Author Topic: ตรวจโรคเกาต์ (Gout)  (Read 84 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

ตรวจโรคเกาต์ (Gout)
« on: October 29, 2024, 01:32:29 PM »

Offline siritidaporn

  • Pro Member
  • *
  • Posts: 776
  • Karma: +0/-0

ตรวจโรคเกาต์ (Gout)

โรคเกาต์ เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้ประมาณ 2-4 คนใน 1,000 คน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 9-10 เท่า ส่วนมากจะพบในผู้ชายอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงพบได้น้อย ถ้าพบมักจะเป็นหลังวัยหมดประจำเดือน

สาเหตุ

ส่วนมากมีสาเหตุจากร่างกายสร้างกรดยูริก* มากเกินไป เนื่องจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ จึงมักพบมีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย

ส่วนน้อยอาจมีสาเหตุจากร่างกายมีการสลายตัวของเซลล์มากเกินไป (เช่น โรคธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว การใช้ยารักษามะเร็งหรือฉายรังสี เป็นต้น) อาจเกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลง (เช่น ภาวะไตวาย ตะกั่วเป็นพิษ)

ความอ้วน/ภาวะน้ำหนักเกิน การดื่มแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะเบียร์) การกินอาหารที่ให้กรดยูริกสูง การได้รับบาดเจ็บที่ข้อกระดูก การใช้ยา เช่น ไทอาไซด์ แอสไพริน ไซโคลสปอริน (cyclosporin) เลโวโดพา (levodopa) ยาลดความดันกลุ่มต้านเอซ (ACE inhibitors เช่น อีนาลาพริล) และกลุ่มเออาร์บี (ARB เช่น วาลซาร์แทน) อาจกระตุ้นให้อาการกำเริบได้

นอกจากนี้ โรคนี้อาจพบร่วมกับโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ กลุ่มอาการเมตาบอลิก ไตวาย เป็นต้น

*กรดยูริก เป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นผลมาจากการเผาผลาญสารเพียวรีน (purine ซึ่งมีมากในเครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก เนื้อแดง อาหารทะเล ยีสต์ พืชผักหน่ออ่อนหรือยอดอ่อน) และการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเลือดของคนเรา และจะถูกขับออกทางไต แต่ถ้าหากว่าร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไป หรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ก็จะทำให้มีกรดยูริกคั่งอยู่ในร่างกายมากผิดปกติ ซึ่งจะตกผนึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไตและอวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่าง ๆ

อาการ

มีอาการปวดข้อรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกมักจะเป็นเพียงข้อเดียว ข้อที่พบมาก ได้แก่ นิ้วหัวแม่เท้า (ส่วนข้อเท้า ข้อเข่า ก็อาจพบในผู้ป่วยบางราย) ข้อจะบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะตึง ร้อนและแดง และจะพบลักษณะจำเพาะ คือ ขณะที่อาการเริ่มทุเลา ผิวหนังในบริเวณที่ปวดนั้นจะลอกและคัน

ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปวดตอนกลางคืน และมักจะเป็นหลังดื่มแอลกอฮอล์ (ทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง) หรือหลังกินเลี้ยง หรือกินอาหารมากผิดปกติ หรือเดินสะดุด บางครั้งอาจมีอาการขณะมีภาวะเครียดทางจิตใจ เป็นโรคติดเชื้อ หรือได้รับการผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่น

บางครั้งอาจมีไข้ หนาวสั่น ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

ในการปวดข้อครั้งแรก มักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน แม้จะไม่ได้รับการรักษาก็จะค่อย ๆ หายไปได้เอง

ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ในระยะแรก ๆ อาจกำเริบทุก 1-2 ปี โดยเป็นที่ข้อเดิม แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ทุก 4-6 เดือน แล้วเป็นทุก 2-3 เดือน จนกระทั่งทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้ง และระยะการปวดจะนานวันขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกลายเป็น 7-14 วัน จนกระทั่งหลายสัปดาห์หรือปวดตลอดเวลา ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น 2-3 ข้อ (เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า) จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อ

ในระยะหลัง เมื่อข้ออักเสบหลายข้อ ผู้ป่วยมักสังเกตว่ามีปุ่มก้อนขึ้นที่บริเวณที่เคยอักเสบบ่อย ๆ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า รวมทั้งที่หู เรียกว่า ตุ่มโทฟัส (tophus/tophi) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของสารยูริก ปุ่มก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งแตกออกมีสารขาว ๆ คล้ายชอล์กหรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า ในที่สุดข้อต่าง ๆ จะค่อย ๆ พิการและใช้งานไม่ได้

ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะข้อพิการ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (พบได้ประมาณร้อยละ 25) ซึ่งอาจทำให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อนตามมาได้

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคเกาต์มักมีโอกาสเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากกว่าคนปกติ (สันนิษฐานว่าอาจมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ของโรคเหล่านี้ร่วมกับโรคเกาต์) และถ้าหากไม่ได้ควบคุมโรคเหล่านี้ ในที่สุดก็อาจกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคในหลอดเลือดสมองตีบและไตวายได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งจะตรวจพบข้อที่ปวดมีลักษณะบวมแดงร้อน อาจมีไข้ร่วมด้วย บางรายอาจมีตุ่มโทฟัส

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้ชัดเจนโดยการเจาะเลือดหาระดับของกรดยูริกในเลือด (ค่าปกติเท่ากับ 3-7 มก./ดล.) ถ้าผลการตรวจไม่ชัดเจน อาจต้องทำการเจาะดูดน้ำจากข้อที่อักเสบไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเป็นเกาต์จะพบผลึกของยูเรต นอกจากนี้อาจต้องตรวจพิเศษอื่น ๆ ถ้าจำเป็น

การรักษาโดยแพทย์

ในรายที่มีอาการข้ออักเสบ แพทย์จะให้ยาลดข้ออักเสบ เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือคอลชิซีน ถ้าไม่ได้ผลอาจให้สเตียรอยด์

ในรายที่เป็นเกาต์เรื้อรัง แพทย์จะให้คอลชิซีนกินเป็นประจำ เพื่อป้องกันมิให้ข้ออักเสบกำเริบ

ที่สำคัญ ผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาลดกรดยูริก* เป็นประจำ เพื่อควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งมักจะให้เมื่ออาการข้ออักเสบทุเลาแล้ว ยาลดกรดยูริกมีให้เลือกใช้อยู่ 2 ชนิด ได้แก่

    ยาลดการสร้างกรดยูริก เช่น ยาเม็ดอัลโลพูรินอล (allopurinol) ซึ่งแพทย์นิยมใช้ยาชนิดนี้เป็นอันดับแรก ยานี้อาจทำให้เกิดการแพ้รุนแรงได้ (ถ้ากินแล้วมีอาการผื่นคัน หรือพุพองตามตัว ควรหยุดยาทันที) และอาจทำให้ตับอักเสบได้
    ยาขับกรดยูริก เช่น ยาเม็ดโพรเบเนซิด (probenecid) ซึ่งแพทย์จะใช้เมื่อใช้อัลโลพูรินอลไม่ได้ ผู้ป่วยที่กินยานี้ ควรดื่มน้ำประมาณวันละ 3 ลิตร เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วไต เนื่องจากการตกตะกอนของกรดยูริก ยานี้ห้ามใช้ในผู้ที่มีนิ่วไตหรือภาวะไตวาย

แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาลดกรดยูริกเป็นประจำทุกวันไปจนตลอดชีวิต จะช่วยให้สารยูริกที่สะสมตามข้อและอวัยวะต่าง ๆ ละลายหายไปได้ รวมทั้งตุ่มโทฟัสจะยุบหายไปในที่สุด ผู้ป่วยที่ใช้ยาลดกรดยูริกก็ไม่จำเป็นต้องงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์อย่างเคร่งครัด สามารถกินอาหารได้ทุกชนิดในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดของยาที่ใช้

ผู้ป่วยจำเป็นต้องไปรับการตรวจหาระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ ๆ แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพื่อติดตามดูว่าระดับกรดยูริกในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่

ผลการรักษา ถ้าได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์และรู้จักดูแลตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะสามารถควบคุมโรคและป้องกันภาวะแทรกซ้อน มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาวได้ แต่ถ้าปล่อยปละละเลยหรือไม่ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ ก็มักมีภาวะแทรกซ้อนตามมาในที่สุด มีความยุ่งยากในการดูแลรักษา สูญเสียคุณภาพชีวิต และอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ข้อควรปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย

    ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 3 ลิตร เพื่อป้องกันนิ่วไต
    ถ้าอ้วน ควรลดน้ำหนักลงทีละน้อย อย่าลดฮวบฮาบ อาจทำให้มีการสลายตัวของเซลล์รวดเร็ว และมีการสร้างกรดยูริก ทำให้ข้ออักเสบกำเริบได้
    ควรงดแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบียร์
    ควรระวังอย่าให้ข้อกระดูกได้รับบาดเจ็บ
    หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจทำให้โรคกำเริบ เช่น แอสไพริน ไทอาไซด์
    หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้กรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา ปลาซาร์ดีน ปลาแฮริง หอย กะปิ น้ำสกัดเนื้อ น้ำต้มกระดูก อาหารที่ใส่ยีสต์ (ขนมปัง เบียร์) ชะอม กระถิน ยอดแค ดอกสะเดา สาหร่าย ยอดผัก เป็นต้น

ส่วนอาหารที่ให้กรดยูริกปานกลาง ซึ่งผู้ป่วยควรกินได้ พอประมาณอย่าซ้ำบ่อย เช่น เป็ด ไก่ ปลา เนื้อสัตว์ ถั่ว เห็ด ปลาหมึก ปู หน่อไม้ ดอกกะหล่ำ ผักขม ผักปวยเล้ง สะตอ

อาหารที่ให้ยูริกต่ำซึ่งผู้ป่วยกินได้ไม่จำกัด เช่น ธัญพืช ผลไม้ทุกชนิด ผัก (ที่ไม่ใช่ยอดอ่อน) หัวกะหล่ำ ไข่ เต้าหู้ นมพร่องไขมัน โยเกิร์ต เนย ข้าว แป้ง ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ช็อกโกแลต ชา กาแฟ

ผู้ป่วยควรสังเกตว่า อาหารประเภทใดกินแล้วสามารถควบคุมกรดยูริกในเลือดได้ดี ก็ให้เลือกกินอาหารประเภทเหล่านั้น อาหารประเภทใดทำให้โรคกำเริบก็ควรหลีกเลี่ยง

*ควรรอให้ข้อหายอักเสบก่อน จึงเริ่มให้ยาลดกรดยูริก (หรือปรับเพิ่มขนาดในรายที่เคยได้รับยานี้อยู่ก่อนแล้ว) เนื่องเพราะการลดหรือเพิ่มกรดยูริกในเลือดทันทีจะกระตุ้นให้ข้ออักเสบมากขึ้นหรือนานขึ้นได้

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบบวมแดงร้อน ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเกาต์ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา ตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ (ดู "ข้อควรปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย")

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    กินยาแล้วไม่ทุเลา หรือมีไข้ หรือข้ออักเสบกำเริบ
    ขาดยาหรือยาหาย
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ (เช่น มีประวัติโรคเกาต์ในครอบครัว) หรือเคยมีอาการของโรคนี้กำเริบมาก่อน ควรป้องกันไม่ให้โรคกำเริบโดยการปฏิบัติตัวตาม "ข้อควรปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย (โรคเกาต์)"

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้แม้จะเป็นเรื้อรัง แต่หากได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ก็มักจะป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและสามารถมีชีวิตปกติสุขได้ ควรแนะนำให้ผู้ป่วยรับการรักษาอย่าได้ขาด ดังนั้น จึงควรกินยาตามแพทย์สั่งไปตลอดชีวิต และหมั่นตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ

2. เนื่องจากยาอัลโลพูลินอลมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้รุนแรง คือ กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสันได้ ถ้าจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยกินยานี้เป็นประจำ แพทย์อาจทำการตรวจเลือดดูว่าผู้ป่วยมีพันธุกรรม (ยีนที่มีชื่อว่า HLA-B*5801) ที่จะทำให้เกิดการแพ้ยานี้หรือไม่ ถ้ามีก็จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้ยานี้

3. ในรายที่มีเพียงกรดยูริกในเลือดสูงโดยไม่มีอาการปวดข้อหรืออาการอื่น ๆ ก็ไม่ต้องให้ยารักษา ยกเว้นถ้ามีระดับของกรดยูริกสูงเกิน 12 มก./ดล. ก็ควรกินยาลดกรดยูริกเป็นประจำ

4. ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคเกาต์ ควรตรวจระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ

5. อาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบโรคเกาต์ ตรวจพบระดับยูริกในเลือดปกติ ควรเจาะดูดน้ำจากข้อไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าพบผลึกของยูเรตก็วินิจฉัยว่าเป็นเกาต์ แต่ถ้าพบว่าเป็นผลึกของแคลเซียมไพโรฟอสเฟต (calcium pyrophosphate) ก็เป็นภาวะเรียกว่า เกาต์เทียม (pseudogout)*

* เกาต์เทียม (pseudogout/calcium pyrophosphate dihydrate crystal deposition disease) เป็นโรคข้ออักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตตามข้อใหญ่ ๆ เช่น ข้อเข่า ข้อมือ ข้อเท้า เป็นต้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนน้อยอาจพบร่วมกับภาวะอื่น ๆ เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperparathyroidism) ภาวะมีเหล็กสะสมตามเนื้อเยื่อ (hemochromatosis) ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (hypomagnesemia) เบาหวาน เป็นต้น มักมีอาการไข้ ปวดข้อ ข้ออักเสบเฉียบพลันกำเริบเป็นครั้งคราวคล้ายโรคเกาต์ บางรายอาจมีอาการปวดข้อและข้อแข็งเรื้อรังคล้ายโรคปวดข้อรูมาตอยด์ โรคนี้ส่วนใหญ่จะทุเลาได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่บางรายอาจเกิดการทำลายข้อจนข้อพิการได้

การรักษา ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ขณะที่มีอาการกำเริบเฉียบพลัน และอาจให้คอลชิซีน วันละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ บางครั้งอาจต้องทำการดูดระบายน้ำจากข้อ และฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อเพื่อลดการอักเสบ หรือทำกายภาพบำบัด ถ้าพบภาวะอื่นร่วมด้วยก็ให้การรักษาควบคู่กันไป



 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)