Entertainment > Horoscope

ตรวจอาการด้วยตนเอง: ชักจากไข้ (Febrile seizure/Febrile convulsion)

(1/1)

siritidaporn:

ชักจากไข้ หมายถึง อาการชักที่เกิดขึ้นขณะมีไข้ เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยไม่รวมถึงการติดเชื้อของสมองและเยื่อหุ้มสมอง

พบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการชักที่มีไข้ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี พบได้ประมาณร้อยละ 3-5 ของเด็กในวัยนี้

เด็กที่มีอาการชักจากไข้มักมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องคนใดคนหนึ่งเคยชักจากไข้ด้วย

ชักจากไข้แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชักจากไข้ชนิดสามัญ (simple febrile seizure) และชักจากไข้ชนิดซับซ้อน (complex febrile seizure)

เด็กส่วนใหญ่จะมีอาการชักจากไข้ชนิดสามัญ และชักเพียงครั้งเดียว ประมาณร้อยละ 30-40 ที่อาจชักซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง และประมาณร้อยละ 10 ที่อาจชักซ้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป

สาเหตุ

อาการชักจากไข้ พบมากในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี (พบมากที่สุดในช่วง 3 ปีแรก) เนื่องจากสมองของเด็กกำลังเจริญเติบโต จึงมีความไวต่อการกระตุ้นจากไข้ ซึ่งโดยมากขนาดของไข้ที่จะทำให้ชักได้มักจะสูงเกิน 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป

ส่วนใหญ่มักมีไข้จากโรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด หัด ไข้ผื่นกุหลาบในทารก ท้องเดินจากไวรัส เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากบิดชิเกลลา ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ปอดอักเสบ

อาการ

เด็กจะมีไข้ ร่วมกับอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ ไอ ท้องเดิน เป็นบิด เป็นต้น แล้วต่อมามีอาการชัก (ส่วนใหญ่จะชักแบบกระตุกทั้งตัว) ตาค้าง กัดฟัน กัดลิ้น นานประมาณ 2-3 นาที (มักไม่เกิน 5-15 นาที) ส่วนใหญ่จะมีอาการชักเพียง 1 ครั้ง หลังจากนั้นจะไม่ชักซ้ำอีก ส่วนน้อยอาจมีอาการชักกำเริบอีกเมื่อมีไข้ในครั้งต่อไป

หลังจากหยุดชัก เด็กจะรู้สึกตัวดีเป็นปกติ ไม่ซึม พูดคุยได้ปกติ และแขนขาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ

ในรายที่มีอาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อน (ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย) จะชักนานเกิน 15 นาที หรือชักเกิน 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการชักเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือมีความผิดปกติของสมองร่วมด้วย


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่เป็นอาการชักจากไข้ชนิดสามัญ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่ไม่รุนแรงและมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อสมอง เชาวน์ปัญญา และพัฒนาการของเด็ก แม้ว่าอาจชักซ้ำมากกว่า 1 ครั้งก็ตาม

โดยเฉลี่ยเด็กที่มีอาการชักจากไข้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมชักเมื่อโตขึ้น ประมาณร้อยละ 1-2 ซึ่งสูงกว่าเด็กทั่วไปเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อน มีประวัติโรคลมชักในครอบครัว มีอาการผิดปกติทางสมอง (เช่น สมองพิการ ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ) มีพัฒนาการช้า หรือเกิดอาการชักภายในเวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมงหลังมีไข้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมีสิ่งตรวจพบดังนี้

ขณะที่มาพบแพทย์ เด็กมักจะหายชักแล้ว แต่บางรายอาจมีอาการชักซ้ำให้เห็น


ส่วนมากมักจะมีไข้สูงและพบอาการของโรคที่พบร่วม

กรณีที่จำเป็น อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ และอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยโรคที่พบร่วม

หากสงสัยมีการติดเชื้อในสมอง ก็จะทำการเจาะหลังนำน้ำไขสันหลังไปตรวจ


การรักษาโดยแพทย์

1. ถ้าพบเด็กขณะมีอาการชัก ให้ถอดเสื้อผ้าเด็กออกแล้วใช้ผ้าชุบน้ำก๊อกโปะทั้งตัว เปลี่ยนผ้าชุบน้ำใหม่ทุก 2 นาที ถ้าชักนานเกิน 5 นาที แพทย์จะให้ไดอะซีแพมฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือเหน็บทางทวารหนัก


ถ้าไม่หยุดชัก หรือมีอาการซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรืออาเจียนมาก แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ในรายที่สงสัยเป็นโรคติดเชื้อทางสมอง อาจต้องทำการเจาะหลัง และตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม

2. ในกรณีที่เด็กหยุดชักแล้ว จะค้นหาสาเหตุของอาการไข้ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

สำหรับอาการชักจากไข้ครั้งแรก แพทย์จะพิจารณาทำการเจาะหลัง (เพื่อนำน้ำไขสันหลังไปตรวจ) ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 เดือน หรือได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมาก่อน (เนื่องเพราะเด็กกลุ่มนี้อาจเป็นโรคติดเชื้อทางสมองที่แสดงอาการไม่ชัดเจนก็ได้)


การดูแลตนเอง

หากเด็กมีอาการไข้ร่วมกับชัก ควรทำการปฐมพยาบาล และพาเด็กไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว แม้ว่าเด็กจะหยุดชักแล้ว เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที ถ้าเด็กมีอาการชักนานเกิน 5 นาที ชักซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรืออาเจียนมาก หรือพบอาการชักในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนหรือมากกว่า 5 ปี

เมื่อตรวจพบว่าเป็นอาการชักจากไข้ (โดยไม่มีความผิดปกติของสมอง) ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือชักซ้ำ
    อาเจียน กินอาหารไม่ได้ และดื่มน้ำได้น้อย
    มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา

การปฐมพยาบาลเด็กที่มีอาการชักจากไข้

เมื่อพบเด็กมีอาการชักจากไข้ พ่อแม่ควรตั้งสติให้ดี อย่าตกใจจนเกินเหตุ และควรให้การปฐมพยาบาล ดังนี้

    จับเด็กนอนหงาย โดยตะแคงศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือจับเด็กนอนตะแคง พร้อมกับเชยคางขึ้นเล็กน้อย ควรให้นอนบนพื้นที่โล่งและปลอดภัย ระวังอย่าให้พลัดตกหรือกระทบกระแทกถูกสิ่งกีดขวาง
    ถ้ามีน้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารในบริเวณปากหรือใบหน้า ควรเช็ดหรือดูดออก เพื่อไม่ให้เด็กสำลัก
    ถอดหรือปลดเสื้อผ้าให้หลวม แล้วรีบใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวเพื่อลดไข้
    เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด สังเกตลักษณะการชักและจับระยะเวลาของการชัก เพื่อแจ้งให้แพทย์หรือผู้ที่ให้การรักษาทราบในภายหลัง
    ถ้ามียาเหน็บแก้ชักที่แพทย์สั่งให้สำรองไว้ใช้ ให้รีบทำการเหน็บทวารเด็กตามคำแนะนำของแพทย์
    อย่าผูกหรือมัดตัวเด็ก หรือใช้แรงฝืนหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของเด็ก
    อย่าใช้วัตถุ (เช่น ไม้ ด้ามช้อน ปากกา ดินสอ) สอดใส่ปากเด็ก อาจทำให้ปากและฟันได้รับบาดเจ็บได้
    อย่าป้อนอาหาร ยา หรือน้ำให้เด็กระหว่างชัก หรือหลังชักใหม่ ๆ อาจทำให้เด็กสำลักได้
    ถ้ามีไข้สูง ใช้ผ้าชุบน้ำจากก๊อกประปาหรือน้ำอุ่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้
    ควรนำเด็กส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที ถ้าเด็กมีอาการชักนานเกิน 5 นาที หรือเป็นการชักครั้งแรก (แม้ว่าจะชักเพียงช่วงสั้น ๆ ก็ตาม) หรือมีอาการอาเจียน ซึม หรือหายใจลำบาก


การป้องกัน

เด็กที่เคยมีอาการชักจากไข้มาครั้งหนึ่งแล้ว บางรายอาจมีอาการชักซ้ำได้อีกเมื่อมีไข้ขึ้น การป้องกันไม่ให้ชักจากไข้ซ้ำ สามารถกระทำได้ดังนี้

    ทุกครั้งที่เด็กเริ่มมีไข้ ควรให้ยาลดไข้-พาราเซตามอลทันที ควรเช็ดตัวเด็กด้วยน้ำบ่อย ๆ ไม่ควรให้เด็กใส่เสื้อผ้าหนา ๆ หรือห่มผ้าหนา เพราะจะทำให้ตัวร้อนยิ่งขึ้น

    กินยากันชักตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งในปัจจุบันแพทย์จะพิจารณาให้ยากันชัก เช่น ฟีโนบาร์บิทาล โซเดียมวาลโพรเอต (sodium valproate) เป็นต้น เฉพาะสำหรับเด็กบางรายที่มีข้อบ่งชี้ เช่น มีความผิดปกติของสมองหรือโรคลมชักร่วมด้วย โดยจะให้กินอย่างต่อเนื่องทุกวันนานเป็นแรมปี บางรายอาจให้ทานหลายปี

ส่วนอาการชักจากไข้ที่ไม่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการชักจากไข้ชนิดสามัญ แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยากันชักโดยไม่จำเป็น เนื่องเพราะยากันชักทุกชนิดมีผลข้างเคียงซึ่งอาจมีโทษต่อเด็กมากกว่าอันตรายจากตัวโรคเอง


ข้อแนะนำ

1. อาการชักจากไข้ที่ไม่มีสาเหตุจากโรคติดเชื้อของสมอง มักพบในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี ถ้าพบในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน หรือมากกว่า 5 ปี หรือผู้ใหญ่ จำเป็นต้องทำการตรวจหาความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง

อาการชักจากไข้แม้ดูน่ากลัว แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีอันตรายแต่อย่างใด มักจะชักเพียงช่วงสั้น ๆ (ไม่กี่นาที) และชักเพียงครั้งเดียวในชีวิต บางรายอาจชักซ้ำ 1-2 ครั้ง และเมื่อพ้นอายุ 5 ปีก็มักไม่มีอาการชักจากไข้

2. เด็กส่วนน้อยอาจชักซ้ำเมื่อมีอาการไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

    ชักครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 18 เดือน
    ระยะมีไข้นำมาก่อนชัก ถ้ายิ่งสั้นมีความเสี่ยงต่อการชักซ้ำยิ่งสูง
    มีประวัติโรคลมชัก หรืออาการชักจากไข้ในครอบครัว
    มีอาการชักขณะไข้ไม่สูงมาก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการชักซ้ำสูงกว่าเด็กที่ชักขณะมีไข้สูง




ตรวจอาการด้วยตนเอง: ชักจากไข้ (Febrile seizure/Febrile convulsion) อ่านบทเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker

Navigation

[0] Message Index

Go to full version