เนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ได้กำหนดเอาไว้ว่า เสียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายคนเรานั้น คือเสียงที่มีความดังอยู่ในระดับ 85 เดซิเบลขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทล้วนมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเสียงดังที่เกินค่ามาตรฐานทั้งหมด ดังนั้นวันนี้ เราจะพาผู้ประกอบการทุกท่าน ไปพบกับแนวทางในการจัดการโรงงานของตัวเอง ให้ไม่ก่อให้เกิดเสียงที่เป็นอันตราย และควบคุมเสียงภายในโรงงานให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเป็นมิตรกับพนักงาน รวมถึงผู้คนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงด้วยกันครับ โดยแนวทางในการป้องกันเสียงดังเกินมาตรฐานในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น สามารถปฏิบัติตามได้ ดังนี้
การป้องกันเสียงในโรงงาน
โรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท
ล้วนมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเสียงดังเกินมาตรฐาน
ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องแก้ไข
โดยมีแนวทางสำคัญ 3 วิธี
1. ควบคุมแหล่งกำเนิดเสียง
2. ควบคุมระยะทางที่เสียงผ่าน
3. ควบคุมการรับเสียงของผู้รับเสียง
ควบคุมที่แหล่งกำเนิดเสียง เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงดังอันตราย
วิธีการป้องกันเสียงดังเกินมาตรฐานสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมวิธีแรกที่สามารถทำได้ นั่นก็คือ การเข้าไปควบคุมที่แหล่งต้นกำเนิดเสียง ให้จากเดิมที่เคยส่งเสียงออกมาดังเกินมาตรฐาน กลายเป็นเบาลง ลดระดับลงจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อร่างกาย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่
ออกแบบเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่างๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมให้สามารถทำงานได้แบบไม่ส่งเสียง หรืออาจเปลี่ยนไปเลือกใช้เครื่องมือรุ่นที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถทำงานได้เงียบ และไม่ส่งเสียงรบกวนที่ดังเกินมาตรฐาน
ตรวจสอบกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างละเอียด ในทุกๆ ขั้นตอน ว่ามีขั้นตอนใดบ้าง ที่ก่อให้เกิดเสียง และเข้าไปแก้ไข โดยการหาวิธีการอื่นที่สามารถทำให้ไม่เกิดเสียงได้ หรือเกิดเสียงที่เบาลงได้ ทดแทนในขั้นตอนการผลิต
ทำการควบคุมเสียงเกินมาตรฐานที่เกิดจากการทำงานของเครื่องจักร ด้วยการจัดหาวัสดุป้องกันเสียงมาปิดล้อม หรือประกอบ ลงไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างสำหรับการปิดล้อม ทำการป้องกันเสียงก่อน ถ้าเสียงที่เล็ดลอดออกมายังดังอยู่ ทำการเพิ่มวัสดุดูดซับเสียงเพื่อลดระดับความดังของเสียงภายในลง หรือหากนำวัสดุซับเสียงมาบุผนังห้องที่เครื่องจักรทำงาน เพื่อควบคุมให้เสียงที่ลอดออกไปจากห้องเครื่องจักรไม่เกินมาตรฐานและทำอันตรายต่อบุคคลภายนอก
ตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องจักร ให้ตั้งอยู่ในพื้นที่มั่นคง ตรวจสอบอุปกรณ์รองฐานเครื่อง เพื่อป้องกันการสั่นสะเทือนของเครื่องจักรถ่ายทอดออกไปสู่ภายนอก เช่น สปริง หรือยางรอง เพราะหากเครื่องจักรไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่มั่นคงแล้ว แรงสั่นสะเทือนจากการทำงานของเครื่องจักร จะยิ่งส่งผลให้เกิดเสียงดังที่มากขึ้น และยังเป็นอันตรายต่อบุคลากรและคนใกล้เคียงอีกด้วย
บำรุงรักษาอุปกรณ์ เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน หยอดน้ำมันหล่อลื่น ให้ไม่ฝืด เพื่อลดเสียงรบกวนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเสียดสีของเครื่องจักร ซึ่งโดยมากแล้วล้วนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เสมอ
ควบคุมระยะทางที่เสียงผ่าน เพื่อต้านทานลดระดับของเสียงอันตราย
“ระยะทางการเดินทางของเสียง” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถใช้ในการควบคุมเสียงที่เกินมาตรฐานในโรงงานได้ เพราะยิ่งเสียงจากต้นกำเนิดเสียงเดินทางไกลเท่าไหร่ เสียงก็จะยิ่งเบาลงเท่านั้น แนวทางนี้เป็นแนวทางสำหรับการควบคุมระดับของเสียงไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นสำคัญ โดยสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
จัดวางเครื่องจักรหรือแหล่งต้นกำเนิดเสียงให้ห่างออกจากผู้รับเสียงให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ระดับของเสียงจะลดลง 6 เดซิเบล ของทุกๆ ระยะทางที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือง่ายๆ ก็คือ ถ้าจากเดิมเครื่องจักรห่างจากชุมชน 100 เมตร แล้วส่งเสียงในระดับ 120 เดซิเบล ถ้าเรานำเครื่องจักรถอยออกห่างเป็น 200 เมตร ระดับเสียงจะลดลงไปอยู่ที่ 114 เดซิเบล
จัดทำห้องหรือกำแพงกั้น ด้วยการใช้วัสดุป้องกันเสียง ร่วมกับวัสดุดูดซับเสียงบริเวณทางเดินที่เสียงผ่าน ก็จะสามารถช่วยกรองและลดระดับของเสียงลงได้
ภายในบริเวณพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ระหว่างห้องเครื่องจักร กับผู้รับเสียง สามารถที่จะปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีใบดกขึ้นปกคลุมได้ เพื่อช่วยลดระดับของเสียง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยลดมลพิษบางส่วนในพื้นที่โรงงานไปด้วยพร้อมกัน
ควบคุมการรับเสียง ของผู้รับเสียง
แนวทางในการควบคุมเสียงวิธีสุดท้าย คือเป็นการป้องกันจากตัวของผู้รับเสียงเอง เพื่อให้เสียงสุดท้ายที่เข้าสู่ร่างกายเราเป็นเสียงที่ได้มาตรฐานและเป็นอันตรายต่อร่างกายน้อยที่สุด ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ ตามแนวทางดังต่อไปนี้
ใช้อุปกรณ์ป้องกันหู เพื่อลดระดับความดังของเสียงที่เกินมาตรฐานให้เบาลง โดยทั่วไปมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่เป็นที่ครอบหู ซึ่งจะปิดหูและกระดูกรอบๆ ใบหูทั้งหมด ทำให้สามารถลดระดับความดังของเสียงได้มากถึง 20-40 เดซิเบล ซึ่งสามารถลดระดับความดังของเสียงได้มากกว่าอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งใช้อุปกรณ์ประเภทปลั๊กอุดหู โดยมีทั้งแบบที่ทำด้วยยางและพลาสติก วิธีการใช้คือนำสอดเข้าไปอุดในหู สามารถลดระดับความดังของเสียงได้ประมาณ 10-20 เดซิเบล
ควบคุมระยะเวลาในการทำงานที่ต้องรับเสียงให้ไม่นานจนเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดอันตราย
การควบคุมเสียงภายในโรงงานให้อยู่ในระดับที่ได้มาตรฐาน และปลอดภัยทั้งกับพนักงานในโรงงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง นับเป็นความรับผิดชอบที่ผู้ประกอบการทุกคนไม่ว่าจะอุตสาหกรรมใดก็แล้วแต่ ควรให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ยังถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม คุณธรรม และจริยธรรมปฏิบัติ ที่จะสามารถทำให้โรงงานอุตสาหกรรมของเรา ดำเนินกิจการไปได้อย่างเป็นมิตรกับทั้งคนภายในและภายนอกองค์กร อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดและความสุขสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งก็จะส่งผลให้กิจการของเราเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง ต่อเนื่อง และยั่งยืน
ฉนวนกันเสียง: แนวทางป้องกันเสียงดังเกินมาตรฐานในโรงานอุตสาหกรรม ทำได้อย่างไรบ้าง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://noisecontrol365.com/