ฟ้องหย่า
มีรายละเอียดอย่างไร และเรียกร้องอะไรได้บ้าง ? กรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องการหย่า แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการหย่า สามารถไปฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ แต่ต้องมีเหตุฟ้องหย่าตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1516 เท่านั้น จะอาศัยเหตุอื่นมาเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ และจะทำสัญญาก่อนสมรสกำหนดเหตุฟ้องหย่ากันไว้เองก็ไม่ได้ด้วยเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการฟ้องหย่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะต่อสู้คดีว่าไม่มีเหตุฟ้องหย่าและการสมรสเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ยินยอมเป็นสามีภริยากัน ศาลพิพากษาว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะก็ได้
เหตุฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516 มีทั้งหมด 10 เหตุ (คลิกอ่านบทความ เหตุฟ้องหย่า 10 ประการที่นี่) โดยทั้งหมดนี้ใช้ในการฟ้องหย่าในประเทศไทยทุกกรณี กล่าวคือ หากเป็นสามีภริยาชาวต่างชาติ แต่ถ้ามาฟ้องหย่ากันในประเทศไทยต้องใช้เหตุหย่า ตามมาตรา 1516 และต้องนำสืบด้วยว่ากฎหมายแห่งสัญชาติตนและจำเลยให้สิทธิฟ้องหย่าได้ หากไม่นำสืบ ศาลพิพากษายกฟ้องได้แม้จำเลยไม่ได้ยกเป็นข้อต่อสู้ก็ตาม
สำหรับการสมรสโดยบุคคลเพศเดียวกันที่กระทำในต่างประเทศโดยชอบด้วยกฎหมายของต่างประเทศ ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการสมรสตามกฎหมายไทย โดยต้องถือว่าไม่ใช่การสมรสจะมาฟ้องหย่าในศาลไทยไม่ได้ และการจดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิต ก็มาฟ้องหย่าในศาลไทยไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนเพศ เช่น ชายเปลี่ยนเพศเป็นหญิง แล้วไปจดทะเบียนสมรสกับชาย แบบนี้ถือว่าเป็นการสมรสกันตามกฎหมายมาฟ้องหย่าในศาลไทยได้
การฟ้องหย่า ให้ฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ โดย
“มูลคดี” คือ ที่ที่เกิดต้นเหตุแห่งการฟ้องหย่า ไม่ใช่ที่ที่จดทะเบียนสมรส เช่น สามีภริยาไปเที่ยวภูเก็ตแล้วสามีทำร้ายภริยาจนภริยาต้องการหย่า แบบนี้มูลคดี คือ ภูเก็ต ฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น
ฟ้องหย่า (นอกจากฟ้องหย่าแล้วจะเรียกร้องอะไรได้อีกบ้าง) 1. ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพ ตามมาตรา 1526 , 1527 , 1528 , 1461
2. ฟ้องเรียกค่าอุปการะลี้ยงดูบุตร (กรณีมีบุตร) / การใช้อำนาจปกครองบุตร มาตรา 1520 , 1522
3. ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้นตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง หรือ เรียกค่าทดแทนจากชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคสองได้
4. ฟ้องแบ่งสินสมรส มาตรา 1533 , มาตรา 1535 และการชำระหนี้ (สินสมรส มาตรา 1474 , สินส่วนตัว มาตรา 1471) ได้
ฟ้องหย่า จะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ? 1. ใบสำคัญการสมรส
2. ทะเบียนบ้านที่สามี-ภรรยา และบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกัน
3. บัตรประจำตัวประชาชน สามี-ภรรยา
4. สูติบัตรบุตรหรือทะเบียนบ้านของบุตรทุกคน (ถ้ามีบุตรด้วยกัน)
5. หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ทั้งของสามีภรรยาและบุตร ถ้ามี)
6. หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่จะฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516
7. หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินสมรส เช่น โฉนดที่ดิน รายการจดทะเบียนรถยนต์ สมุดบัญชีเงินฝาก เป็นต้น (เฉพาะกรณีที่มีประเด็นเรื่องการแบ่งสินสมรสด้วย)
8. หลักฐานเกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ เช่น หลักฐานการศึกษา การส่งเสียเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ (เฉพาะคดีที่มีประเด็นเรื่องอำนาจปกครองบุตร)
9. บันทึกข้อตกลงการหย่า (ถ้ามี)
ก่อนฟ้องหย่า แนะนำให้ปรึกษาทนายความก่อนนะครับ 1. เรียบเรียงและนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาปรึกษาทนายความก่อน
2. รวบรวมพยานหลักฐาน เอกสารที่เกี่ยวข้องนำมาให้ทนายตรวจสอบก่อน
3. หากทนายความพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเหตุที่สามารถฟ้องหย่าได้ ก็ตกลงเซ็นต์ใบแต่งทนายความและทำสัญญาจ้างว่าความ
4. เพื่อให้ทนายทำหน้าที่จัดทำคำฟ้อง ยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ