สัมภาษณ์
กลุ่มบริษัทอินสเต็ปอาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นเคยของคนทั่วไป แต่ความน่าสนใจของบริษัทแห่งนี้คือ การเป็นบริษัทไอทีคนไทยที่สามารถพัฒนาสินค้าและบริการออกไปสู้กับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เรียกว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีอย่าง "ญี่ปุ่น" และวันนี้กำลังบุกเบิกตลาดอีบุ๊กที่กำลังมาแรง วันนี้ประชาชาติธุรกิจคุยกับ "ดร.วิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์" ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท อินสเต็ป จำกัด ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวและความเป็นไป
- กลุ่มอินสเต็ปทำอะไรบ้าง
กลุ่มอินสเต็ปมีทั้งหมด 6 บริษัท ประกอบด้วยบริษัท อินสเต็ป จำกัด บริษัท โจวิท จำกัด บริษัท อินโนวา ซอฟต์แวร์ จำกัด บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด บริษัท ดิจิคราฟท์ จำกัด บริษัท ไอแน๊กซ์ จำกัด ธุรกิจในกลุ่มมีตั้งแต่การพัฒนาระบบ CCTV ซอฟต์แวร์โซลูชั่น รวมถึงดิจิทัลคอนเทนต์ ขณะที่บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ดำเนินกิจการทางด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ในการออกแบบฮาร์ดแวร์และระบบฝังตัว (Embedded system)
ที่สำคัญคือ เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาของบริษัทเอง ซึ่งแต่ละปีบริษัทได้ใช้งบฯกว่า 30% เพื่อ R&D โดยเฉพาะ
- นโยบายธุรกิจคือ ใช้ R&D นำหน้า
เป้าหมายในการตั้งบริษัทตั้งแต่เมื่อ 13 ปีก่อน จะเป็นบริษัทที่ใช้งานวิจัยและพัฒนานำหน้าธุรกิจ เพราะเป็นนักวิจัยและเชื่อว่าสามารถสู้กับต่างประเทศได้ ซึ่งในปัจจุบันก็เห็นผลแล้วว่าทำได้จริง ๆ เช่น กรณีโจวิท เป็นบริษัทไทยเพียงรายเดียวที่พัฒนาระบบกล้อง CCTV สำหรับถ่ายภาพใต้ท้องรถเพื่อหาสิ่งผิดปกติได้อย่างครบวงจร หลังจากระบบ CCTV ของบริษัทเป็นที่ยอมรับในตลาดญี่ปุ่นมาแล้ว
เพราะเคยทำงานกับบริษัทในญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยเรียน เลยมั่นใจว่าทำได้ แรก ๆ ก็มีอุปสรรคจากคนรอบข้าง ไม่เข้าใจว่า R&D ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล แม้แต่ ลูกน้องก็ไม่มั่นใจว่าจะไปรอดไหม แต่โชคดีที่ตั้งบริษัทด้วยเงินของตัวเอง และเริ่มทำในสิ่งที่ทำได้ด้วยตัวเองก่อน คือรับออกแบบซอฟต์แวร์ให้กับลูกค้าญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้เงินกลับมาทันทีในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งบริษัท หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ สร้างทีม สร้างลูกน้อง ราว 3-4 ปี คนในบริษัทจึงยอมรับว่า โมเดลนี้มันใช่
เหตุที่คิดว่าจะต้องใช้ R&D นำ เพราะต้องการให้ผลิตภัณฑ์แตกต่างจากที่มีอยู่ในตลาด นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเริ่มทำตลาดที่ญี่ปุ่นก่อน เพราะเป็นตลาดที่ยอมรับของแปลก ของที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้า ญี่ปุ่นตีมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีได้ดี ยินดีจะจ่ายในราคาที่เหมาะสม ซึ่งมันเป็นราคาที่ดีมากสำหรับผู้ประกอบการไทย แตกต่างจากตลาดไทยที่เน้นการตีมูลค่าของแบรนด์เป็นหลัก
- บริษัทเริ่มจากการทำตลาดในญี่ปุ่น
ใช่ เพราะว่าตัวเองได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่น และมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นทำให้เห็นโอกาสและช่องทาง ขณะเดียวกันก็มีพันธมิตรที่ช่วยในการทำตลาดด้วย ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นจะเก่งในภาพรวมแต่ไม่ได้มีการลงลึกเฉพาะทางมากนักเนื่องจากค่าแรงแพง จึงนิยมจ้างเอาต์ซอร์ซ อาทิ งานด้านอิมเมจโปรเซสซิ่งซึ่งบริษัทเชี่ยวชาญ จึงเป็นช่องทางในการทำตลาดได้ แม้จะมีคนบอกว่า ญี่ปุ่นเจาะตลาดยาก ต้องรู้ธรรมเนียมธุรกิจ แต่ถ้ารักแล้วเขารักเลย โอกาสจะเปลี่ยนใจไปจ้างที่อื่นยาก
วัฒนธรรมที่จำเป็นในการทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ยาก ส่วนใหญ่คือสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว อาทิ การรักษาเวลา ทำงานเป็นระบบระเบียบ ไม่ยากสำหรับคนไทยเพราะส่วนใหญ่มีความยืดหยุ่นสูงและขยันทำงานอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันบริษัทก็หันมาขยายตลาดในเมืองมากขึ้น
- โอกาสของธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์
หลังจาก CCTV ติดตลาด เราก็เริ่มมองว่า อะไรคือสินค้าที่จำเป็นสำหรับสังคม มองข้ามชอตไปไกลจากข้าวปลาอาหาร ข้ามไปถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่จับต้องได้แบบที่เราทำอยู่ จนเห็นว่าสิ่งที่คนเริ่มบริโภคกันมากคือ ดิจิทัลคอนเทนต์ เพราะคนเริ่มเสพดาต้ากันเยอะขึ้น และอีก 10 ปีจะยิ่งเยอะมากขึ้น ซึ่งดิจิทัลคอนเทนต์ไม่ใช่แค่เกม หนัง เพลง แต่ยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอีบุ๊ก โซลูชั่นด้านสุขภาพ การแพทย์ หรือ e-Health จึงได้ตั้งบริษัท ดิจิคราฟท์ มาทำธุรกิจนี้โดยเฉพาะ
เทรนด์ตอนนี้อีบุ๊กเกิดและอยู่รอดได้อย่างแน่นอน เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถตอบสนองการใช้งานได้อย่างดี ไอแพด (iPad) เป็นจุดเปลี่ยน แม้ว่าแอปพลิเคชั่นจะธรรมดา แต่มีจุดเด่นที่เหมาะกับอีบุ๊ก คือหน้าจอใหญ่ ฟังก์ชั่นการใช้งานทำให้อ่านหนังสือได้ง่ายที่สุด มีระบบการส่งข้อมูลที่ดี สามารถซื้อหนังสือจากทั่วโลกได้ง่าย แม้ว่าจะมีอีบุ๊กในตลาดอยู่แล้ว แต่ไอแพดคือช่องทางเข้าสู่อีบุ๊กที่ครบวงจร ง่าย ๆ ทั้งร้านขายหนังสือและระบบจ่ายเงิน นี่คือช่องทางเข้าสู่แอปพลิเคชั่นที่หมายถึงรายได้และกำไร
- ได้รับงานด้านอีบุ๊กเยอะขึ้น
ถ้างานอีบุ๊กที่เป็นการเปลี่ยนจากกระดาษให้กลายเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์เฉย ๆ ถือว่าน้อยลง เพราะมันเป็นแค่งานทำตามคำสั่ง หรืองานบริการ ซึ่งเวลานี้ในตลาดมีสารพัดเครื่องมือมาช่วย สิ่งที่เป็นเทรนด์ตอนนี้ไม่ใช่แค่อีบุ๊กธรรมดา บริษัทจึงกำลังเริ่มธุรกิจด้วยการสร้างฟังก์ชั่นใหม่ อาทิ การทำอีบุ๊กที่หลาย ๆ คนช่วยกันเขียนได้ เป็นการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ให้คนอ่าน เข้ามามีส่วนร่วมได้ แม้ว่าโดยธรรมชาติของคนชอบอ่านหนังสือจะเน้นการเสพมากกว่าสร้าง ไม่ได้อยากจะมีส่วนร่วมอะไรมากนัก แต่การสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาจะสร้างสีสันและมีประโยชน์ในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ เป็นมาร์เก็ตติ้งเซอร์เวย์อย่างหนึ่ง
- เทรนด์ของอีบุ๊กจะไปอย่างไร
ในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เป็นที่นิยม และกำลังเดือดร้อน เพราะระบบนิเวศของร้านหนังสือญี่ปุ่นกำลังถูกทำลายด้วยการเข้ามาของ แอปสโตร์ของต่างชาติอย่างแอปเปิล เหมือนที่ร้านค้าปลีกในไทยเจอโลตัส คาร์ฟูร์บุก เพราะญี่ปุ่นไม่มีแอปสโตร์ของตัวเอง
ขณะที่ร้านออนไลน์ของแอปเปิลถูกควบคุมด้วยกฎหมายของสหรัฐอเมริกาทุกอย่างขายได้หมด กฎหมายของญี่ปุ่นไม่สามารถเข้าควบคุมได้เลย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาทั้งด้านวัฒนธรรม ความมั่นคง รวมถึงกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย เพราะเงินไหลออกไปนอกประเทศเกือบทั้งหมด และไทยเองก็กำลังจะซ้ำรอย เพราะปัจจุบันเริ่มมีหลายสำนักพิมพ์อยากจะทำอีบุ๊กของตัวเองแล้ว ซึ่งถ้าใช้ช่องทางขายบนแอปสโตร์ต้องจ่ายค่าส่วนแบ่งให้กับเขาราว 30% ทั้ง ๆ ที่เป็นงานที่คนไทยเขียนให้คนไทยอ่าน ซึ่งตอนนี้เท่าที่ทราบแอปสโตร์ก็เริ่มวางแผนขยายจะเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างจริงจังแล้ว
- ต้องแก้ปัญหายังไง
ประเทศไทยจึงควรมีแอปสโตร์ของเราเองได้แล้ว ซึ่งตนก็ได้หารือกับทางสมาคมต่าง ๆ แล้ว เพื่อให้เอกชนที่เป็นเดือดเป็นร้อนกับเรื่องนี้มารวมตัวกัน เพื่อให้รัฐบาลได้ทราบปัญหาและเข้ามาสนับสนุน โดยอาจเริ่มจากการรวมตัวของเอกชนก่อน แล้วค่อยให้รัฐมาสนับสนุน ซึ่งจากที่ได้คุยกับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็ยินดี เพราะจริง ๆ ทำได้ไม่ยาก ทางเทคนิคใช้เวลา 2-3 เดือนก็เสร็จ ตัวระบบจริง ๆ ก็ลงทุนไม่มาก แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐเพราะเกี่ยวกับระบบอีเพย์เมนต์และอีมันนี่
ที่ผ่านมาการให้บริการคอนเทนต์ต่าง ๆ ยังไม่โต เพราะยังต้องพึ่งพาผู้ให้บริการมือถือในการชำระเงิน ซึ่งต้องจ่ายส่วนแบ่งให้ค่ายมือถือราว 50% ต่างกับที่ญี่ปุ่นจ่ายกันแค่ 7-9% เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำธุรกิจใหม่ ๆ บนโลกออนไลน์
ระบบอีมันนี่ของญี่ปุ่นมีความแข็งแรงมาก เพราะเริ่มจากบัตรโดยสารของเจแปน เรียลเวย์ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น เป็นการพัฒนาจากที่ใช้เป็นบัตรโดยสารรถไฟกลายเป็นบัตรพรีเพดที่ใช้ซื้อสินค้าแทนเงินสดได้หลากหลาย
รัฐบาลไทยจึงควรจับมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเข้ามาดูแลการแลกเปลี่ยนอีมันนี่ เพราะปัจจุบันแต่ละรายต่างกำหนดค่าธรรมเนียมกันได้ตามสะดวก ส่งผลต่อสิทธิการเข้าถึงอีมันนี่ของประชาชน หากเป็นไปได้ก็ควรจะสร้างอีมันนี่กลางขึ้นมา โดยอาจจะใช้องค์กรรัฐที่มีอยู่อย่างทีโอทีหรือ กสทฯให้เข้ามามีบทบาท ไม่ใช่ปล่อยให้มีแต่ระบบอีมันนี่ของต่างชาติในการซื้อขายออนไลน์ของไทย
- ดิจิทัลคอนเทนต์ไทยขายได้ ?
ไทยมีจุดแข็งด้านคอนเทนต์ที่ดี ผู้ประกอบการไทยก็มีหัวสมัยใหม่ มีฝีมือในการประยุกต์ ตลาดโลกก็สนใจคอนเทนต์ของไทยไม่น้อย ถ้าเราทำตลาดให้เป็น
ขณะที่ตลาดในประเทศก็มีบางตลาดที่โลคอลคอนเทนต์ได้เปรียบ วัฒนธรรม ต่างชาติไม่เคยตีได้ อาทิ หนังสือพิมพ์ พฤติกรรมบางอย่างของไทย ฝรั่งก็ไม่เข้าใจ จึงมีไอเดียที่จะสร้างอุปกรณ์ดีไวซ์แบบไทย ๆ เพื่อรองรับการใช้งานของอีบุ๊ก เกม เอ็นเตอร์เทนเมนต์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานของไทย ตอนนี้ก็ได้เริ่ม R&D ไปบ้างแล้ว
- จะสู้กับไอแพดได้หรือ ?
เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างหนึ่ง และจริง ๆ แล้วต้องยอมรับว่า ยักษ์ใหญ่ไอทีของโลกมองตลาดไทยเล็กมาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างฟังก์ชั่นการใช้งานเพื่อซัพพอร์ตคนไทยโดยเฉพาะ ในราคาที่เหมาะสม ตรงนี้จึงเป็นช่องว่าง ถ้าเราสามารถผลิตฮาร์ดแวร์ที่ตอบโจทย์นี้ได้ ถ้าดีไวซ์ราคาถูกลง ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ดิจิทัลคอนเทนต์ก็จะเติบโตอีกมาก
ก่อนหน้านี้ มีแบรนด์ มีเงินก็ชนะได้ทุกอย่าง แต่เวลานี้ไม่ใช่ ต่อให้ใหญ่ ให้ดังก็อาจจะไม่ชนะ เพราะการเติบโตของแต่ละคนมีข้อจำกัด ปัจจุบันมีหลายวิธีที่ไม่ต้องใช้เงิน แค่มีอินฟอร์เมชั่นเป็นอาวุธ
เวลานี้คนอาจจะมองเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อจะลดลง แต่ความจริงมันไม่ได้แย่ขนาดไม่มีข้าวจะกิน ฉะนั้นบางครั้งความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ คนก็ยินดีจะจ่าย หากเป็นราคาที่เหมาะสม ธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัล คอนเทนต์จึงไม่น่าจะแย่ลง ซึ่งรายได้รวมของกลุ่มอินสเต็ปในปีนี้ประมาณ 200 ล้านบาท จากธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ราว 20% และคาดอีก 3 ปี จะแตะ 50%
ที่มา: prachachat.net