Author Topic: โรคเบาหวาน สาเหตุ วิธีป้องกัน และดูแลรักษา  (Read 123 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline siritidaporn

  • Pro Member
  • *
  • Posts: 779
  • Karma: +0/-0

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable diseases: NCDs) ที่คนส่วนมากละเลย เพราะคิดว่า ไม่เป็นอันตราย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว โรคเบาหวานสามารถเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ความหมายของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน เกิดจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ ผ่านผลกระทบจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ ซึ่งอินซูลินมีหน้าที่ในการนำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย

เมื่อร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้ได้ จึงทำให้เกิดการสะสมอยู่ในเลือดเป็นปริมาณสูง ส่งผลเสียต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย และทำให้เป็นโรคเบาหวานในที่สุด

ความหมายของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)

ฮอร์โมนอินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งในร่างกาย สร้างขึ้นจากกลุ่มเซลล์ในตับอ่อนที่ชื่อว่า "เบต้า (Beta cells)" มีหน้าที่สำคัญ คือ ควบคุมกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย โดยการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล เพื่อเปลี่ยนให้เป็นรูปของพลังงานเข้าไปสู่กล้ามเนื้อและเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย


โรคเบาหวานที่พบได้ทั่วไป

โรคเบาหวานที่พบได้ทั่วไป มี 3 ชนิด ได้แก่

1. โรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (Insulin-dependent diabetes) หรือเรียกว่า "โรคเบาหวานชนิดที่ 1"

เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายเซลล์ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กจะเป็นโรคชนิดนี้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งจะต้องได้รับยาอินซูลินเพื่อรักษา

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อย่างแน่ชัด ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้โดยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไขมัน คอลเรสตอรอล และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


2. โรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (Non-insulin dependent diabetes: NIDDM) หรือเรียกว่า "โรคเบาหวานชนิดที่ 2"

เป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปกติมักพบในวัยกลางคนถึงวัยอายุมาก เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบมากที่สุด

แต่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถป้องกันได้ ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ หลีกเลี่ยงอาหารรสชาติหวานจัด เค็มจัด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักออร์แกนิก โปรตีนจากเนื้อปลา ไข่ไก่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

บางครั้งโรคเบาหวานชนิดนี้อาจเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน และกรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภาวะก่อนเป็นเบาหวานเป็นประจำทุกปี โดยคุณสามารถตรวจได้ด้วยวิธีการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด


3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)

เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ เมื่อเป็นแล้วสามารถส่งผลเสียต่อมารดาและทารกได้

อย่างไรก็ตาม โรคชนิดนี้สามารถป้องกันได้ ด้วยการเตรียมรับมือตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ หรือเมื่อเกิดโรคในขณะที่ตั้งครรภ์แล้ว

หากเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างถูกวิธี ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับมาเป็นปกติหลังคลอด จะช่วยให้คุณกลับมาเป็นปกติ และยังป้องกัน หรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อีกด้วย

แต่คุณจะกลับมาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อีกครั้งภายใน 10 ปี หากไม่ควบคุมน้ำหนัก และระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์


ลักษณะอาการของโรคเบาหวานเบื้องต้น

ปกติแล้วโรคเบาหวานมักไม่แสดงอาการออกมาให้รับรู้ แต่ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้จากภาวะต่างๆ ในร่างกาย โดยมีลักษณะอาการดังนี้

    ปัสสาวะบ่อยขึ้น หิวน้ำมากขึ้น: หากเริ่มมีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้นและหิวน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะตอนกลางคืนจะกระหายน้ำมากกว่าเดิม นี่เป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน เพราะร่างกายต้องการขับน้ำตาลที่มีอยู่สูงในเลือดออกมาทางปัสสาวะ
    น้ำหนักลด: น้ำหนักที่ลดผิดปกติอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางชนิดก็ได้ โดยเฉพาะเบาหวาน การมีน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้น้ำหนักลดลงเร็วมาก ประมาณ 5-10 กิโลกรัมภายใน 2-3 เดือน
    บาดแผลหายช้า: หากมีแผลที่บริเวณผิวหนัง เช่น มีดบาด การติดเชื้อ หรือรอยฟกช้ำ และแผลหายช้ามาก นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกให้รู้ว่า คุณอาจเป็นโรคเบาหวาน เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงของผู้ป่วยเบาหวานจะไปขัดขวางการทำงานของหลอดเลือด ทำให้แผลหายช้า
    หิวบ่อย กินจุบจิบ: ถ้าเกิดหิวบ่อย และกินจุกจิกขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ คุณอาจเป็นเบาหวานแล้วก็ได้ เพราะเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จะทำให้ร่างกายต้องการอาหารเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด จึงส่งสัญญาณเป็นความหิวนั่นเอง
    อ่อนเพลีย อารมณ์ไม่คงที่: อาการอ่อนเพลีย และอารมณ์ฉุนเฉียวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวานทุกคน เพราะเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลต่อการทำงานทุกระบบ รวมถึงภาวะอารมณ์ด้วย


ความหมายของภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetes)

ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ แต่สูงไม่มากพอที่จะเป็นโรคเบาหวานได้ โดยค่าระดับน้ำตาลในเลือดจะอยู่ที่ 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)

อย่างไรก็ตาม ภาวะก่อนเป็นเบาหวานสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต อาหารการกิน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ภาวะแทรกซ้อนสำคัญของโรคเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานมีหลายประเภท และค่อนข้างอันตราย จึงควรหมั่นดูแล และสังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอ โดยอาการที่อาจเกิดขึ้น มีดังต่อไปนี้


1. เบาหวานขึ้นตา

ภาวะดังกล่าวจะทำให้หลอดเลือดในดวงตาโป่งพอง ทำให้เกิดเลือด และน้ำเหลือง ซึมออกมาจากหลอดเลือดบริเวณนั้น หากไม่รักษาจะทำให้จอตาขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากปริมาณน้ำเหลือง และเลือดที่ซึมออกมามากเกินไป อาจทำให้เซลล์รับรู้ในจอตาเสียหาย ส่งผลให้มองเห็นได้ไม่ชัด


2. การติดเชื้อราหรือยีสต์ในช่องคลอดผู้ป่วยหญิงที่เป็นโรคเบาหวาน

สารคัดหลั่งในช่องคลอดของหญิงที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะมีน้ำตาลกลูโคสมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการที่มีน้ำตาลสะสมอยู่ในกระแสเลือดในปริมาณสูง ทำให้ยีสต์เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของยีสต์ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดตามมา


3. ภาวะคิโตซิส (Diabetic ketoacidosis: DKA)

ภาวะเลือดเป็นกรดด้วยคีโตนจากเบาหวาน เกิดจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงานได้ จึงย่อยสลายไขมัน เพื่อนำมาเป็นแหล่งพลังงานทดแทน แต่ได้สารคีโตนซึ่งเป็นกรดออกมาร่วมด้วย


4. ภาวะเบาหวานที่ควบคุมได้ยาก (Brittle diabetes หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Labile diabetes)

ใช้เรียกเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ควบคุมไม่ได้ ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงค่าระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง-ต่ำอย่างมาก


5. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)

เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำกว่าปกติ (น้อยกว่า 72 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ส่งผลให้ร่างกายไม่มีพลังงานเพียงพอสำหรับกิจกรรมต่างๆ มักเกิดในผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยา หรือฉีดยารักษาเกินขนาด หรือเกิดในช่วงที่มีอาการเจ็บป่วยแล้วไม่สามารถรับประทานอาหารได้ปกติ


6. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia)

ภาวะที่เลือดมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวานบางรายอาจสูงมากกว่า 200, 300 หรือ 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรีบลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ดื่มน้ำแก้วใหญ่ ออกกำลังกาย

โรคแทรกซ้อนในเบาหวาน

หากผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ดังนี้

    โรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง
    โรคหลอดเลือดสมอง
    เส้นประสาทถูกทำลาย
    โรคไตวายเรื้อรัง
    ปัญหาที่เท้า แผลที่เท้า
    โรคตา มองภาพไม่ชัด

การตรวจ และวินิจฉัยโรคเบาหวาน

ปัจจุบัน สามารถตรวจโรคเบาหวานด้วยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าคุณจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็สามารถตรวจภาวะก่อนเป็นเบาหวาน เพื่อป้องกันโรคเบาหวานได้เช่นกัน โดยมีวิธีการตรวจโรคเบาหวาน ดังนี้


1. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting plasma glucose: FPG)

จะช่วยบอกระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด ณ เวลาที่เจาะเลือด การตรวจนี้จะต้องอดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อให้ผลมีความแม่นยำ (แต่สามารถจิบน้ำเปล่าได้) ซึ่งผลจะแม่นยำที่สุดเมื่ออดอาหารตอนกลางคืน และตรวจเลือดในตอนเช้า

การวินิจฉัยจะวินิจฉัยจากเกณฑ์ระดับน้ำตาลมากกว่า 125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 2 ครั้งหากไม่มีอาการ หรือ 1 ครั้งหากมีอาการร่วมด้วย


2. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสะสม (A1C)

เรียกอีกอย่างว่า "ฮีโมโกลบินเอวันซี (Hemoglobin A1C:HbA1C)" จะช่วยบอกระดับน้ำตาลกลูโคสเฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ส่วนมากมักใช้ตรวจร่วมกับ FPG เพื่อผลลัพท์ที่แม่นยำ


3. การตรวจระดับน้ำตาลที่เวลาใดๆ (Random plasma glucose: RPG)

เป็นวิธีที่สามารถตรวจได้ทุกเวลาที่ต้องการ แพทย์อาจมีการพิจารณาตรวจค่า RPG เพื่อใช้วินิจฉัยโรคเบาหวาน หากผู้ป่วยมีอาการของโรคเบาหวาน และไม่อยากรอการอดอาหาร


4. การตรวจที่ใช้สำหรับวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

แบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่

    การทดสอบด้วยน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม (Glucose challenge test)
        การทดสอบนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร โดยแพทย์จะให้คุณดื่มสารละลายกลูโคสเข้มข้น 50 กรัม และเจาะเลือดหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง
        หากผลการตรวจพบว่า ค่าระดับน้ำตาลกลูโคสสูงอยู่ที่ 135-140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือสูงกว่านั้น คุณจะต้องได้รับการตรวจอีก 1 คือ การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (ซึ่งต้องอดอาหารมาก่อน)
    การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT)
        ผู้ที่เข้ารับการทดสอบต้องอดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
        เมื่อคุณมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะเจาะเลือดเข็มที่ 1 จากนั้นจะให้ดื่มสารละลายกลูโคสเข้มข้น 100 กรัม และเจาะเลือดซ้ำที่ 1 2 และ 3 ชั่วโมงหลังการดื่มสารละลาย รวมเป็นทั้งหมด 4 ครั้ง
        ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่สูงอย่างน้อย 2 ครั้งของการเจาะเลือด จากการเจาะเลือดทั้งหมด 4 ครั้ง หมายความว่า คุณเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม

ปกติแล้วระดับน้ำตาลในเลือดมักจะอยู่ที่ 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากคุณมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่านั้น ควรตรวจร่างกายเพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน


วิธีรักษาโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมความรุนแรงของโรคให้อยู่ในระดับที่คงที่ และบรรเทาอาการลงได้ โดยแนวทางในการรักษามีอยู่ 2 วิธี คือ

1. วิธีรักษาโรคเบาหวานตามแนวทางแพทย์แผนปัจจุบัน

ในเบื้องต้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยา หรือฉีดอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของโรค และการวินิจฉัยของแพทย์ด้วย ซึ่งส่วนมาก ผู้ที่มีอาการโรคเบาหวานรุนแรงมากขึ้น ก็เป็นเพราะไม่ปฎิบัติตามที่แพทย์สั่ง และไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่นั่นเอง

2. วิธีรักษาโรคเบาหวานตามแนวทางธรรมชาติบำบัด

เป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานในระยะแรก หรือผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก

โดยวิธีธรรมชาติบำบัดนั้นจะช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก หากทำควบคู่กับการรับประทานยา หรือการฉีดอินซูลิน สำหรับวิธีรักษาก็มีด้วยกันดังต่อไปนี้

    ควบคุมเมนูอาหาร: ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถรับประทานอาหารได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป ซึ่งจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารต้องห้าม ได้แก่ อาหารรสชาติหวานจัด เค็มจัด เนื้อติดมัน

    และเสริมด้วยอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ข้าวกล้อง ผักที่มีกากใยสูง เนื้อปลา เต้าหู้ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหาร รวมทั้งเลือกรับประทานอาหารและสมุนไพรที่มีส่วนช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย เช่น มะระขี้นก ตำลึง และอบเชย

    ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาเบาหวานด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด เพราะเบาหวานเกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไป การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายดึงน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงานมากขึ้น จึงช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดให้ได้นั่นเอง

    ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย: ความกลัว ความกังวล และความเครียด อาจทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นจึงควรทำจิตใจให้ผ่อนคลายเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ

วิธีป้องกันโรคเบาหวาน

การป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวานไม่ใช่เรื่องยาก แค่เริ่มจากการป้องกันที่ต้นเหตุ ก็สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้มากขึ้น โดยสามารถปฏิบัติตามได้ง่ายๆ ดังนี้

    ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: ควรออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพื่อให้แป้งและน้ำตาลที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อถูกดึงออกไปใช้เป็นพลังงาน ซึ่งจะทำให้ระดับแป้งและน้ำตาลลดลง

    ควบคุมน้ำหนักให้คงที่: พยายามอย่าให้น้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือหากใครที่เป็นโรคอ้วน ก็ควรรีบลดน้ำหนักโดยด่วน เพราะจากการวิจัยพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกินล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูงถึง 80%

    รับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าหรือเย็น: แสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้าและตอนเย็นนั้นอุดมไปด้วยวิตามินดี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

    ซึ่งวิตามินดี ไม่เพียงแต่จะบำรุงผิวพรรณให้ดูเปล่งปลั่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างกระดูก และยังช่วยเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด และสมอง


    รับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว: ข้าวกล้องอุดมไปด้วยวิตามิน และสารอาหารต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังไม่ทำให้อ้วนอีกด้วย และที่สำคัญข้าวกล้องยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้ดี

    หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์: เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำลายตับให้เสื่อมสภาพลง และเสี่ยงต่อภาวะตับแข็ง ซึ่งเมื่อตับอ่อนเกิดความผิดปกติก็จะทำให้ผลิตอินซูลินได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดการสะสมน้ำตาลในร่างกาย เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเสี่ยงต่อเป็นโรคเบาหวาน

    รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่: การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหาร และวิตามินอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ทุกส่วนในร่างกายมีความแข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น จึงลดความเสี่ยงเบาหวานได้ดีนั่นเอง

วิธีรักษาโรคเบาหวาน มีหัวใจหลัก คือ การดูแลตนเองอย่างเหมาะสม ทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การบริโภคแอลกอฮอล์ การรับประทานวิตามินเสริมต่างๆ รวมถึงรักษาระดับความเครียดไม่ให้มากเกินไป

หากคุณมีวินัยในการดูแลตนเอง และหมั่นตรวจเช็กสุขภาพกับแพทย์อยู่เสมอด้วย โรคเบาหวานก็จะไม่ร้ายแรง จนเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต และยังทำให้คุณรู้วิธีการดูแลตนเองที่เหมาะสม และปลอดภัยด้วย



โรคเบาหวาน สาเหตุ วิธีป้องกัน และดูแลรักษา อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/278


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)