Author Topic: ยักษ์สื่อสารป่วน!ร่างสกัดต่างด้าว ห้ามผู้บริหารต่างชาตินั่งเก้าอี้คุมนโยบายทุกตำแหน่ง  (Read 734 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai

ยักษ์สื่อสารอลหม่าน หลัง "กทช." อนุมัติร่าง "ครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว" ห้ามต่างชาตินั่งเก้าอี้บริหารคุมนโยบายธุรกิจ จ่อคิวรอประชาพิจารณ์ปลายเดือน ส.ค.นี้ ทั้งประกาศรายชื่อผู้มีอำนาจเหนือตลาด พร้อมเดินหน้าเต็มตัวเตรียมงบฯ 50 ล้าน จัดประมูล 3G ขณะที่แผนเปิดบริการคงสิทธิเลขหมายมีสิทธิสะดุด ค่ายมือถือโอด อาจเปิดไม่ทัน 1 ก.ย. "ดีแทค" มึนตึ้บ โดน 2 เด้ง ติงไม่ส่งเสริมแข่งขันเสรีขัดแย้งนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเปิดตลาดดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน



ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานข่าวในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2553 ที่ผ่านมา กทช. มีมติรับร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. ... และได้นำร่างประกาศฯดังกล่าวเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ และเตรียมจัดรับฟังความเห็นแบบเฉพาะกลุ่มในวันที่ 20 ส.ค. 2553

ห้ามต่างชาตินั่งซีอีโอ-ซีเอฟโอ

นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร กรรมการ กทช. กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างดังกล่าวจะห้ามไม่ให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเกินกว่าสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่เพื่อป้องกันการใช้สิทธิแทนในฐานะนอมินี และห้ามไม่ให้ว่าจ้างหรือแต่งตั้งคนต่างชาติที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นที่เป็นคนต่างด้าวหรือตัวแทนในตำแหน่งสำคัญที่มีผลกับการกำหนดนโยบาย และการดำเนินงานของนิติบุคคล เช่น ประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าผู้บริหารด้าน การเงิน ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ เป็นต้น

"เราจะไม่ดูที่พฤติกรรมแล้วว่าครอบงำกิจการหรือแฝงตัวมาเป็นนอมินีหรือไม่ ร่างประกาศดังกล่าวห้ามไม่ให้ต่างชาติเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นซีอีโอ ซีเอฟโอ ผู้จัดการทั่วไป ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ นอกเหนือจากที่ห้ามไม่ให้ต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% ตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการของคนต่างด้าว"

นอกจากนี้ กทช.ยังประกาศรายชื่อผู้มีอำนาจเหนือตลาด หลังจากได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2552 ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยผู้มีอำนาจเหนือตลาด 5 ราย ได้แก่ ผู้มีอำนาจเหนือตลาดโทรศัพท์มือถือ คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส, บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ผู้มีอำนาจเหนือตลาดผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (อินเทอร์เน็ตเกตเวย์) คือ บมจ.กสท โทรคมนาคม ผู้มีอำนาจเหนือตลาดโทรศัพท์พื้นฐานและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง คือ บมจ.ทีโอที และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น



ผู้มีอำนาจเหนือตลาดมีหน้าที่ต้องทำบัญชีแยกต้นทุน ค่าใช้จ่ายในธุรกิจ ประกาศวิธีการให้ผู้อื่นเข้ามาใช้โครงข่ายของตนได้ รวมถึงทำรายงานแสดงราคา ขายส่งขายปลีกเพื่อไม่ให้เป็นการกีดกันผู้อื่นเข้ามาใช้โครงข่ายตัวเอง นอกจากนี้ยังมีมติอนุมัติร่างประกาศวิธีให้บริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วน เพื่อให้ทุกคนสามารถ เข้ามาใช้ได้ ที่ได้ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว เพื่อเตรียมประกาศใช้ต่อไป

ยักษ์สื่อสารอลหม่าน

ทั้งนี้ร่างประกาศการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวนั้น ในเบื้องต้นพบว่าทั้งเอไอเอสและดีแทคน่าจะมีปัญหาในเรื่องของผู้บริหารต่างชาติ อาทิ นายฮุย เวง ชอง ผู้บริหารจากสิงเทล ที่มานั่งตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ (COO) ขณะที่ดีแทค นายทอเร่ จอห์นเซ่น จากเทเลนอร์ ก็มานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร รวมถึงในตำแหน่งอื่นๆอีกหลายคน

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวถึงร่างประกาศครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวว่า ยังมีความกังวล เพราะยังมีความไม่ชัดเจน เนื่องจากระยะเวลาประชาพิจารณ์ใกล้เคียงกับการยื่นซองประมูล 3G ทำให้มีเวลาเตรียมไม่ทัน หากมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในข้อกำหนด แต่ขณะนี้ดีแทคยังไม่มีการเตรียมตัวอะไรใหม่ เพราะยังไม่เห็นร่างฯที่ชัดเจน ที่ผ่านมาดีแทคถูกตรวจสอบโดยกระทรวงพาณิชย์มาโดยตลอด และเป็นองค์กรภายใต้สัมปทานของ กสทฯมากว่า 20 ปีแล้ว และปฏิบัติตามข้อกำหนดของ กทช.มาตลอดจึงไม่น่าได้รับผลกระทบใด ๆ

หากมองในภาพรวมอุตสาหกรรมจะพบว่าสัญญาณจาก กทช.ขัดกับรัฐบาลที่ต้องการเปิดตลาดเสรี ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามา ทั้งมีการไปโรดโชว์ต่างประเทศเพื่อดึงต่างชาติเข้ามาประมูลใบอนุญาต 3G แต่เมื่อมีประเด็นการครอบงำกิจการของคนต่างด้าวเข้ามา น่าคิดว่าจะมีต่างชาติรายใดสนใจประมูลหรือไม่ บางรายอาจถอนตัว

"ถ้ากำหนดให้เป็นเฉพาะผู้ประกอบการในไทยก็จะมีผู้ประกอบการที่มีความสามารถเพียงไม่กี่รายเท่านั้น เพราะการลงทุน 3G ต้องใช้เงินลงทุนเยอะตอนนี้จึงยังสับสนและยังไม่ชัดเจน รวมถึงประเด็นที่ระบุว่า ซีอีโอ, ซีเอฟโอต้องเป็นคนไทยด้วย ร่างฯกำหนดว่า ต้องไม่มีพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว เรื่องนี้ยังขาดความชัดเจน และตนขอตั้งคำถามว่า ธุรกิจโทรคมนาคมจำเป็นต้องเป็นองค์กรของไทย 100% หรือไม่ เพราะประเทศไทยไม่เคยมี 3G มาก่อน บุคลากรด้านเทคนิคยังช้ากว่าประเทศอื่น ทั้งธุรกิจนี้ยังเป็นธุรกิจสากล จึงอยากให้มองข้ามประเด็นองค์กรไทยหรือต่างชาติ"

นายธนากล่าวถึงกรณีดีแทคอยู่ในรายชื่อผู้มีอำนาจเหนือตลาดโทรศัพท์มือถือนั้น ตนอยากทราบว่า กทช.ใช้หลักเกณฑ์ใดในการกำหนด เพราะดีแทคมีส่วนแบ่งการตลาด 30% ไม่ถึงตามที่ กทช.กำหนด จึงอยากขอคำชี้แจงว่า มีกฎพิเศษอย่างไร และสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง

"ถ้า กทช.บอกว่า หากผู้ประกอบการ ไม่เห็นด้วยหรือเห็นขัดแย้งให้ไปฟ้องศาลเอง ทางดีแทคก็จะขอดูผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อนว่าจะไปถึงขั้นศาลหรือไม่"

กทช.ยืนมตินัมเบอร์พอร์ต1ก.ย.

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability) กทช.ได้มีการหารือร่วมกับ เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ทีโอที และ กสทฯแล้ว โดยนายสุรนันท์เปิดเผยว่า เอกชนขอยืดเวลาเปิดให้บริการเป็น 1 ม.ค. 2554 โดยอ้างว่า การทดสอบระบบไม่ครบถ้วน แต่ กทช.ยืนยันมติเดิมที่จะให้เปิดบริการในวันที่ 1 ก.ย.นี้ เนื่องจากให้เวลาเตรียมตัวมา 1 ปีแล้ว ตั้งแต่ออกประกาศเรื่องการคงสิทธิเลขหมายเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2552 ที่ผ่านมา

"การทดสอบระบบขณะนี้รอให้แต่ละโอเปอเรเตอร์ติดตั้งเกตเวย์เพื่อเชื่อมต่อระบบเคลียริ่งทั้งหมดเข้าด้วยกัน เท่าที่ทราบการติดตั้งของแต่ละรายยังไม่สมบูรณ์ 100% ในอาทิตย์หน้าจะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้ภายใน ก.ย.นี้ โดยอาจเปิดให้บริการในบางพื้นที่ก่อน เพราะถ้าให้เสร็จ 100% อาจต้องเลื่อนไปถึง พ.ย.นี้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ให้บริการแต่ละรายลงทุนระบบเคลียริ่งเฮาส์ราว 30 ล้านบาท รวม 5 ราย 150 ล้านบาท"

เตรียม 50 ล้านจัดประมูล 3G

ขณะที่ความคืบหน้าในการดำเนินการเปิดให้ใบอนุญาตบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G นั้น พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช.เปิดเผยว่า ตามกำหนดผู้สนใจที่จะเข้าประมูลใบอนุญาต 3G ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมเอกสารหลักฐานทั้งหมดภายในวันที่ 30 ส.ค. 2553 โดยกระบวนการพิจารณาใบอนุญาตฯมี 2 ขั้นตอน 1.พิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก (Prequalifica tion) ซึ่งจะจ้างสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบคุณสมบัติมาเป็นผู้พิจารณา ได้แก่ ม.ธรรมศาสตร์, จุฬาฯ, นิด้า และหอการค้าไทย ส่วน ขั้นตอนที่ 2 เมื่อได้ผู้ผ่านการพิจารณาแล้วจะทำการประมูลใบอนุญาต ณ สถานที่ที่กำหนด คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วง 20-28 ก.ย. 2553

"เราเตรียมงบฯไว้สำหรับดำเนินการจัดการประมูลไว้ประมาณ 50 ล้านบาท ทั้งการจัดเตรียมสถานที่ประมูล การจัดการต่าง ๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ ขณะนี้ยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะใช้สถานที่ใดดำเนินการประมูล ส่วนเรื่องแผนโรดโชว์ที่ผ่านมาไปมาแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี มาเลเซีย และญี่ปุ่น ได้รับการตอบรับดีมาก โดยเฉพาะที่ประเทศมาเลเซีย บริษัทอันดับ 2 ของมาเลเซียแสดงความสนใจที่จะเข้าประมูล ล่าสุดยกเลิกไปโรดโชว์ที่ยุโรปแล้ว เพราะไม่มีใครคอนเฟิร์มกลับมา ตอนนี้กำลังรอการคอนเฟิร์มจาก UAE ถ้าไม่ตอบรับก็หมดแค่นี้"


ที่มา: prachachat.net


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)