ผักโขมเป็นแหล่งของวิตามินเค วิตามินซี วิตามินบี2 แมงกานีส โฟเลต แคลเซียม โพแทสเซียม เหล็ก วิตามินบี6 เส้นใยอาหาร ทองแดง โปรตีน ฟอสฟอรัส และวิตามินอี กรดไขมัน โอเมก้า 3 ไนอาซิน ซีลีเนียม
ผักโขมมีประโยชน์ดังต่อไปนี้
1. เสริมสร้างสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง
ผักโขมมีคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง อาทิเช่น ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคกระดูกพรุน และโรคข้ออักเสบ รวมไปจนถึงโรคภัยและความเสื่อมโทรมอื่นๆ ผักโขม ประกอบไปด้วย สารประกอบฟลาโวนอยด์ ที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและสารต้านมะเร็งอย่างน้อย 13 ชนิด จากการทดลองกับสัตว์ในห้องทดลอง พบว่าสารประกอบที่มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็งที่สกัดได้จากผักโขม มีคุณสมบัติในการชะลอการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งในกระเพาะอาหาร รวมไปจนถึงช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งผิวหนัง และพบว่าการได้รับสารสกัดจากผักโขมมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน
2. ต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก
จากบทความ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารทางการแพทย์ Journal of Nutrition พบว่าผักโขมรวมไปจนถึงผักโขมใบเขียวชนิดอื่นๆ มีสารแคโรทีนอยด์ที่มีคุณสมบัติในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกลูกหมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ สารแคโรทีนอยด์ที่พบในผักโขมดังกล่าวมีชื่อว่า นีอ็อกแซนธิน ไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติในการช่วยลดอัตราการก่อตัวของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากเท่านั้น แต่ยังสามารถเปลี่ยนเป็นสารประกอบนีโอโครมส์ในลำใส้ ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำให้ เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากหยุดการเจริญเติบโต
3. ต้านมะเร็งรังไข่
จากการทดลองของ Nurses Health Study ที่ทำการศึกษาถึงคุณสมบัติของสารประกอบฟลาโวนอยด์ที่พบในผักโขม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ที่ทำการทดลองในช่วงระหว่างปี 1984 และ 2002 กับอาสาสมัครหญิง จำนวน 66,940 คน พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับอาหารที่มีสารแคมป์เฟอรอล(kaempferol)ซึ่งเป็นหนึ่งในสารประกอบฟลาโวนอยด์ที่พบในผักโขมมากที่สุด จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลดลงถึงร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่กินอาหารที่มีสารดังกล่าวน้อยที่สุด นอกจากนั้นจากการศึกษายังพบอีกว่า นอกจากผักโขมแล้วยังมี หัวหอม บร็อกโคลี บลูเบอร์รี และกระเทียม ที่มีสารที่มีประโยชน์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
4. เสริมความแข็งแรงของกระดูก
ผักโขมอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระดูกและฟัน อันได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และวิตามินเค
วิตามินเคในผักโขมช่วยกระตุ้นการสร้าง Osteocalcin ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในกระดูก มีหน้าที่ในการรวบรวมโมเลกุลของแคลเซียมภายในกระดูก ทำให้กระดูกมีความหนาแน่น แข็งแรง และทนทานมากยิ่งขึ้น หากร่างกายไม่ได้รับวิตามินเคอย่างเพียงพอระดับของ Osteocalcin ภายในร่างกายจะลดลง ยังผลให้แร่ธาตุภายในกระดูกลดน้อยลงจนกระดูกอ่อนแอ เปราะบาง และเสี่ยงต่อการแตกหักง่ายด้วยเช่นกัน
5. ปกป้องหัวใจและเส้นเลือดหัวใจ
ผักโขมเป็นแหล่งของวิตามินซีและวิตามินเอ ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ซึ่งมีส่วนในการลดปริมาณอนุมูลอิสระในร่างกายให้น้อยลง วิตามินซีทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายได้ในน้ำ ในขณะที่เบต้าแคโรทีนจะละลายในไขมัน สารทั้งสองจะช่วยปกป้องคอเลสเตอรอลจากกระบวนการ ออกซิเดชัน คอเลสเตอรอลที่ผ่านกระบวนการออกซิเดชันจะจับตัวกันเป็นก้อน และสะสมที่ผนังเส้นเลือด จนอาจทำให้เส้นเลือดแดงตีบตัน เกิดเป็นโรคหัวใจและโรควูบอันเนื่องจากเส้นเลือดตีบตันได้ในที่สุด
6. ดีต่อลำไส้ใหญ่
วิตามินซีและเบต้าแคโรทีนที่อยู่ในผักโขม มีส่วนสำคัญในการปกป้องเซลล์ลำไส้ใหญ่จากการทำลายของอนุมูลอิสระ นอกจากนั้นโฟเลตที่อยู่ในผักโขมยังช่วยป้องกันดีเอ็นเอภายในเซลล์ลำไส้ใหญ่มิให้ถูกทำลายหรือเกิดการกลายพันธุ์ แม้กระทั่งในยามที่เซลล์เหล่านี้ต้องเจอกับสารเคมีที่เป็นสาเหตุของการเกิดเนื้อร้ายก็ตาม การศึกษาจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่าคนที่กินอาหารที่มีวิตามินซี เบต้าแคโรทีน และโฟเลตใน ปริมาณมาก จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยกว่าผู้ที่ไม่กินอาหารดังกล่าวอย่างมาก
7. ต้านอาการอักเสบ
ผักโขมอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ เช่น โรคหอบหืด โรคข้อเสื่อม และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับอาการอักเสบได้อย่างดีเยี่ยม อันได้แก่ เบต้าแคโรทีน วิตามินซี มีบทบาทสำคัญในการลดอาการอักเสบในผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นแมกนีเซียม และไรโบฟลาวิน ที่พบในผักโขม ยังมีส่วนช่วยลดอัตราการเกิดโรคไมเกรนในผู้ป่วยให้น้อยลง ด้วยเช่นกัน
8. บำรุงสมอง เสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้
จากการค้นคว้ากับสัตว์ในห้องทดลอง นักวิทยาศาสตร์พบว่าผักโขมมีส่วนช่วยในการปกป้องเซลล์สมอง จากปฏิกิริยาออกซิเดชัน อันเนื่องมาจากความเครียด และลดความเสี่ยงต่อการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาท รวมไปจนถึงการทำงานของสมองอันเนื่องมาจากการที่มีอายุมากขึ้น นักวิจัยพบว่าสัตว์ในห้องทดลองที่ได้รับผักโขมจะมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้รวดเร็ว และดีกว่าสัตว์ที่ได้รับอาหารทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด
9. ชะลอการเสื่อมของระบบประสาท
ความสามารถในการทำงานของระบบประสาทในมนุษย์จะเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ตามจำนวนอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ผลการทดลองของ chicago Health and Aging Project (CHAP) ได้แสดงให้เห็นว่าการกินผักใบเขียวเข้ม เหลือง และผักที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ3ครั้งต่อวันจะช่วยลดกระบวนการเสื่อม ดังกล่าวได้มากถึงร้อยละ 40
10 . บำรุงสายตา
ลูทีนเป็นสารแคโรทีนอยด์ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันโรคที่เกี่ยวกับตา เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม และโรคต้อกระจก พบในผักใบเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักโขม คะน้า และ บร็อกโคลี
11. เสริมสร้างพลังงาน
ธาตุเหล็กเป็นสารประกอบที่มีความสำคัญของเฮโมโกลบิน ซึ่งทำหน้าที่ในการลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังเซลล์ร่างกาย นอกจากนั้นธาตุเหล็กยังเป็นส่วนหนึ่งของเอนไซม์ ที่จำเป็นสำหรับกระบวนการสร้าง พลังงานและกระบวนการเผาผลาญ ธาตุเหล็กที่พบในผักโขม เป็นแหล่งเสริมสร้างพละกำลังที่สำคัญ
อาหารสุขภาพ ผักโขม กับคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://thetastefood.com/