"ข้อจำกัดของซิป้าวันนี้ คือไม่มีกฏระเบียบข้อปฏิบัติที่ชัดเจนทำให้คนในหน่วยงานเข้าใจไปคนละเรื่องคนทำตัวไม่ถูกถ้าให้คะแนนซิป้าวันนี้ผมให้แค่C"
ความเห็นอย่างตรงไป ตรงมาของ นาย"จีรศักดิ์ พงษ์พิษณุพิจิตร์" ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า เจ้าของทุนร็อคกี้ เฟลเลอร์ ด็อกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ก้าวเข้าร่วมงานกับ "ซิป้า" เป็นครั้งแรก โดยไม่ได้รู้จัก มักคุ้นกับหน่วยงานแห่งนี้มาก่อน
ปั้นซอฟต์แวร์ระดับชาติ
"ได้รับการทามทาบจากรัฐมนตรีไอซีที ก่อนมาก็ไม่ได้รู้จักซิป้ามาก่อน แต่ไม่กังวลว่าจะไม่สามารถเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่นี่ได้ ก็ต้องใช้เวลาศึกษา ให้มันเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ผมเชื่อว่า คนในหน่วยงานนี้ทุกคนมีเจตนาดี ที่สำคัญผมมองว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์บ้านเรามีศักยภาพ แต่ก็มีคำถามว่า มันไม่มีการวัดผลที่ชัดเจน คือ ซอฟต์แวร์บ้านเรายังไม่กระทบไปถึงระดับชาติ นี่เป็นหนึ่งในภารกิจที่ผมต้องทำ"
นายจีรศักดิ์ บอกว่า ไม่หนักใจในภาพความขัดแย้งภายในที่เหมือนเป็นภาพลักษณ์ของ "ซิป้า" เพราะด้วยประสบการณ์ที่อยู่ในระบบงานกว่า 10 ปี เขาไม่เคยมีปัญหากับใคร
"ผมคิดดี ทำดี และเจตนาดี เป็นจุดเริ่มต้น ปัญหาขัดแย้งในซิป้าจะต้องไม่มี หรือมีก็น้อยมาก เราไม่น่าจะสร้างปัญหาให้ใคร หรือเขามาแล้วทำให้ปัญหามันรุนแรงขึ้น สำหรับผมปัญหามีไว้ให้แก้ เราต้องพยายามเข้าใจทุกๆ ฝ่ายอย่างมองแต่ในมุมของตัวเอง"
แนะมองตลาดให้กว้างขึ้น
นายจีรศักดิ์ ให้มุมมองของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยว่า หากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ซอฟต์แวร์ถือว่ามีความไดนามิกมากกว่า ที่ผ่านมาถือว่าไทยเดินมาถูกทางแล้ว เหลือแต่การ "พลิก" ทำแจคพ็อตให้เร็วขึ้น หากทำได้ซอฟต์แวร์ไทยก็จะสร้างเงินให้ประเทศได้
"เรามีคู่แข่งเยอะในภูมิภาคนี้ ตลาดโลกก็แคบลง เราต้องมองคู่แข่งให้กว้างขึ้น เราอาจกำหนดว่าไทยจะเป็นที่ 1 ด้านซอฟต์แวร์ของอาเซียน แล้วนอกอาเซียนล่ะ เขาก็กำลังจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในอาเซียนไป ดังนั้นเราต้องมองตลาดให้กว้างขึ้นไม่ใช่มองแต่อาเซียน"
เมื่อถามว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยอยู่ตรงไหน ประธานซิป้าคนใหม่ บอกว่า
"คนไทยเวลาพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ใหญ่โต แต่พอจะขยายไปสู่ระดับโลกก็เกิดปัญหา เรามันประเภทชอบแบบตีหัวเข้าบ้าน ก็เลยไปได้ไม่ไกลสักที"
วางกรอบการใช้งบใหม่
ประธานซิป้า รวมถึงบอร์ดชุดใหม่ ได้ประชุมนัดแรกไปแล้ว ผ่านความเห็นชอบ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ ระเบียบข้อบังคับสำนักงานว่าด้วงยการบริหารโครงการตามความร่วมมือระหว่างซิป้า และหน่วยงานอื่น รวมถึงข้อบังคับว่าด้วยการให้ทุน และสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ซิป้ากำหนดแนวทางใหม่ 3 ข้อ ได้แก่ 1.การร่วมทุนกับเอกชน 2.การร่วมโครงการกับเอกชน และ 3. การให้การสนับสนุนโครงการของเอกชนลักษณะเงินให้เปล่า
การร่วมทุนกับเอกชน จะเป็นการร่วมทุนในเชิงลึก ซิป้าจะให้เงินทุนแก่โครงการของเอกชนที่น่าสนใจ กำหนดไว้โครงการละไม่เกิน 2 ล้านบาท จากเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ 30 ล้านบาทต่อปี
ส่วนการร่วมโครงการกับเอกชน จะไม่เป็นการร่วมทุน แต่หากเอกชนมีโครงการที่ดีและต้องการให้ซิป้าช่วยสนับสนุนให้โครงการมีอนาคต ก็คุยกันได้ โดยกำหนดไว้โครงการละไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนแนวทางการสนับสนุนแบบเงินให้เปล่า จะเป็นการให้ทุนวิจัย ศึกษาดูงานต่างๆ ซึ่งทางผู้ประกอบการจะเป็นฝ่ายเสนอมา
“หากเรามีข้อกำหนดทั้ง 3 แนวทางไว้เช่นนี้ ก็จะทำให้การดำเนินงานสนับสนุนอุตฯ ซอฟต์แวร์ของซิป้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และการใช้เงินงบประมาณก็จะมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้"
ปี 2552 นี้ ซิป้า ได้รับงบประมาณประจำปี 500 ล้านบาท แต่ปี 2551 ยังมีเงินงบประมาณที่เหลือกว่า 400 ล้านบาท และยังไม่ได้นำไปใช้ เมื่อมารวมกับงบประมาณของปีนี้ทำให้ซิป้ามีงบสำหรับปี 2552 ทั้งสิ้น 900 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังไม่ได้กำหนดอย่างแน่ชัดว่าเงิน 900 ล้านบาทจะใช้ในโครงการใดบ้าง เพราะยังต้องประชุมบอร์ด เพื่อรวบรวมข้อมูล รวมถึงโครงการที่เคยทำไว้ของซิป้ามาเพื่อดูว่า จะดำเนินการต่อ หรือจะพัฒนาต่อยอดได้อย่างไร โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนรวบรวมข้อมูล
หนุนแอนิเมชั่น+เกม
"แต่ในกลุ่มซอฟต์แวร์ที่เรามองไว้ว่าจะต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และเป็นเชิงลึกมากขึ้น คือ ด้านแอนิเมชั่น และเกม เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่เราทำได้ดีที่สุด โดยสัปดาห์นี้จะคุยกับทางกันตนา เพื่อหาแนวทางการสนับสนุนแอนิเมชั่นก้านกล้วยร่วมกัน รวมถึงโครงการแอนิเมชั่นรายอื่นๆ”
นายจีรศักดิ์ ให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันมีทีมงานของ "สตีเว่น สปีลเบิร์ก" ส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมทีมกับ มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล (ท่านมุ้ย) ซึ่งซิป้าก็จะส่งทีมงานเข้าไปร่วมสังเกตการณ์และร่วมพูดคุยเพื่อประสานการทำงานร่วมกันในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ ยังมีโปรเจคใหญ่ที่ซิป้าจะทำปีนี้ให้เป็นรูปธรรม คือ การทำซอฟต์แวร์อีอาร์พีแห่งชาติ กำลังเจรจากับเอทีเอสไอ ซึ่งหากสำเร็จจะสามารถแจกซอฟต์แวร์ฟรีให้เอสเอ็มอีได้ใช้มากกว่า 1 ล้านราย ขณะเดียวกัน ก็มีแนวคิดเรื่อง "เอาท์ซอร์สแห่งชาติ" ที่จะมีแผนกำหนดการทำงานต่อไปด้วย ซึ่งต่อไปซิป้าอาจต้องตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เฉพาะแต่ละด้านไปเลย เพื่อความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพ
"เราต้องทำซอฟต์แวร์เราให้ก้าวไปสู่ระดับโลกเหมือนกับอินเดีย ที่เขาสามารถทำให้ทั่วโลกนึกถึงเขาหากพูดถึงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ถามว่าผมจะทำได้เมื่อไหร่ ก็อยากเห็นก่อนผมเสียชีวิต" ประธานซิป้าว่า
ที่มา: bangkokbiznews.com