Author Topic: โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบในผู้สูงอายุ ที่ไม่ควรมองข้าม  (Read 322 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline siritidaporn

  • Pro Member
  • *
  • Posts: 767
  • Karma: +0/-0

โรคความดันโลหิตสูง หรือ Hypertension คือ โรคเรื้อรังที่เกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย โดยค่าความดันโลหิตปกติจะอยู่ที่ 120/80 (mm/Hg) ดังนั้น

ผู้ที่มีค่าความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 ขึ้นไป ถือว่ามีความดันโลหิตสูง

ถ้าหากไม่มีการควบคุมค่าความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นต้น โดยเฉพาะปัญหาโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของเส้นเลือดตามช่วงอายุ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ง่าย


ดังนั้น ผู้ป่วย และผู้สูงอายุทุกคนจึงควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง พร้อมผลกระทบ และภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ เพื่อให้ทุกคนทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น และสามารถป้องกันได้อย่างทันท่วงที


ทำความรู้จักกับความดันโลหิตสูง

การวัดค่าความดันโลหิตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าความดันโลหิตตัวบน และค่าความดันโลหิตตัวล่าง โดยค่าความดันโลหิตตัวบนนั้นเป็นค่าความดันโลหิตในขณะที่หัวใจบีบตัว และค่าความดันโลหิตตัวล่างนั้นเป็นค่าความดันโลหิตของเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัวแล้ว ซึ่งค่าความดันโลหิตนั้นมีหลายระดับด้วยกัน ตั้งแต่ระดับปกติ ไปจนถึงระดับสูงมาก ดังนี้


การวัดค่าความดันโลหิต

ความดันโลหิตสูง หรือ Hypertension คือภาวะที่เกิดแรงดันในหลอดเลือดสูงกว่าระดับปกติ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีค่าความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่าเป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งจำเป็นต้องควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติ ถ้าหากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้หลอดเลือดแดงเสียหาย อาจนำไปสู่การแข็งตัวของหลอดเลือด หลอดเลือดอุดตัน และหลอดเลือดแดงแตกได้ นอกจากนั้นยังอาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้อีกมายมาย เพราะว่าอาการความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ แต่ว่าก็ยังมีอาการที่สามารถพบได้บ่อย ๆ อย่างเช่น อาการปวดหัว มึนงง หน้ามืดเป็นลม เป็นต้น

 
สาเหตุความดันโลหิตสูง เกิดจากอะไรได้บ้าง

โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่สามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดโรคได้ออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ 1.ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุอย่างชัดเจน และ 2.ชนิดที่ทราบสาเหตุ โดยความดันโลหิตสูงส่วนมาก (80-90%) เป็นชนิดไม่ทราบสาเหตุ แต่พบว่าสัมพันธ์กับ 1.พันธุกรรม 2.พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคอ้วน, สูบบุหรี่, ความเครียด

 

ส่วนสาเหตุความดันโลหิตสูงชนิดที่ทราบสาเหตุนั้นสามารถพบได้เพียง 10-20 % เท่านั้น เช่น ไตวาย เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต (hyperaldosteronism) หรือเส้นเลือดแดงบางเส้นผิดปกติ (Takayasu’s disease) เป็นต้น


กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสความดันโลหิตสูงได้ง่าย

พฤติกรรมการใช้ชีวิต ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่พบได้ เช่น

-    ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุทั้งชาย และหญิงที่มีอายุตั้ง 65 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่ยังมีอายุน้อย
-    น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน พบภาวะความดันโลหิตสูงได้มากกว่าคนปกติ และหากลดน้ำหนักลง 3-5% ขึ้นไป ก็จะทำให้ลดความดันโลหิตได้ส่วนหนึ่ง
-    สูบบุหรี่จัด เพิ่มโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ
-    ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรัง ระดับความเครียดที่สูงสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงแบบชั่วคราวได้ ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเครียดเรื้อรัง อาจส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง
-    มีโรคประจำตัว โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคไต เบาหวาน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ถือว่าเป็นโรคเรื้อรัง มักพบโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วยได้บ่อย

 
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง เป็นโรคเรื้อรังที่การเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถช่วยควบคุมความดันโลหิตได้บ้าง แต่ส่วนมากมักจำเป็นต้องใช้ยาควบคู่กัน การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถลดผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าปล่อยให้ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง และไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะยิ่งทำให้ร่างกายเกิดความเสียหาย และเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ดังนี้

 
โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (อัมพฤกษ์ หรือ อัมพาต)

ความดันโลหิตที่สูงมากหรือสูงเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษา จะทำให้หลอดเลือดแดงแแข็ง เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกได้เร็วกว่าคนปกติ ในบางรายภาวะหลอดเลือดสมองที่ตีบอาจนำไปสู่การเกิดภาวะสมองเสื่อม (vascular dementia) ได้

 
ผนังหลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aortic aneurysm)

ผนังหลอดเลือดแดงโป่งพอง เป็นภาวะที่ผนังหลอดเลือดเกิดการโป่งพอง เนื่องจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด ความดันโลหิตสูงจะทำให้ภาวะนี้เกิดขึ้นได้เร็วกว่าคนปกติ โดยหลอดเลือดแดงที่โป่งพองมาก อาจเกิดการแตกเฉียบพลัน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

 
ภาวะหัวใจล้มเหลว

ความดันโลหิตสูงนั้นส่งผลให้หัวใจทำงานหนักมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะพยายามสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้เพียงพอ จึงทำให้ผนังหัวใจหนาขึ้น และส่งผลให้หัวใจทำการสูบฉีดเลือดหนักกว่าเดิม ถ้าหากหัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่เพียงพอ หรือบกพร่องในการทำงาน จะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้

 
หัวใจวาย

ความดันโลหิตสูง ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงสามารถทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการแข็งตัว และหนาขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด และถ้าหากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ตามปกติก็จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายได้

 
ไตวาย

ความดันโลหิตสูงสามารถทำให้หลอดเลือดบริเวณไตเสื่อมสภาพ นำไปสู่ภาวะไตวายได้

 
การดูแลตัวเอง เมื่อเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ แต่ต้องอาศัยการดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย และการทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ซึ่งการดูแลตัวเองด้วยวิธีเหล่านี้สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตสูงอยู่ในเกณฑ์ปกติได้


การรับประทานอาหาร

การรับประทานอาหาร ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความดันโลหิต ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจึงจำเป็นต้องเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นทานผัก หรือผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกที่ไขมันอิ่มตัว ลดการบริโภคเกลือโซเดียม พร้อมกับควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย


1.    ลดการบริโภคเกลือ

เกลือ และอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป ของหมักดอง และเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ฯลฯ สามารถส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน

 
2.   ควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และดื่มเป็นประจำ สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจึงควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสม

 
3.    ลดอาหารไขมันอิ่มตัว เพิ่มผัก ผลไม้สด

ไขมันอิ่มตัวมีผลในการเพิ่มไขมันเลว (LDL) ในหลอดเลือด เป็นความเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง จึงควรหลีกเลี่ยง และเลือกรับประทานผัก ผลไม้สดที่มีโพแทสเซียมสูง เป็นผลดีต่อการควบคุมความดันโลหิตสูง

 
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์

การลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (overweight) หรือ โรคอ้วน (obesity) มีผลลดความดันโลหิตสูงได้ จึงควรมีการติดตามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (BMI 18.5-22.9 ในคนเอเชีย)

 
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงสามารถออกกำลังกายได้ ทั้ง Aerobic เช่น  ว่ายน้ำ เดิน วิ่ง และแบบ Strength training เช่น การยกน้ำหนัก แต่ควรมีการปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมความดันโลหิต รวมถึงตรวจหาโรคร่วมอื่นก่อนออกกำลังกาย

 
ผ่อนคลายความเครียด

ความเครียดเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูง ถ้าหากร่างกายเข้าสู่ภาวะเครียดก็จะหลั่งสารที่ชื่อว่าคอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดเร็วขึ้น และผนังหลอดเลือดเกิดการหดเกร็ง จึงทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น ดังนั้น จึงควรหมั่นคลายเครียดด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โยคะ ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ เป็นต้น
งดสูบบุหรี่

สารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในบุหรี่สามารถส่งผลให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ผนังหลอดเลือดเกิดการอักเสบ และหลอดเลือดแข็งตัว จนทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือด ดังนั้น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจึงควรงดสูบบุหรี่

 
กินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

ถึงแม้ว่าภาวะความดันโลหิตสูงจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในระดับที่ปกติ จนไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ นอกจากการเลือกรับประทานอาหาร รวมถึงการดูแลตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงควรกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ  และไม่ควรหยุดยา

 
วัดความดันโลหิตเป็นประจำ

การหมั่นวัดความดันโลหิตเป็นประจำสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรู้ค่าความดันโลหิตของตัวเองอยู่เสมอ ถ้าหากพบว่าความดันโลหิตสูงผิดปกติก็จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่มักถูกละเลยได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นวัยผู้สูงอายุหรือช่วงวัยอื่น ๆ เนื่องจากส่วนมากไม่มีอาการหรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากไม่ได้รับการรักษา จะนำไปสู่ภาวะการแทรกซ้อน เช่น หลอดเลือดสมองตีบ โรคหัวใจ ไตวายได้ การรักษาความดันโลหิตสูงด้วยยาควบคู่กับการปรับไลฟ์สไตล์ ออกกำลังกาย ลดเกลือ งดบุหรี่ มีความสำคัญอย่างมาก หากความดันโลหิตสูงได้รับการควบคุมให้ใกล้เคียงปกติ ก็จะเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา


โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบในผู้สูงอายุ ที่ไม่ควรมองข้าม อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)