Author Topic: กติกาเป็นธรรม-ใช้ประโยชน์ทั่วถึงโจทย์สำคัญของการก้าวเข้าสู่ยุค3จี  (Read 779 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


คมชัดลึก : ใกล้คลอดเต็มทีแล้ว สำหรับมิติใหม่แห่งการวงการโทรคมนาคมบนโครงข่าย 3 จีที่โอเปอเรเตอร์ทั้งหลายใฝ่ฝันถึง แม้จะยังอิดออดเรื่องค่าใบอนุญาตขั้นต่ำที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ตั้งไว้ที่ 1.28 หมื่นล้านบาทว่าแพงเกินไป แต่ก็ไม่มีรายไหนยอมถอย เพราะอย่างน้อย 3จี ก็คือความอยู่รอดหากยังคิดจะเดินบนถนนสายนี้

แต่หากถามในมุมมองความต้องการของผู้บริโภคแล้ว 3จี มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ยังคงเป็นประเด็นที่คลุมเครืออยู่ เพราะขนาดฝั่งโอเปอเรเตอร์เอง ก็ยังหวั่นๆ เรื่องไม่คุ้มทุน เมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ต้องลงทุนกับลูกค้าที่จะย้ายมาใช้บริการว่าจะมากน้อยขนาดไหน เพราะวันนี้คนไทยราว 80% ก็ยังใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อโทรออกและรับสายแต่เพียงเท่านั้น

 กทช.ย้ำเป็นธรรม-เอื้อผู้บริโภคได้

 ในมุมมองของ กทช. ในฐานะเป็นผู้คุมกฎ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และประธานคณะทำงาน 3จี ก็ยืนยันขันแข็ง ระหว่างร่วมงานสัมมนาเรื่อง “3.9จี มิติใหม่สื่อสารไทย ทางด่วนสู่ธุรกิจไฮสปีด” จัดโดย บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น ว่า กทช. พยายามร่างกฎเกณฑ์ไว้อย่างรอบด้านที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการออกกฎเกณฑ์ให้มีการยื่นแผนการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ก็เชื่อว่าเมื่อถึงวันที่เปิดให้บริการ 3จีจริง กลไกการแข่งขันที่เป็นธรรมก็จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคได้โดยอัตโนมัติ

 ส่วนเรื่องราคาที่ถูกบ่นว่าแพงนั้น พ.อ.นที ย้ำว่า ประกาศร่างหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาต 3จี ฉบับนี้ เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ราคาเริ่มต้นประมูล 1.28 หมื่นล้านบาทเป็นราคาที่เหมาะสม นักลงทุนต่างชาติที่ตนไปพบปะจากการโรดโชว์ไปยังประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็ไม่ได้มีคำถามเกี่ยวกับราคาเริ่มต้นประมูล ขณะที่สูตรการประมูล (เอ็น-1) หรือจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลลบด้วยหนึ่ง เป็นสูตรการประมูลที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และการให้ใบอนุญาตด้วยวิธีประมูลก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

 “ถ้ามองว่า 3จี เป็นการออกใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ ใบอนุญาตคงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่เนื่องจากใบอนุญาต 3จี เป็นสิ่งที่นำไปสู่การใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สาย ซึ่งเทคโนโลยี 3จี จะทำให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายถึง 80% ในระยะเวลา 4 ปี จากปัจจุบันที่มีคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพียง 10%” เป็นคำกล่าวของ พ.อ.นที เกี่ยวกับ 3จี ที่กทช. คาดหวังไว้ว่าจะให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด ด้วยกรอบข้อบังคับเรื่องการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากร 80% ให้ได้ภายใน 4 ปี เชื่อว่า จะเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนไทยให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้นนั่นเอง"

 ชี้ต้องให้รากหญ้าเข้าได้ด้วย

 สอดคล้องกับความเห็นของ นายโกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโทรคมนาคมฯ (TCT) ซึ่งเอ่ยถึง 3จี ว่ามีคุณประโยชน์มากมายแน่ หากว่ามีการนำมาใช้อย่างทั่วถึงจริง เพราะ 3จีไม่ใช่การให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานเพียงโทรออก-รับสาย แต่เป็นเทคโนโลยีที่ใช้รับ-ส่งข้อมูล เป็นมิติใหม่ของประเทศ แต่จะเป็นประโยชน์ในการใช้งานจริงหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะทำอย่างไรประชาชนถึงจะสามารถเข้าถึงบริการได้ทุกระดับ โดยเฉพาะรากหญ้า ที่มีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารน้อยกว่าชนชั้นกลางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 เพราะความพยายามที่จะทำให้มีการขยายโครงข่ายให้เข้าถึงประชากรให้ได้มากที่สุด ยังเป็นคนละเรื่องกับการสนับสนุนให้ประชากรสามารถใช้ประโยชน์จาก 3จีได้มากที่สุด โดยหากเปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนกับการลงทุนสร้างถนนซูเปอร์ไฮเวย์ด้วยเงินนับหมื่นนับแสนล้าน แต่ไม่มีคนเข้ามาใช้บริการ ไหนจะสู้ถนนลูกรังที่ใช้งานได้สะดวกและทั่วถึงมากกว่าได้ แม้จะขรุขระไปเสียหน่อยแต่ก็ใช้งานได้จริง

 โดยหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้งานได้จริงนั้น ย่อมต้องเป็นรถราที่จะเข้ามาวิ่งให้บริการบนถนน ซึ่งก็คือบรรดาผู้ผลิตคอนเทนท์ทั้งหลายนั่นเอง

 ในมุมมองของผู้ผลิตคอนเทนท์ประเภทเกมออนไลน์อย่าง นายปราโมทย์ สุดจิตพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอเชียซอฟต์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การมี 3จี นั้นจริงๆ แล้วไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเกมออนไลน์มากเท่าไหร่นัก เนื่องจากเกมออนไลน์ต้องการความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ตมากกว่าคอนเทนท์อื่นๆ เพราะสมมติว่าผู้เล่นแข่งขันกันอยู่นั้น การที่อินเทอร์เน็ตช้าไปเพียงวินาทีเดียวก็ส่งผลต่อการแพ้ชนะได้

 แต่หากมองในส่วนของภาพรวมที่ผู้ผลิตคอนเทนท์จะได้รับอานิสงส์จาก 3 จี นั้น นายปราโมทย์วิเคราะห์ว่า กลุ่มแรกคือผู้ผลิตคอนเทนท์ประเภทภาพและเสียง อาทิ วิดีโอออนไลน์ หรือ การถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างที่เรียกว่า ดิจิทัล มัลติมีเดีย บรอดแคสต์ (DMB) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศเกาหลี

 นอกจากนี้ ความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่จะเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้เรื่องของธุรกรรมการเงินบนมือถือ ทั้งแบงกิ้ง, ไฟแนนซ์ ตลอดจนช็อปปิ้งออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซอื่นๆ เป็นธุรกิจที่เติบโตสูงขึ้นมาก โดยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น

 ขณะที่ผู้ผลิตคอนเทนท์บันเทิงอย่างอาร์เอสซึ่งเป็นบริษัทบันเทิงรายแรกๆ ที่ขยับตัวเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์บิสิเนสนั้น นายอาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ผู้อำนวยการสายงานออนไลน์บิสิเนส บมจ.อาร์เอส เอ่ยว่าที่ผ่านมาอาร์เอสเองได้เตรียมพร้อมก้าวสู่ 3จี มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเตรียมพร้อมปรับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเริ่มจากการเปิดให้ดาวน์โหลดเพลงผ่านโทรศัพท์มือถือ ทั้งที่เป็นเอ็มพี3 และคอลลิ่งเมโลดี้ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่บริษัทแล้ว ยังเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องการจ่ายเงินซื้อสินค้าลิขสิทธิ์ได้ในอีกทางหนึ่งด้วย

 ในวันที่ 3จีเกิดขึ้นจริงนั้น อาร์เอสก็พร้อมที่จะเข้าลุยอย่างเต็มตัว เพราะ 3จีจะช่วยให้ธุรกิจง่ายขึ้น โดยสามารถเป็นได้ทั้งผู้ผลิตคอนเทนท์ เป็นทั้งมีเดีย แล้วยังเป็นมาร์เก็ตเพลสได้ด้วยตัวเอง

 ฉีกข้อจำกัดผู้ผลิตแอพพลิเคชั่น

 ส่วนมุมมองของเว็บไซต์ยอดนิยมของเมืองไทย อย่างกระปุกดอทคอมนั้น นายปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของเว็บไซต์ ได้วิเคราะห์สภาพตลาดหลังจากเปิดให้บริการ 3จี ว่า เมื่อผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านโทรศัพท์มือถือได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นนั้น จะเอื้อประโยชน์อย่างมากต่อผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่จะเปิดกว้างในการสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องมีข้อจำกัดเรื่องสปีดมากำหนด ซึ่งการขยายจำนวนผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นบนมือถือนั้น ก็จะทำให้มีการพัฒนาโปรแกรมที่เป็นประโยชน์มากขึ้น เช่น โปรแกรมสำหรับคนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสทางด้านอื่นๆ เป็นต้น

 เจ้าของเว็บกระปุกดอทคอม ก็ยังกล่าวอีกว่า ทว่าภาพการเติบโตที่จะได้เห็นอย่างสมบูรณ์นั้น คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน เพราะหากดูจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี กว่าที่จะสามารถย้ายลูกค้าจาก 2จี มาใช้บริการ 3 จีได้ ซึ่งก็ต้องกลับมาที่ตัวแปรสำคัญของการเข้าถึงผู้บริโภคได้จริง คือ เรื่องของ "ราคา" ที่ควรจะอยู่ในเกณฑ์ที่คนทั่วไปสามารถจ่ายไหว

 ตรงกับความกังวลของเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ซึ่งเป็นห่วงในเรื่องราคาการให้บริการที่อาจจะแพงเกินไป โดยมองว่า กติกาเรื่องราคาก็ควรจะต้องมีความชัดเจน โดยน่าจะกำหนดราคาสูงสุดที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น VOICE ต้องไม่เกิน 50 สตางค์ เป็นต้น นอกจากนี้ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังได้เสนอแนะให้ กทช. ปรับกฎเกณฑ์เรื่องการให้บริการที่ครอบคลุม โดยควรจะระบุพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น โรงพยาบาลประจำ หรือส่วนราชการสำคัญๆ ประจำอำเภอ หรือแม้กระทั่งการระบุเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ด้อยโอกาส เช่นคนพิการ หรือคนที่อยู่ในที่ห่างไกล เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

 และนี่คือภารกิจสำคัญนับจากนี้ ของ กทช. ที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมกฎเกณฑ์ กติกาให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในเชิงธุรกิจ กับ การผลักดันให้ 3จี มีการใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงได้จริง ไม่ได้เป็นแค่คลื่นความถี่ที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่ขาดการใช้สอย

ที่มา: komchadluek.net


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)