ปอดติดเชื้อคือการที่ “เชื้อโรค” เข้าสู่ร่างกายไปที่ปอด แต่การที่เชื้อโรคเข้าไปสู่ปอดจะผ่าน จมูก, คอหอย, หลอดลมใหญ่ หลอดลมเล็ก และเข้าสู่ถุงลมปอด จากการสูดลมหายใจ และจากทางกระแสเลือด
ปอดติดเชื้อเกิดจากอะไร
ปอดติดเชื้อเกิดจากการที่ “เชื้อโรค” เข้าสู่ร่างกายไปที่ปอด แต่การที่เชื้อโรคเข้าไปสู่ปอดจะผ่าน จมูก, คอหอย, หลอดลมใหญ่, หลอดลมเล็ก และเข้าสู่ถุงลมปอด โดยเชื้อโรคสามารถเข้าไปสู่ปอด เข้าสู่ร่างกายเราได้ด้วยสาเหตุหลัก 2 ทาง คือ จากการสูดลมหายใจ และจากทางกระแสเลือด หมายถึงการติดเชื้อมาจากส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย แล้วกระจายมาสู่ปอดผ่านทางกระแสเลือด
ปัจจัยใดที่ทำเกิดปอดติดเชื้อ
โดยปกติร่างกายจะมีภูมิต้านทาน และมีกลไกในการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคต่างๆ ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ปอดของคนเรามีโอกาสติดเชื้อได้แก่
ติดเชื้อโรคที่มีความรุนแรง
สามารถเกิดได้จากเชื้อโรคหลายประเภท เช่น ไวรัส แบคทีเรีย วัณโรค เชื้อราและ พยาธิ โดยเชื้อแบคทีเรียและไวรัสเป็นเชื้อที่พบบ่อยที่สุด
ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ภูมิคุ้มกันร่างกายเราบกพร่องทำให้เชื้อผ่านเข้าไปสู่ปอดได้โดยง่าย อีกทั้งกลุ่มผู้ป่วยโรคปอด โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือคนที่เคยมี ฝี หรือโพรงในปอดมาก่อนทำให้สมรรทภาพในปอดเปลี่ยนแปลงไปเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
รับประทานยาที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน
รับประทานยาที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น กลุ่มคนไข้ที่ทานยากดภูมิ หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการทำเคมีบำบัด
มีการสัมผัสเชื้อเป็นประจำ
การได้รับเชื้อในปริมาณมากเป็นประจำ ถึงแม้จะไม่ใช่เชื้อที่รุนแรงและมีคุ้มกันร่างกายที่ดี แต่หากได้รับสัมผัสกับเชื้อปริมาณมาก หรือเป็นประจำ หรือคนที่เป็นพาหะของเชื้ออยู่ ก็สามารถทำให้เกิดเป็นปอดติดเชื้อได้
อาการของโรคปอดติดเชื้อเป็นอย่างไร
ไข้สูง หนาวสั่น
อาการไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย อกบุ๋มเวลาหายใจ
เจ็บชายโครง เวลาหายใจเข้า-ออก
จะเห็นว่าอาการของปอดติดเชื้ออาจจะคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่ทั่วไป แต่จุดสังเกตอย่างนึงคือ โรคปอดติดเชื้อ มักจะไอมากเมื่อสังเกตหายใจเข้าออกจะพบความผิดปกติ อาการเจ็บเสียดบริเวณหน้าอกหรือชายโครง พบได้หากน้ำขังในบริเวณเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรคปอดติดเชื้อ
แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ สอบถามอาการและตรวจร่างกายฟังเสียงปอด โดยหากปอดมีการติดเชื้อจะพบเสียงผิดปกติ หลังจากนั้นจะทำการเอ็กซเรย์ปอด เพื่อดูความรุนแรง ตำแหน่งของการติดเชื้อและหาภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น ภาวะน้ำขังในเยื่อหุ้มปอด โพรงฝีในปอด เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินเรื่องการติดเชื้อ การตรวจน้ำมูกหรือเสมหะเพื่อทำการค้นหาเชื้อโรค
แนวทางการรักษาโรคปอดติดเชื้อ
วิธีการรักษาโรคปอดขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค หากเป็นการติดเชื้อไวรัสโดยส่วนใหญ่ไม่มียารักษาจำเพาะจะเป็นการรักษาตามอาการ เป็นการรักษาประคับประคองจนกว่าพยาธิสภาพของปอดจะดีขึ้น ยกเว้น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมียาต้านไวรัสในรูปแบบรับประทานเป็นเวลา 5 วัน ส่วนการติดเชื้อแบคทีเรียในปอดสิ่งสำคัญคือการใช้ยาฆ่าเชื้อให้ตรงกับเชื้อเป็นหลัก โดยเฉพาะปอดติดเชื้อจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หากได้รับยาฆ่าเชื้ออย่างทันท่วงที ก็จะทำให้มีอัตราการรอดชีวิตที่สูงมาก ดังนั้นควรเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติให้ดี หากมีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
เมื่อเป็นโรคปอดติดเชื้อ สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หรือไม่ อะไรบ้าง
โดยปกติแล้ววิธีการรักษาโรคปอดติดเชื้อจะสังเกตการดำเนินของโรคและผลของการรักษาในช่วง 48-72 ชั่วโมง หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการเอ็กซเรย์ปอดซ้ำ เพื่อดูว่ามีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ ก็คือการเกิดฝีหรือหนองที่ปอด ซึ่งหากพบลักษณะนี้อาจต้องพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม หรืออาจเกิดภาวะมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด หรือเชื้ออาจกระจายลุกลามออกจากปอดไปสู่กระแสเลือดได้
ทั้งนี้หากเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นฝีขึ้นที่ปอด วิธีรักษาโรคปอดติดเชื้อในกลุ่มนี้แพทย์จะทำการปรับยาฆ่าเชื้อในการรักษาให้ครอบคลุมและตรงกับเชื้อมากขึ้น แต่หากอาการยังไม่ทุเลา ก็จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อเอาหนองออก ส่วนในกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด แพทย์จะนำน้ำในเยื่อหุ้มปอดไปทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และหากมีปริมาณน้ำมาก จะทำการระบายน้ำออก
วิธีรักษาโรคปอดและวิธีดูแลตัวเองหลังปอดติดเชื้อดูแลตัวเองอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโรคปอดติดเชื้อ
แนวทางในการป้องกันและดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคปอดติดเชื้อนั้น สามารถทำได้โดยใช้หลักการเดียวกันกับการป้องกันโรคในระบบทางเดินหายใจโรคอื่นๆ คือ
หลีกเลี่ยงคนพลุกพล่าน
หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน อย่างไรก็ตามหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่กำลังป่วย หรือมีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะเชื้อโรคอยู่รอบตัวเราโดยที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ เราอาจจะได้รับเชื้อโดรคมาโดยที่เราไม่รู้ตัว การป้องกันเอาไว้ก่อนจึงดีที่สุด
ล้างมือและรักษาความสะอาด
ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะเราใช้มือสัมผัสสิ่งต่างๆที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ หากเรานำมือที่สกปรกไปหยิบอาหารรับประทาน หรือนำมาขยี้ตา สูดดม ก็อาจทำให้ได้รับเชื้อเข้าสู่ปอด เข้าสู่ร่างกายได้
ฉีดวัคซีนป้องกัน
การรับวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนนิวโมคอคคัส สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคปอดติดเชื้อได้
ดูแลสุขภาพและพักผ่อนให้เพียงพอ
ดูแลร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นพื้นฐานทำให้เรามีสุขภาพที่ดี มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ดี ซึ่งก็จะทำให้โอกาสปอดติดเชื้อลดน้อยลง
โรคปอดติดเชื้อนั้นนับว่าเป็นหนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจที่มีความร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก ๆ และผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคปอดติดเชื้อได้มากกว่าคนปกติทั่วไปหลายเท่า ดังนั้นควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าฝน หากมีไข้สูง หนาวสั่น ไอ หายใจเร็วและหายใจหอบเหนื่อย หายใจแล้วเจ็บเสียด ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด หากได้รับวิธีรักษาโรคปอดติดเชื้อที่รวดเร็วจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการเสียชีวิตไปได้มาก
โรคปอดติดเชื้อ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/151