ม่านกันเสียงและม่านทั่วไป
ม่านกันเสียง อีกประเภทของ ฉนวนกันเสียง ซึ่งนิยมใช้กันเสียงในโรงงานมากกว่าใช้กันเสียงในอาคารพักอาศัย เนื่องจากน้ำหนักและความแข็งตัวของม่านกันเสียงที่มีมากกว่าม่านทั่วไป ทำให้การใช้งานในบ้านหรือห้องชุดไม่เป็นที่นิยม มีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าม่านกันเสียงจะมีลักษณะของวัสดุคล้ายหรือเหมือนกับม่านบังแดดและบังตาโดยทั่วไป แต่โดยความเป็นจริงแล้วม่านกันเสียง จะมีน้ำหนักมากกว่าม่านธรรมดาหลายเท่าตัว
ม่านกันเสียงเหมาะกับการใช้งานแบบไหน
ม่านกันเสียงเหมาะกับการใช้ลดเสียงจากกระบวนการผลิตในโรงงาน หรือเสียงดังรบกวนจากเครื่องจักรที่ส่งผลกระทบกับพนักงาน เหมาะกับงานลดเสียงที่หวังผลประมาณ 5-10 dBA (ขึ้นอยู่กับพลังงานเสียง) หรืองานเก็บรายละเอียดหลังจากที่ทำห้องกันเสียงหรือติดแผ่นซับเสียงแล้ว แต่ระดับเสียงยังคงสูงกว่าความคาดหวังหรือเป้าหมายที่ต้องการลดเสียง ม่านกันเสียงจะมาช่วยลดระดับเสียงลงได้ในขั้นตอนสุดท้าย
ส่วนประกอบของม่านกันเสียง
ม่านกันเสียงมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบใส แบบทึบ ยังไม่นับรวมถึงวิธีการติดตั้งและวิธีการใช้งาน ที่มีทั้งแบบกึ่งอัตโนมัติและแบบใช้งานธรรมดา ส่วนประกอบของผนังกันเสียงจึงมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการลดเสียงจากแหล่งกำเนิดและเสียงที่ปลายทางหรือผู้รับเสียงต้องการ ตัวอย่างส่วนประกอบหลักของม่านกันเสียงได้แก่ ผ้าสักหลาดหนา ผ้าใยสังเคราะห์ที่มีความหนาแน่นสูง แผ่นโปลีเอสเตอร์หนา แผ่นวัสดุจำพวกเทอร์โมพลาสติค ผ้าเคลือบสารกันลามไฟ เป็นต้น
ตัวอย่างการใช้งานม่านกันเสียง
การติดตั้งม่านกันเสียงบริเวณประตูเข้าออก ของห้องไฮดรอลิคปั๊ม
การติดตั้งม่านกันเสียงบริเวณที่พนักงาน ทำงานอยู่ใกล้เครื่องจักร
การติดตั้งม่านกันเสียงรอบเครื่องตัดน้ำแข็ง หรือ freezing tower
การติดตั้งม่านกันเสียงรอบเครื่องแยกขนาด (sieving machine) เพื่อลดเสียงสะท้อน
การติดตั้งม่านกันเสียงบริเวณประตูห้องเครื่องอัดอากาศ เพื่อลดเสียงรบกวน
ข้อเด่นและข้อจำกัดของม่านกันเสียง
ในงานแก้ปัญหาเสียงรบกวนม่านกันเสียงเป็นทางเลือกที่ลงทุนน้อยสุด ทำได้รวดเร็วและลดระดับเสียงได้ในระดับที่น่าพอใจ แต่ม่านกันเสียงเหมาะกับงานลดระดับเสียงที่เกินความต้องการอยู่ไม่มาก และเนื่องจากไม่ได้เป็นการป้องกันเสียงทุกทิศทางเหมือนห้องกันเสียงหรือตู้กันเสียง ทำให้ต้องออกแบบความสูงและเลือกใช้วัสดุให้สอดคล้องกับคลื่นความถี่และความยาวคลื่นจากแหล่งกำเนิดเสียง ม่านกันเสียงจะใช้ได้ผลดีกับลักษณะงานที่มีการเดินทางของเสียงออกมาทิศทางเดียว เช่น ม่านกันเสียงหน้าประตูของห้องเครื่องจักร เพื่อลดเสียงรบกวนจากเครื่องจักรที่ได้ยินออกมานอกห้อง (เสียงออกจากห้องได้ทางประตูเท่านั้น)
การดูแลรักษาม่านกันเสียง
ม่านกันเสียงแทบจะทุกแบบไม่สามารถนำมาซักล้างได้ แต่สามารถดูแลทำความสะอาดได้โดยการเช็ดถูหรือดูดฝุ่น หากเป็นการใช้ในโรงงาน ต้องดูแลมิให้มีความเสี่ยงที่จะโดนของมีคม กรดหรือด่างที่มีความเข้มข้นสูง รวมไปถึงจาระบีหรือน้ำมันหล่อลื่นบางประเภทที่มีฤทธิ์ทำให้ม่านเสียหายหรือลุกติดไฟ
ประโยชน์และข้อจำกัดของ ม่านกันเสียง อีกหนึ่งสินค้า ฉนวนกันเสียง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://noisecontrol365.com/