก้ โดย Jim Ganthier รองประธานฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์สตอเรจและเซิร์ฟเวอร์องค์กร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเอพีว่า ภาพที่ซิสโก้เตรียมวาดไว้ในอนาคตนั้น เอชพีได้วาดเสร็จและพร้อมส่งมอบแล้วในวันนี้ แถมบอกว่าการสร้างเซิร์ฟเวอร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องประกอบด้วยความตั้งใจระยะยาวในการลงทุนเพื่อพัฒนาต่อเนื่อง
       
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)