รายงาน
โดย อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย) จำกัด และภูมิภาคอินโดจีน
เป็นเวลากว่า 25 ปี ที่บริษัทเดลล์ได้ก่อตั้งและเติบโตในธุรกิจไอทีมาจนถึงปัจจุบัน เดลล์ได้ก่อกำเนิดขึ้นจากพนักงานเพียงคนเดียว นั่นคือ "ไมเคิล เดลล์" ในหอพักนักศึกษาของเขา จนปัจจุบัน เดลล์ได้ขยายกิจการไปสู่ 169 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานรวมกันประมาณ 100,000 คน เริ่มต้นกิจการจากเงินลงทุนเพียง 1,000 เหรียญสหรัฐ จนปัจจุบันมีรายได้ต่อปีสูงถึง 6 หมื่นกว่าล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทในโลกนี้ ที่สามารถสร้างการเติบโตธุรกิจได้ขนาดนี้ ในเวลาเพียง 25 ปี
ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่ธุรกิจเติบโต สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่วัตถุประสงค์และเหตุผลในการมีอยู่ของบริษัทเดลล์ ซึ่งธุรกิจที่เติบโตเป็นผลสืบเนื่องมาจากสิ่งนั้นต่างหาก
และการเดินทางไม่ได้หยุดที่ความสำเร็จใน 25 ปีแรก ความท้าทาย คือทำอย่างไรองค์กรถึงจะเติบโตดีขึ้นในอีก 25 ปีต่อไป โดยเฉพาะธุรกิจไอทีซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเป็นธุรกิจที่มีพัฒนาการเร็วที่สุด
ถ้าย้อนไปดู 50 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคเมนเฟรม มาจนถึงยุคมินิคอมพิวเตอร์ยุคพีซี ซึ่งเป็นยุคที่เดลล์ถือกำเนิดขึ้นมา แล้วต่อด้วยยุคอินเทอร์เน็ต ในแต่ละยุคพบว่ามีบริษัทเกิดใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ๆ สู่ตลาด รวมถึงการล้มหายตายจากของบางบริษัท ที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทัน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
คำถาม คือตอนนี้ไอทีกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่ยุคอะไร และองค์กรจะต้องปรับตัวอย่างไร ในมุมมองของเดลล์ เราเรียกยุคใหม่นี้ว่า "ยุคแห่งเวอร์ชวล" หรือเสมือนจริง นั่นคือข้อมูล หรือทรัพยากรทางไอที จะอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่จะเชื่อมโยงกันเป็นเสมือนคลังข้อมูล และทรัพยากรทางไอทีขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าข้อมูลและทรัพยากรนั้น ๆ อยู่ที่ใหน แต่ผู้ใช้จะมีความต้องการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรนั้น ทุกเวลา ด้วยอุปกรณ์ที่หลากหลายและต้องการแบนด์วิดท์ขนาดใหญ่
นอกจากอุปกรณ์ไอทีมาตรฐานเช่น โน้ตบุ๊กหรือพีซีแล้ว สมาร์ทโฟนก็จะมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าถึงข้อมูล เมื่อข้อมูลมากขึ้น ความต้องการในการเข้าถึงข้อมูลมีมากขึ้น กำลังความสามารถของดาต้าเซ็นเตอร์ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เช่น สตอเรจก็จะขยายขึ้นอย่างมากมาย หรือ ที่เราเรียกว่าไฮเปอร์ สเกล ดาต้าเซ็นเตอร์ (Hyper Scale Datacenter) ซึ่งเป็นจุดพลิกสำคัญของเทคโนโลยีคลาวด์ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
เดลล์มองเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ และได้เตรียมองค์กร กำหนดทิศทาง กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปในยุคที่ถือว่ามีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง โดยวัตถุประสงค์ใหม่ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นแกนกลางของยุทธศาสตร์หลักที่จะ ขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งวัตถุประสงค์ใหม่นี้มี คีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ Thrive ซึ่งหมายถึง "การช่วยสนับสนุนให้บรรลุวัตถุประสงค์"
โดยเดลล์มองเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาว่าเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ หน่วยงานรัฐบาล ผู้ใช้ตามบ้าน นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มบี ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กรหรือบุคคลนั้น ๆ เช่นเราใช้เทคโนโลยี connected class room ช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าใจบทเรียนได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น ในขณะที่ครูผู้สอนมีเครื่องมือที่ดีในการสอน หรือระบบบริหารจัดการโรงพยาบาล เดลล์ช่วยทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ทำงานได้อย่าง มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีขึ้น
จากวัตถุประสงค์ใหม่นี้ ทำให้เดลล์ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลง เช่นการเข้าถึงข้อมูลแบบทุกที่ทุกเวลา เดลล์ได้พัฒนาสายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น สมาร์ทโฟน Dell Mini 3i ที่เปิดตัวแล้วในจีน บราซิล และบางประเทศในยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา หรือ Dell Mini 5i Tablet นอกเหนือจากโน้ตบุ๊กและพีซี
ในแง่ของโซลูชั่นทางธุรกิจ เดลล์ได้ ควบรวมกิจการกับบริษัท Perot System ผู้ให้บริการ ด้านไอทีเฮลท์แคร์ อันดับต้น ๆ ของโลก รวมถึงการซื้อบริษัท Equallogic ทำให้เดลล์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด สตอเรจบนเทคโนโลยีไอพี และเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีคลาวด์
นอกจากนี้ เดลล์ยังได้วางยุทธศาสตร์ในการเป็นผู้นำด้านอินเทอร์เน็ต โดยเตรียมความพร้อมโครงข่ายอีคอมเมิร์ซครอบคลุมถึง 166 ประเทศ รองรับถึง 34 ภาษา ซึ่งปัจจุบันเว็บไซต์ของเดลล์มีผู้เข้าเยี่ยมชมสูงถึง 1,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 หมื่นสามพันล้านเพจวิว และในปี 2009 เดลล์ยังเป็นผู้สนับสนุนการเติบโตของโซเชียล เน็ตเวิร์ก นอกจากจะมีเว็บไซต์ของเดลล์ ในการเปิดรับความคิดเห็น เดลล์ยังใช้ โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างกว้างขวาง รวมถึงจะมีโครงการใหม่ ๆ เช่น Design Studio ซึ่งจะสร้างประสบการณ์การช็อปออนไลน์อย่างไร้ขีดจำกัด โดยผู้ซื้อโน้ตบุ๊กในอนาคตสามารถสร้างหรือเลือกดีไซน์ของตัวเองได้
สำหรับในประเทศไทย ปีนี้เป็นปีที่ 12 ที่เดลล์ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยโดยส่วนตัวผมถือว่าเราก็ประสบความสำเร็จในแบบแผนเดียวกับบริษัทแม่ ซึ่งตัวผมได้มาร่วมงานกับเดลล์ในเจ็ดปีหลัง ธุรกิจโดยรวมเติบโตจากเมื่อเจ็ดปีที่แล้วถึง 7 เท่า โดยก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นอันดับต้น ๆ ในลูกค้ากลุ่มองค์กร และเติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มเอสเอ็มบี ส่วนในกลุ่มผู้ใช้ตามบ้านหรือโฮมยูส เดลล์เพิ่งจะเริ่มประมาณสองปีที่ผ่านมา ก็ได้ก้าวขึ้นมา เป็นผู้เล่นหนึ่งในห้า และคาดว่าจะสามารถเป็นผู้เล่นหนึ่งในสามในปีนี้
ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีโอกาสได้บริหารองค์กรมัลติเนชั่นแนล สิ่งที่ผมปรารถนาและพยายามทำมาตลอด ก็คือพยายามดึงเม็ดเงินการลงทุนเข้ามาในประเทศให้มากที่สุด และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้สามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับนานาชาติแบบภูมิภาคได้ ซึ่งเป้าหมายนั้นก็เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม
ปัจจุบัน ผมสามารถผลักดันให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางการบริหารภูมิภาค อินโดจีน ซึ่งครอบคลุมไปถึงประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา จากตรงนี้ ทำให้เราสามารถใช้บุคลากรของไทยในการบริหารกิจการของภูมิภาค และเกิดการ จ้างงานเพิ่มขึ้น
สำหรับทิศทางการทำตลาดของเดลล์ประเทศไทยในปีนี้ เรื่องหลัก ๆ สามเรื่องที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือเน้นการเติบโตของธุรกิจบริการ การขยายตลาดเอสเอ็มบี และขยายตลาดผู้ใช้ตามบ้าน
สำหรับธุรกิจบริการ เดลล์ได้นำเสนอการให้บริการเป็นที่ปรึกษาและออกแบบ สถาปัตยกรรมทางด้านโครงสร้างทางไอที (IT Infrastructure consulting services) ให้กับลูกค้าทั่วไป ตั้งแต่ระบบเน็ตเวิร์ก ดาต้าเซ็นเตอร์, ระบบสำรองและเรียกคืนข้อมูล เวอร์ชวลไลเซชั่น รวมไปถึงการให้บริการคลาวด์ และการให้บริการระบบไอทีเอาต์ซอร์ซิ่ง
หลักปรัชญาการบริหารของเดลล์ องค์กรจะเติบโตได้ นอกจากจะต้องมีวัตถุประสงค์ควบคู่ไปกับการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและวัฒนธรรมองค์กร (core value) ที่เข้มแข็งแล้ว ต้องมีกรอบการทำงานเป็นหลักในการยึดปฏิบัติ ภายใต้กรอบนี้ เดลล์ได้กำหนดองค์ประกอบที่สำคัญ 6 ประการที่จะขับเคลื่อนควบคู่กันไป ซึ่งจะหย่อนสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ประกอบด้วยลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า สังคม และโลกของเรา
การดำเนินธุรกิจใด ๆ นั้น เราไม่สามารถมองข้ามจุดใดจุดหนึ่งได้เลย ทุกสิ่งที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ ที่จะทำให้องค์กรของเราก้าวหน้าต่อไป
ที่มา: prachachat.net