Author Topic: ตรวจโรค: บาดทะยัก (Tetanus)  (Read 276 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

ตรวจโรค: บาดทะยัก (Tetanus)
« on: April 04, 2024, 09:38:35 PM »

Offline siritidaporn

  • Pro Member
  • *
  • Posts: 808
  • Karma: +0/-0

บาดทะยัก เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งยังพบได้เป็นครั้งคราวในบ้านเรา พบได้ในคนทุกวัย ส่วนมากจะมีประวัติมีบาดแผลตามร่างกาย (เช่น ตะปูตำ หนามเกี่ยว มีบาดแผลสกปรก หรือขาดการดูแลที่ถูกต้อง) และผู้ป่วยไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน

ในสมัยก่อนพบทารกแรกเกิดเป็นบาดทะยักค่อนข้างบ่อย เรียกว่า บาดทะยักในทารกแรกเกิด (tetanus neonatorum)* เนื่องจากการคลอดที่ไม่สะอาด (เช่น คลอดตามบ้านโดยใช้ไม้รวกหรือตับจากตัดสายสะดือ) หรือการดูแลสะดือไม่ถูกต้อง (เช่น ใช้น้ำหมากน้ำลายบ้วน) ทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นบาดทะยัก ซึ่งมักจะพบมีอาการช่วงหลังคลอด ประมาณ 4-14 วัน

ในปัจจุบัน พบโรคนี้น้อยลงทั้งในผู้ใหญ่และทารกแรกเกิด เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกัน มีการคลอดที่สะอาดปลอดภัย และการดูแลสะดือทารกที่ถูกต้องมากกว่าสมัยก่อนมาก

* โบราณเรียก ลมสะพั้น ลมตะพั้น สะพั้น หรือตะพั้น หมายถึง อาการชัก มือกำเท้ากำในเด็กอ่อน ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือบาดทะยัก


สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลอสตริเดียมเตตานิ (Clostridium tetani) มีลักษณะเป็นสปอร์ มีอยู่ทั่วไปตามดิน ฝุ่น มูลสัตว์ (เช่น วัว ควาย หมู ไก่ สุนัข แมว หนู) และอุจจาระคน เชื้อมีความทนทานต่ออุณหภูมิ ความชื้น และสารเคมีฆ่าเชื้อ (เช่น แอลกอฮอล์ ฟีนอล ฟอร์มาลดีไฮด์) สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี ๆ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล* โดยการแปดเปื้อนถูกดิน ฝุ่น มูลสัตว์ หรืออุจจาระที่มีสปอร์ของเชื้อบาดทะยัก แล้วแบ่งตัวเจริญเติบโตที่บริเวณบาดแผล ซึ่งจะเจริญได้ดีในที่ ๆ มีออกซิเจนน้อย ได้แก่ บาดแผลที่ลึกและแคบ (เช่น บาดแผลถูกตำ) แต่ก็อาจเจริญในบาดแผลถลอกและบาดแผลในลักษณะอื่น ๆ หลังจากนั้นเชื้อจะปล่อยพิษ (มีชื่อว่า tetanospasmin หรือ tetanus toxin) ออกมา ซึ่งจะกระจายไปตามเส้นประสาท และออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่รอยต่อกล้ามเนื้อร่วมประสาท (neuromuscular junction) และประสาทส่วนกลาง กระตุ้นให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดการหดเกร็ง (spasm) และแข็งตัว (rigidity) ขณะเดียวกันก็ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้ชีพจรและความดันผิดปกติ เหงื่อออกมาก หลอดเลือดส่วนปลายตีบตัว

ระยะฟักตัว 5 วัน-15 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ระหว่าง 6-15 วัน) ระยะฟักตัวยิ่งสั้น โรคจะยิ่งรุนแรงและอันตราย

* ส่วนใหญ่เป็นบาดแผลตามผิวหนังและสะดือทารก ส่วนน้อยที่เป็นบาดแผลอื่น ๆ เช่น บาดแผลฉีดยาด้วยเข็มไม่สะอาด บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก บาดแผลในช่องปาก (เช่น ฟันผุ ถอนฟัน) ช่องหู (หูน้ำหนวก) บาดแผลผ่าตัด เป็นต้น


อาการ

ระยะแรกเริ่ม ผู้ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง (lockjaw) เนื่องจากกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการเคี้ยว หดเกร็ง และแข็งตัว ทำให้มีอาการขยับปากไม่ได้ ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ กลืนลำบาก


ผู้ป่วยอาจมีอาการกระสับกระส่าย

ในทารกมักมีอาการร้องกวน ไม่ยอมดูดนม และอ้าปากไม่ได้

ต่อมาจะมีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ หน้าอก หน้าท้อง หลัง แขนขา ทำให้มีอาการคอแข็ง ท้องแข็ง หลังแอ่น (opisthotonus)

เมื่อถูกสิ่งกระตุ้น เช่น การถูกสัมผัสตัว แสงสว่างเข้าตา (เช่น แสงแดด แสงไฟจ้า) หรือได้ยินเสียงดัง ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการชักเกร็งของแขนขาและกล้ามเนื้อทุกส่วนเป็นพัก ๆ

ผู้ป่วยมีสติรู้สึกตัวดีตลอดเวลา (ต่างกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและสมองอักเสบที่ผู้ป่วยไม่ค่อยรู้สึกตัว) และทุกครั้งที่ชักจะรู้สึกปวดมาก

ขณะที่มีอาการชักเกร็ง ผู้ป่วยอาจหายใจลำบาก ตัวเขียว และอาจหยุดหายใจได้


ภาวะแทรกซ้อน

อาจพบอาการขาดออกซิเจนขณะชัก อาการขาดอาหารเพราะกลืนไม่ได้ ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้ เนื่องจากการแข็งตัวของกล้ามเนื้อหูรูด ปอดอักเสบ ปอดแฟบ (atelectasis) ปอดทะลุ กระดูกสันหลังหักจากการชัก

ในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจ และหัวใจวายถึงตายได้

อาการชักเกร็งทั้งตัวและหลังแอ่น


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมักตรวจพบอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ใบหน้ามีลักษณะเหมือนยิ้มแสยะ (อาจมีกลิ่นปากถ้าเป็นมาหลายวัน) คอแข็ง หลังแอ่น และอาการชักเกร็งเป็นพัก ๆ เวลาถูกสิ่งกระตุ้น

รีเฟล็กซ์ของข้อ (tendon reflex) มักจะไวกว่าปกติ

อาจไม่มีไข้หรือมีไข้ต่ำ ๆ (ไข้มักไม่สูงมาก ยกเว้นในรายที่มีปอดอักเสบแทรก)

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีชีพจรเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ เหงื่อออกมาก ไข้ขึ้นสูง หลอดเลือดส่วนปลายตีบตัว

ส่วนมากจะพบมีบาดแผลอักเสบ (ในทารกมักพบว่ามีสะดืออักเสบ) แต่ในบางรายอาจไม่พบบาดแผลชัดเจนก็ได้

หากแยกไม่ได้ชัดเจนจากสาเหตุอื่น อาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพาะเชื้อ เจาะหลัง ตรวจน้ำไขสันหลัง เอกซเรย์ เป็นต้น เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ให้การรักษาตามอาการและรักษาแบบประคับประคอง เช่น ให้สารน้ำ เกลือแร่ และอาหาร ให้ยากันชัก (เช่น ไดอะซีแพม) ใส่ท่อหายใจ (บางรายอาจต้องเจาะคอ) และใช้เครื่องช่วยหายใจ ดูแลรักษาบาดแผล เป็นต้น

ที่สำคัญ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ให้ยาต้านพิษบาดทะยักและยาปฏิชีวนะ

ผลการรักษา ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่เป็น ก็มักจะมีโอกาสหายขาดได้ อาจต้องใช้เวลารักษาและฟื้นฟูสภาพด้วยการทำกายภาพบำบัด นานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน แต่ถ้าปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรง (เช่น หลังแอ่น) แล้ว โอกาสรอดก็น้อยลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในทารกหรือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีระยะฟักตัวของโรคสั้น มีไข้สูง หรือชักตลอดเวลา ก็มีโอกาสมีอันตรายมากยิ่งขึ้น


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น  มีอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ใบหน้ามีลักษณะเหมือนยิ้มแสยะ คอแข็ง หลังแอ่น และอาการชักเกร็งเป็นพัก ๆ เวลาถูกสิ่งกระตุ้น (เช่น แสง เสียง การสัมผัสถูกตัว) ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อพบว่าเป็นบาดทะยัก ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด

การป้องกัน

1. ฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP) ตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน ถ้าไม่เคยฉีดตอนเด็ก ควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้ครบตามกำหนด และควรฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี

2. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หากไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน ควรฉีดวัคซีนรวม 3 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือน (ถ้าฉีดไม่ทันขณะตั้งครรภ์ ก็ให้ฉีดหลังคลอด) จากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี

หากเคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม ควรให้อีก 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน หากเคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม ควรให้อีก 1 เข็ม ห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน จากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี

หากเคยได้รับวัคซีนมาก่อนอย่างน้อย 3 เข็ม และเข็มสุดท้ายนานกว่า 10 ปี ให้ฉีดกระตุ้นอีกเพียง 1 เข็ม จากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี

3. ควรแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์คลอดกับบุคลากรที่รู้จักรักษาความสะอาดในการทำคลอด ถ้าจำเป็นต้องคลอดกันเองที่บ้าน ควรใช้กรรไกรที่ผ่านกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อตัดสายสะดือเด็ก นอกจากนี้ควรแนะนำให้รู้จักทำความสะอาดสะดือเด็กอย่างถูกต้อง

4. เมื่อมีบาดแผลตะปูตำ หนามตำ สัตว์กัด ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือบาดแผลสกปรก ควรชะล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที และพิจารณาให้ฉีดยาป้องกันบาดทะยัก (วัคซีนปัองกันบาดทะยัก ยาต้านพิษบาดทะยัก) ตามตารางข้างล่าง


ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบาดทะยักเฉพาะที่ คือมีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อใกล้บริเวณบาดแผล มักเกิดจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง แต่ในบางรายก็อาจมีอาการกระจายไปทั่วร่างกายก็ได้

2. ผู้ป่วยบาดทะยักในระยะแรกเริ่มที่มีอาการขากรรไกรแข็ง และคอแข็ง โดยผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีและไม่มีไข้ อาจแยกไม่ได้ชัดเจนจากอาการข้างเคียงจากยา เช่น เมโทโคลพราไมด์ ฟีโนไทอาซีน (phenothiazine) เป็นต้น ถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว แพทย์จะรับตัวไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด ถ้าเกิดจากยามักมีประวัติเกิดอาการหลังใช้ยาและจะทุเลาได้เองเมื่อหมดฤทธิ์ยา (ภายใน 6-8 ชั่วโมง) หรือหลังให้ยา (เช่น ไดเฟนไฮดรามีน)




ตรวจโรค: บาดทะยัก (Tetanus)  อ่านบทเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)