ไข้หวัด เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่เพิ่งฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็ก และเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรก ๆ จะติดเชื้อจากเพื่อนในห้องป่วยเป็นไข้หวัดได้บ่อยมาก
โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบเป็นกันมากตามโรงเรียน โรงงาน และที่ที่มีคนอยู่รวมกลุ่มกันมาก ๆ และพบได้ตลอดทั้งปี มักจะพบมากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง
ไข้หวัดจัดว่าเป็นโรคที่ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ เนื่องเพราะมักมีอาการไม่รุนแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ด้วยการปฏิบัติตัวและการรักษาตามอาการ
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อหวัด ซึ่งเป็นไวรัส (virus) มีอยู่มากกว่า 200 ชนิดจากกลุ่มไวรัสหลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มไวรัสที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มไวรัสไรโน (rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด นอกนั้นก็มีกลุ่มไวรัสโคโรนา (coronavirus) กลุ่มไวรัสอะดีโน (adenovirus) กลุ่มอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus/RSV) กลุ่มไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (parainfluenza virus) กลุ่มเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) กลุ่มไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) กลุ่มเชื้อเริม (herpes simplex virus) เป็นต้น แต่ละกลุ่มจะมีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ เช่น ไวรัสโคโรนา มีสายพันธุ์เก่า 4 สายพันธุ์ ถึงปี 2563 มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น 3 สายพันธุ์ รวมทั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19
การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดนั้น ในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดต่าง ๆ มากขึ้น ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้น และมีอาการรุนแรงน้อยลงไป
เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด เนื่องจากเป็นฝอยละอองที่มีขนาดใหญ่ (มากกว่า 5 ไมครอน) จึงกระจายออกไปได้ไม่ไกล คือภายในระยะไม่เกิน 1 เมตร จัดว่าเป็นการแพร่กระจายทางละอองเสมหะ (droplet transmission)
นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อโดยการสัมผัส กล่าวคือ เชื้อหวัดอาจติดที่มือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่น หนังสือ โทรศัพท์ เป็นต้น) หรือสิ่งแวดล้อมที่เปื้อนถูกฝอยละอองของผู้ป่วย เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือของผู้ป่วยหรือสิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อหวัด เชื้อหวัดก็จะติดมือของคน ๆ นั้น และเมื่อใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคน ๆ นั้นจนกลายเป็นไข้หวัดได้
ระยะฟักตัว (ระยะตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งมีอาการเกิดขึ้น) 1-3 วัน
อาการ
มีไข้เป็นพัก ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย คอแห้งหรือเจ็บคอเล็กน้อย คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล ซึ่งมักจะมีน้ำมูกมากใน 2-3 วันแรก
น้ำมูกมีลักษณะใส บางรายหลังมีน้ำมูกใสได้ 2-3 วันน้ำมูกอาจมีลักษณะข้นขาว หรือเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว ซึ่งมักพบในช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า เนื่องจากเป็นน้ำมูกที่ค้างอยู่ในจมูกเป็นเวลานาน ตอนสาย ๆ ก็มักจะกลับกลายเป็นใส
ต่อมาอาจมีอาการไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะสีขาว บางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณลิ้นปี่เวลาไอ ในเด็กเล็กอาจมีอาการอาเจียนเวลาไอ
ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกไหล
ในเด็กมักจับไข้ขึ้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูงและชัก ในทารกอาจมีอาการอาเจียน หรือท้องเดินร่วมด้วย
ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้ติดต่อกันนานเกิน 4 วัน หรือมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล ติดต่อกันนานเกิน 10 วัน
ภาวะแทรกซ้อน
มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้มีไข้ หรือเป็นหวัดเรื้อรังนานกว่าปกติ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ดังนี้
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน มักพบในเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดหูมาก ในทารกจะมีอาการร้องงอแง เอามือดึงใบหูตัวเอง
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มีอาการไข้ ปวดหน่วง ๆ ที่หน้าผาก หัวตา หรือโหนกแก้ม มักมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวมีกลิ่นเหม็น
ทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน มีอาการเจ็บคอมาก กลืนลำบาก ตรวจพบทอนซิลบวมแดง เป็นหนอง
กล่องเสียงอักเสบ มีอาการเสียงแหบ
หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน มีอาการไอบ่อย มีเสลดที่ขึ้นมาจากหลอดลม
หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน มีอาการวิงเวียน เห็นบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน
โรคหืดกำเริบ มีอาการหายใจหอบ หายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ
ปอดอักเสบ มีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บหน้าอก หายใจหอบ หรือหายใจเร็ว
โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อน ตรากตรำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ (เช่น ขาดอาหาร เป็นต้น) ในทารก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมีสิ่งตรวจพบดังนี้
มักตรวจพบไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวมและแดง คอแดงเล็กน้อย ในเด็กอาจพบทอนซิลโต แต่ไม่แดงมากและไม่มีหนอง
ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือสงสัยว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น (เช่น ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 ไข้เลือดออก) แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด นำน้ำมูกหรือเสมหะไปตรวจหาเชื้อ เอกซเรย์ เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ให้ยารักษาตามอาการ ดังนี้
(1.1) สำหรับผู้ใหญ่ และเด็กอายุมากกว่า 6 ปี
ถ้ามีไข้ ให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล
ถ้ามีอาการน้ำมูกไหล ใช้กระดาษทิชชูเช็ดออก ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ยกเว้นในรายที่มีน้ำมูกมากหรือจามมากจนทำให้รู้สึกหายใจไม่สะดวก รู้สึกเหนื่อย หรือไม่สุขสบายอย่างมาก ให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน บรรเทาอาการเท่าที่จำเป็น โดยให้กินครั้งละ ½-1 เม็ด ถ้าไม่ทุเลาซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง ถ้าทุเลาแล้วให้หยุดยา*
ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่น น้ำมะนาว หรือน้ำขิงอุ่น ๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว** (น้ำผึ้ง 4 ส่วน น้ำมะนาว 1 ส่วน) บ่อย ๆ ถ้าไอมากลักษณะไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ให้ยาระงับการไอ
(1.2) สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
ถ้ามีไข้ ให้พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม
ถ้ามีน้ำมูกมาก ให้ใช้ลูกยางเบอร์ 2 ดูดน้ำมูกออกบ่อย ๆ (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรใช้น้ำเกลือหยอดในจมูกก่อน) หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่ง สอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรชุบน้ำสุก หรือน้ำเกลือพอชุ่มก่อน) แพทย์จะไม่ให้ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก เนื่องเพราะมีผลเสีย (ผลข้างเคียงจากยา) มากกว่าประโยชน์ในการรักษาโรค
ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมาก ๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว** ถ้ามีอาการอาเจียนเวลาไอ ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน แนะนำให้ป้อนนมและอาหารทีละน้อย แต่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจะเข้านอน
2. ยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องให้ เพราะนอกจากไม่ได้มีผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นไวรัส ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่างตามมาได้
แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน, ร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น) ในรายที่มีอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น
3. ถ้าไอมีเสมหะเหนียว ให้งดยาแก้แพ้ลดน้ำมูกและยาระงับการไอ และให้ดื่มน้ำมาก ๆ วันละประมาณ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร)
4. ถ้ามีอาการหอบ หรือนับการหายใจได้เร็วกว่าปกติ (เด็ก อายุ 0-2 เดือนหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปีหายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ปีหายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที) หรือมีไข้นานเกิน 4 วัน อาจเป็นปอดอักเสบหรือภาวะรุนแรงอื่น ๆ ได้ อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น แล้วทำการรักษาตามสาเหตุที่พบ
5. ถ้าสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 แพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อในจมูกหรือคอหอย และให้การดูแลรักษาตามสาเหตุที่พบ
6. ถ้าสงสัยเป็นไข้หวัดนก เช่น มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายภายใน 7 วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วัน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ถ้าเป็นจริงก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
ผลการรักษา ส่วนใหญ่ให้การรักษาตามอาการ มักหายได้ภายใน 7-10 วัน ส่วนน้อยที่อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งเมื่อให้ยาปฏิชีวนะรักษาก็หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ มีน้อยรายที่อาจเป็นปอดอักเสบ ซึ่งจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
*ยาแก้แพ้มีฤทธิ์ในการลดน้ำมูกในผู้ที่เป็นไข้หวัด ใช้เพียงเพื่อบรรเทาอาการให้สุขสบายเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น เนื่องจากยานี้อาจมีผลข้างเคียงได้หลายอย่าง จึงควรใช้บรรเทาอาการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี (นอกจากไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการแล้ว ยังอาจเกิดโทษได้อีกด้วย) ผู้ที่เป็นต้อหิน โรคลมชัก โรคหืด หรือต่อมลูกหมากโต (มีอาการปัสสาวะลำบาก) ก็ไม่ควรใช้ยานี้เพราะอาจมีผลข้างเคียงทำให้โรคเหล่านี้กำเริบได้
**ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำผึ้งแก่ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี เพื่อป้องกันการเกิดโรคโบทูลิซึม
การดูแลตนเอง
1. ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งมั่นใจว่าเป็นไข้หวัดที่ไม่รุนแรง ควรดูแลตนเอง ดังนี้
พักผ่อนมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป
สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝน หรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น
ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง
ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ
ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง
งดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่
ถ้ามีไข้สูง กินยาลดไข้-พาราเซตามอล (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม)
ถ้ามีน้ำมูกมาก สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ให้ใช้ลูกยางดูด หรือใช้กระดาษเช็ดออก
สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 6 ปี ใช้กระดาษเช็ดออก ถ้ามีน้ำมูกมากหรือจามมากจนทำให้รู้สึกหายใจไม่สะดวก รู้สึกเหนื่อย หรือไม่สุขสบายอย่างมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงความจำเป็นและความปลอดภัยในการใช้ยาแก้แพ้ลดน้ำมูกบรรเทาอาการ
ถ้าไอเล็กน้อย ให้จิบน้ำอุ่น น้ำมะนาว หรือน้ำขิงอุ่น ๆ บ่อย ๆ ถ้าไอมาก ให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี) หรือยาแก้ไอมะขามป้อม หรืออมยาอมมะแว้ง (ยกเว้นเด็กเล็ก) ถ้าไอมีเสมหะเหนียว ควรดื่มน้ำมาก ๆ
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- พบอาการไข้หรือไข้หวัดในทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน
- ทารกมีไข้ ร่วมกับร้องกวนงอแงมาก หรือเอามือดึงใบหูตัวเอง หรือมีไข้ขึ้นสูงกว่าวันแรก ๆ
- มีไข้สูงตลอดเวลา หรือมีไข้เป็นพัก ๆ ทุกวันติดต่อกันนานเกิน 4 วัน หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย หรือหลังจากไข้หายแล้วไม่นานกลับมีไข้กำเริบใหม่
- ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ปวดเมื่อยตามตัวมาก นอนซม หรือซึมมาก
- ปวดหูมาก เจ็บหน้าอกมาก เจ็บคอมาก กลืนลำบาก หรือกินอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย
- มีอาการปวดและกดเจ็บที่หน้าผาก หัวตา หรือโหนกแก้ม
- มีน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองหรือเขียว และมีกลิ่นเหม็น
- หายใจหอบ หรือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีหายใจเร็วกว่าปกติ (เด็กอายุ 0-2 เดือนหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปีหายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ปีหายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที)
- มีอาการหอบหืดกำเริบ หรือหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ
- มีอาการเป็นหวัดคัดจมูก น้ำมูกไหล เป็นเวลานานเกิน 10 วัน
- มีอาการไอนานเกิน 14 วัน หรือไอมีเสลดข้นเหลืองหรือเขียว
- มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด
- สงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โรคโควิด-19 ไข้เลือดออก หรือไข้จากสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ
- มีประวัติการแพ้ยา หรือหลังกินยามีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
2. ถ้าสงสัยว่ามีอาการรุนแรง หรือไม่มั่นใจที่ดูแลตนเองตั้งแต่แรก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัด ควรดูแลตนเองดังนี้
กินยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- หายใจหอบ/หายใจมีเสียงดังวี้ด หรือเจ็บหน้าอกมาก
- ไอเป็นเลือด หรือน้ำหนักลด
- ปวดหูมาก เจ็บหน้าอกมาก เจ็บคอมาก กลืนลำบาก หรือกินอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย
- มีอาการปวดและกดเจ็บตรงหน้าผาก หัวตา หรือโหนกแก้ม
- มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว และมีกลิ่นเหม็น
- มีอาการไข้นานเกิน 4 วัน มีน้ำมูกนานเกิน 10 วัน ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอนานเกิน 14 วัน
- ในกรณีที่แพทย์ให้กินยาปฏิชีวนะ ถ้ากินไป 4 วันยังไม่ทุเลา หรือทำยาหาย
- มีอาการที่สงสัยว่าแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น
การป้องกัน
1. หมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าตรากตรำงานหนักเกินไป ระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศเย็น
2. ในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นไข้หวัด ควรปฏิบัติดังนี้
ในช่วงที่มีการระบาด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า งานมหรสพ เป็นต้น ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรือชโลมมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก
อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรือชโลมมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เครื่องใช้ โทรศัพท์ ของเล่น เป็นต้น) ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย
ผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น อย่านอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก เวลาเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัย
ข้อแนะนำ
1. ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดอย่างได้ผล การรักษาอยู่ที่การพักผ่อนและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยาที่ใช้ก็เป็นเพียงยาที่รักษาตามอาการเท่านั้น
ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดจากไวรัสส่วนใหญ่มักจะหายได้เองด้วยกลไกธรรมชาติของร่างกาย และหายตามระยะของโรค โดยทั่วไป อาการตัวร้อนมักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน และอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหลมักเป็นอยู่นาน 7-10 วัน ถ้ามีไข้เกิน 4 วัน หรือเป็นหวัดน้ำมูกไหลเกิน 10 วัน มักแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรืออาจเกิดจากโรคอื่น ๆ
ผู้ป่วยบางรายถึงแม้จะหายตัวร้อนแล้ว แต่ก็อาจมีน้ำมูกและไอต่อไปได้ บางรายอาจไอโครก ๆ อยู่เรื่อย อาจนานถึง 7-8 สัปดาห์ เนื่องจากเยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลายชั่วคราว ทำให้ไวต่อสิ่งระคายเคือง (เช่น ฝุ่น ควัน) มักจะเป็นลักษณะไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาว ถ้าพบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ไม่ต้องให้ยาอะไรทั้งสิ้น ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ (ควรงดดื่มน้ำเย็น ถ้าดื่มแล้วทำให้ไอมากขึ้น)
2. ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ (ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบ) แก่ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทุกราย ยกเว้นในรายที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียที่จำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้เท่านั้น
การใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับไข้หวัดจากไวรัสไม่ได้ช่วยให้โรคหายไว หรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา ที่สำคัญ การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง (เช่น ท้องเดิน จุกแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย) แพ้ยา และอาจก่อโทษต่อร่างกาย เช่น ทำให้เชื้อโรคดื้อยา ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกาย ทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อน (เช่น ลิ้นเป็นโรคเชื้อรา ตกขาวจากเชื้อรา โรคท้องเดินชนิดรุนแรง เป็นต้น)
3. ผู้ที่เป็นไข้หวัด (ซึ่งมีอาการตัวร้อนร่วมด้วย) เรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย อาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด ทาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางอะพลาสติก โรคขาดอาหาร เป็นต้น จึงควรตรวจดูว่ามีสาเหตุเหล่านี้ร่วมด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ยังเกิดจากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งอาจเกิดจากการนอนหลับพักผ่อนไม่พอ มีจิตใจเครียด หรือขาดการออกกำลังกาย หากพบว่าเกิดจากสิ่งเหล่านี้ ก็ควรแก้ไขให้ร่างกายแข็งแรง
4. เด็กเล็กที่เพิ่งฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเข้าโรงเรียนในช่วง 3-4 เดือนแรก อาจเป็นไข้หวัดได้บ่อย เพราะติดเชื้อหวัดหลากชนิดจากเด็กคนอื่น ๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเรื่อย ๆ
เด็กที่เป็นไข้หวัดบ่อย แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน ถ้าไม่พบมีความผิดปกติ และเด็กมีพัฒนาการดี ก็จะอธิบายให้พ่อแม่เด็กเข้าใจ และแนะนำให้มียาลดไข้พาราเซตามอลไว้ประจำบ้านให้เด็กกินเวลาตัวร้อน ส่วนยาอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องให้ ควรดูแลเรื่องอาหารการกิน หมั่นชั่งน้ำหนักตัว พอพ้น 3-4 เดือน อาการก็จะเป็นห่างไปเอง เนื่องจากร่างกายเริ่มมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดมากชนิดแล้ว
5. ผู้ที่เป็นหวัดโดยไม่มีไข้ โดยมีน้ำมูกใสและจามบ่อย มักเกิดจากการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือละอองเกสร มากกว่าที่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส (ดู "หวัดภูมิแพ้")
6. ผู้ที่มีอาการไข้และมีน้ำมูก แต่ตัวร้อนจัดตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่ค่อยทุเลา มักจะไม่ใช่เป็นไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น หัด ปอดอักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ แพทย์จะตรวจดูอาการของโรคเหล่านี้อย่างละเอียด
นอกจากนี้ยังมีโรคติดเชื้ออื่น ๆ อีกหลายชนิด ที่ในระยะแรกอาจแสดงอาการคล้ายไข้หวัดได้ เช่น ไข้เลือดออก ไอกรน คอตีบ โปลิโอ ตับอักเสบจากไวรัส ไทฟอยด์ สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น จึงควรติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ถ้าพบว่ามีไข้นานเกิน 4 วัน หรือมีอาการผิดไปจากไข้หวัดธรรมดา ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
7. อย่าซื้อหรือใช้ยาชุดแก้หวัดที่มียาปฏิชีวนะหรือยาสตีรอยด์ผสมอยู่ด้วย นอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังอาจมีอันตรายได้
8. เมื่อเป็นหวัด ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูก เพราะอาจทำให้เชื้อลุกลามเข้าหูและโพรงไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบแทรกซ้อนได้
9. สำหรับเด็กเล็ก อย่าซื้อยาแก้หวัดแก้ไอสูตรผสมต่าง ๆ กินเอง เพราะอาจมีตัวยาเกินความจำเป็น จนอาจเกิดพิษได้ แม้แต่ยาแก้แพ้ แก้หวัด นอกจากจะไม่มีประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงต่อเด็กเล็กได้ ในการรักษากันเองเบื้องต้น ควรใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลเพียงชนิดเดียวจะปลอดภัยกว่า
10. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ข้อมูลสุขภาพ: ไข้หวัด (Common cold/Upper respiratory tract infection/URI) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/expert-scoops