Author Topic: ข้อมูลโรค: ภาวะตั้งครรภ์ (Pregnancy) แพ้ท้อง (Morning sickness)  (Read 668 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline siritidaporn

  • Pro Member
  • *
  • Posts: 771
  • Karma: +0/-0

ภาวะตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ที่ตั้งครรภ์อย่างมากมาย เกิดภาวะเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่ต้องให้การดูแลรักษาเพื่อให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ประมาณ 3 ใน 4 คน อาจมีอาการแพ้ท้องไม่มากก็น้อย ซึ่งจะเป็นมากในช่วงสัปดาห์ที่ 5-6 ของการตั้งครรภ์ และจะเป็นอยู่จนกระทั่งสัปดาห์ที่ 14-16 หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง

สาเหตุ

ภาวะตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโตขึ้นของมดลูกตามอายุครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอร์โมนหลายชนิดที่รกสร้าง และการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่พบร่วมกันในหญิงตั้งครรภ์ และอาจทำให้เกิดโรคและภาวะผิดปกติในหญิงตั้งครรภ์บางราย

แพ้ท้อง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเป็นผลมาจากร่างกายมีระดับเอสโทรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (human chorionic gonadotropin/HCG ที่รกสร้าง) สูง นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะจิตใจและอารมณ์ ซึ่งพบว่าผู้ที่มีอารมณ์อ่อนไหว เครียด วิตกกังวล จะมีอาการแพ้ท้องได้มาก

ผู้ที่เคยมีอาการแพ้มาก่อน หรือผู้ที่เคยมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนจากโรคไมเกรน จากการได้กลิ่นหรือรสอาหารบางอย่าง หรือจากการใช้ยาเอสโทรเจน (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด) มีโอกาสเกิดอาการแพ้ท้องได้มากกว่าคนปกติทั่วไป

ผู้หญิงที่มีครรภ์แฝด หรือครรภ์ไข่ปลาอุก อาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรง เรียกว่า “ภาวะแพ้ท้องอย่างแรง (hyperemesis gravidarum)” เชื่อว่าสัมพันธ์กับระดับเอชซีจีที่สูง นอกจากนี้ภาวะแพ้ท้องอย่างแรงยังอาจพบในผู้ที่มีประวัติเคยมีภาวะนี้ในครรภ์ก่อน ๆ หรือมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้

อาการ

ระยะแรกเริ่มมักมีอาการอ่อนเพลีย เต้านมคัดและเจ็บ ปัสสาวะบ่อย และอาจมีอาการเบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น ร่วมกับมีประวัติขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนเลยกำหนดเป็นสัปดาห์

ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง มักมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม บางครั้งอาเจียน ส่วนใหญ่มักเป็นมากตอนเช้าหลังตื่นนอน แต่ก็อาจมีอาการในช่วงกลางวันและตอนเย็นก็ได้ ผู้ป่วยมักมีความรู้สึกไม่ชอบกลิ่นอาหาร (เช่น กาแฟ เนื้อ) กลิ่นน้ำหอมที่เคยชอบกลับไม่ชอบ อยากกินของเปรี้ยว เช่น มะม่วง มะกอก มะดัน

เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น จะมีอาการท้องโต (ท้องป่อง) และอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

อาการเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์

ผู้หญิงตั้งครรภ์มักมีอาการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้

รู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งพบในไตรมาสแรก (เนื่องจากปริมาตรของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น) หลังจากนั้นจะทุเลาไป และกลับมีอาการอ่อนเพลียเมื่อย่างเข้าไตรมาสที่ 3 เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้น
รู้สึกอยากนอน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน รวมทั้งนอนไม่พอเนื่องจากเด็กดิ้น และต้องตื่นขึ้นปัสสาวะบ่อย
เต้านมคัดและเจ็บ เนื่องจากการขยายของเต้านมจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโทรเจน ลานหัวนมจะขยายออกและมีสีคล้ำขึ้น และจะมีนมน้ำเหลือง (colostrum) ไหลจากหัวนมเวลาบีบ
มดลูกค่อย ๆ โตขึ้น จนเห็นท้องป่องเมื่ออายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ โตขึ้นระดับสะดือเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และถึงระดับใต้ลิ้นปี่เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ มดลูกที่โตขึ้นจะกดทางเดินอาหารและทางเดินปัสสาวะให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
ตกขาว ออกเป็นเมือกใสหรือสีขาว และมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ ถ้าออกเป็นสีเหลืองสีเขียว มีกลิ่น หรือแสบคันในช่องคลอด ถือว่าผิดปกติ
หัวใจทำงานหนักขึ้นเนื่องจากปริมาตรของเลือดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชีพจรเต้นเร็ว (เพิ่มจาก 70 ครั้ง/นาที เป็น 80-90 ครั้ง/นาที) ผู้ป่วยอาจรู้สึกใจสั่น ชีพจรอาจเต้นไม่สม่ำเสมอเป็นบางครั้ง การฟังเสียงหัวใจอาจมีเสียงฟู่ (murmur) ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติ แต่ควรแยกออกจากภาวะผิดปกติของหัวใจ
มีอาการคัดจมูก นอนกรน เลือดกำเดาไหล มีเสียงดังในหูหรือหูอื้อ (จากท่อยูสเตเชียนบวม) เนื่องจากเยื่อเมือกบวมเพราะมีเลือดไปคั่งมากขึ้น
หายใจเร็วและลึกขึ้น เนื่องจากโพรเจสเทอโรนกระตุ้นให้สมองสั่งให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มีระดับต่ำในเลือด
เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม เนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือด (ทำให้ความดันโลหิตต่ำ) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมทั้งภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยบางราย
คลื่นไส้ พะอืดพะอม บางครั้งอาเจียน
แสบลิ้นปี่จากโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารหย่อนคลาย (เนื่องจากฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน) และการดันของมดลูก พบได้บ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3
ท้องผูก เนื่องจากอิทธิพลของโพรเจสเทอโรน ร่วมกับการกดของมดลูกต่อลำไส้ใหญ่
ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากไตขับปัสสาวะมากขึ้น ร่วมกับมดลูกกดกระเพาะปัสสาวะ (ในช่วงไตรมาสแรก) และศีรษะทารกกดกระเพาะปัสสาวะ (ในช่วงใกล้คลอด) ทำให้มีความจุลดลง จึงเกิดอาการปวดถ่ายปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลาเข้านอนตอนกลางคืน จะพบในช่วงไตรมาสแรกและช่วงใกล้คลอด
เท้าบวม หลอดเลือดขอดที่ขาและช่องคลอด และริดสีดวงทวาร เนื่องจากมดลูกกดท่อเลือดดำในช่องท้อง ทำให้เลือดดำจากเท้าและบริเวณเชิงกรานไหลกลับเข้าสู่หัวใจไม่ได้
มีฝ้าหรือปื้นสีน้ำตาลขึ้นที่หน้าผาก โหนกแก้มและคอ ผิวหนังที่หน้าท้องออกแดงและแตกเป็นรอย (บางครั้งพบที่บริเวณหน้าขาและเต้านม) และตรงกลางของบริเวณหน้าท้อง มีเส้นสีน้ำตาลดำ เชื่อว่าเกิดจากรกสร้างฮอร์โมนกระตุ้นเซลล์เม็ดสี (melanocyte stimulating hormone) ให้สร้างเม็ดสี (melanin) มากขึ้น
จุดแดงรูปแมงมุม (spider nevi) เนื่องจากการพองตัวของหลอดเลือดฝอย พบที่บริเวณหน้าท้อง หน้าอก จมูก
ปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากกระดูกสันหลังแอ่นมากขึ้น เพื่อปรับความสมดุลของร่างกายจากการโตขึ้นของมดลูก
น้ำหนักตัวค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยประมาณดังนี้ อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ 650 กรัม 20 สัปดาห์ 4 กก. 30 สัปดาห์ 8.5 กก. และ 40 สัปดาห์ 12.5 กก.


ข้อมูลโรค: ภาวะตั้งครรภ์ (Pregnancy) แพ้ท้อง (Morning sickness) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)


Related Topics

  Subject / Started by Replies Last post
0 Replies
2256 Views
Last post November 03, 2010, 04:40:24 PM
by Nick
0 Replies
2190 Views
Last post November 04, 2010, 09:48:07 PM
by Nick
0 Replies
2431 Views
Last post January 04, 2011, 04:58:39 PM
by Nick
0 Replies
2325 Views
Last post March 11, 2011, 07:14:07 PM
by Nick
0 Replies
1159 Views
Last post June 21, 2012, 02:30:59 PM
by Nick
0 Replies
1589 Views
Last post May 28, 2013, 01:27:08 AM
by Nick
0 Replies
1118 Views
Last post September 17, 2013, 03:47:51 PM
by Nick
0 Replies
821 Views
Last post June 15, 2023, 01:50:28 AM
by siritidaporn