Author Topic: หมอประจำบ้าน: ปากนกกระจอก/มุมปากอักเสบ (Angular stomatitis/Angular Cheilitis)  (Read 272 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline siritidaporn

  • Pro Member
  • *
  • Posts: 808
  • Karma: +0/-0

หมอประจำบ้าน: ปากนกกระจอก/มุมปากอักเสบ (Angular stomatitis/Angular Cheilitis)

ปากนกกระจอก/มุมปากอักเสบ หมายถึง อาการแผลเปื่อยที่มุมปาก ซึ่งอาจมีสาเหตุจากภาวะขาดวิตามินบี 2 โรคเชื้อรา ภาวะขาดโปรตีน ขาดธาตุเหล็ก การติดเชื้อแบคทีเรีย โรคผื่นแพ้กรรมพันธุ์ เป็นต้น


สาเหตุ

ภาวะขาดวิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (riboflavin) ส่วนใหญ่จะพบในเด็กที่เป็นโรคขาดอาหาร หรือกินอาหารที่มีวิตามินบี 2 ในปริมาณน้อย

นอกจากนี้ ยังอาจพบในผู้ป่วยโรคพิษสุรา โรคตับหรือท้องเดินเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร หรือมีความผิดปกติของการดูดซึมของลำไส้ (เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่เรียกว่า “โรคโครห์น”)

ผู้ที่ขาดวิตามินบี 2 มักมีการขาดวิตามินบีชนิดอื่น ๆ รวมทั้งสารอาหารอื่น (เช่น ธาตุเหล็ก ธาตุสังกะสี) ร่วมด้วย

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นแผลเปื่อย ลักษณะเป็นสีเหลือง ๆ ขาว ๆ ที่มุมปากทั้ง 2 ข้าง อาจพบอาการอักเสบของเยื่อบุริมฝีปาก (ริมฝีปากมีลักษณะแดง แห้งหยาบบาง และแตกเป็นร่อง ๆ) และลิ้น (มีลักษณะเป็นสีม่วงแดง)

นอกจากนี้ อาจมีภาวะซีด กระจกตาอักเสบ (ตาแดง กลัวแสง น้ำตาไหล) ผิวหนังอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อน

แผลเปื่อยที่มุมปากอาจติดเชื้อราแคนดิดาอัลบิแคนส์แทรกซ้อน


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งจะตรวจพบแผลเปื่อยที่มุมปาก 2 ข้าง

ในกรณีที่จำเป็น แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจระดับไรโบฟลาวินในปัสสาวะ หรือตรวจหาโรค/ภาวะผิดปกติอื่น ๆ โดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาเชื้อรา การตรวจช่องปากและฟัน การตรวจเลือดดูภาวะขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้กินวิตามินบี 2 หรือวิตามินบีรวมวันละ 1-3 เม็ด

ในรายที่มีภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก จะให้ยาบำรุงโลหิตร่วมด้วย ถ้าพบโรคหรือภาวะอื่นร่วมด้วย ก็จะทำการรักษาควบคู่ไปด้วย

ถ้าไม่ได้ผลภายใน 1-2 สัปดาห์ แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุอื่น ซึ่งพบว่าในวัยกลางคนขึ้นไปอาจเกิดจากโรคเชื้อรา ก็จะให้ยารักษาโรคเชื้อรา (ดูเพิ่มเติมใน "โรคเชื้อราในช่องปาก มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา")

ผลการรักษา ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์


การดูแลตนเอง

หากมีแผลเปื่อยที่มุมปาก ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อพบว่าเป็นปากนกกระจอก ควรดูแลรักษา ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา


การป้องกัน

โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารให้ครบทุกหมู่ รวมทั้งอาหารที่มีวิตามินบี 2 เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ถั่ว นม ไข่แดง ตับ ผักใบเขียว เป็นต้น

ข้อแนะนำ

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า อาการมุมปากเปื่อย (ปากนกกระจอก) เกิดจากการขาดวิตามินบี 2 จริง ๆ แล้วปัจจุบันพบโรคนี้น้อยลงมาก ส่วนใหญ่เกิดจากโรคเชื้อรา (มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา) และสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ภาวะขาดธาตุเหล็ก ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสหรือภูมิแพ้ (เช่น จากน้ำลายสอที่มุมปาก ลิปสติก ยาสีฟัน หมากฝรั่ง เป็นต้น) ผลข้างเคียงของยา (เช่น ยาต้านไวรัสรักษาเอดส์ ยารักษาสิว-Isotretinoin) เป็นต้น หากลองรักษาด้วยวิตามินบี 2 ไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่น


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)