ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่าน โมเดลการแปรสัมปทาน เป็นเหมือนเรื่องเก่าเอามาเล่าใหม่ไม่รู้กี่ยุคสมัย แต่ก็ไม่เคยเห็นสำเร็จได้เสียที
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จาก 2จี ไปสู่ 3จี ไม่ว่าจะด้วยการประมูลใบอนุญาตใหม่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือจากแนวคิดของฝั่งรัฐบาลที่ต้องการให้แปรสัญญาสัมปทานคู่ขนานกันไป โดยอาจจะรวมไปถึงการเปลี่ยนสัมปทาน 2จี ขยายเป็นสู่ใบอนุญาต 3จีบนคลื่นความถี่เดิม แต่หากมองให้ลึกลงไปแล้ว โมเดลการแปรสัมปทาน เป็นเหมือนเรื่องเก่าเอามาเล่าใหม่ ไม่รู้กี่ยุคสมัยแต่ก็ไม่เคยเห็นสำเร็จได้เสียที
กระนั้น แม้ครั้งนี้ความเข้มข้นของการแปรสัมปทาน หรือที่ “กรณ์ จาติกวณิช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดว่ามันคือการ “ยกเลิกระบบสัมปทาน” จะสร้างแรงกระเพื่อมได้มากกว่าครั้งไหนๆ แต่ไม่รู้ว่าหลังจากที่คณะทำงานศึกษาแนวทางดังกล่าว มีผลสรุปออกมาทำได้หรือไม่ องค์กรที่ได้รับความเสี่ยงไปเต็มๆ ไม่ว่าเหรียญจะออกมาเป็นหัว หรือก้อย ก็หนีไม่พ้น “ทีโอที”
หวังเห็นสนับสนุน 3จีทีโอทีคู่กันไป
นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า การยุติสัมปทานโทรศัพท์มือถือมาเป็นรูปแบบการออกใบอนุญาต (ไลเซ่น) 2จีนั้น คงต้องขอดูรายละเอียดว่ามีอะไรบ้าง และคงต้องให้ทีมคณะกรรมทำงาน ชุด นายมนต์ชัย หนูสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการบริหาร และการลงทุน ศึกษารายละเอียดและเตรียมความพร้อมรับมือกับเรื่องดังกล่าว
ขณะเดียวกัน มองว่าการที่รัฐมีแนวทางให้ทีโอทีเป็นเน็ตเวิร์ค โพรไวเดอร์ เปิดให้เอกชนเช่าใช้โครงข่าย ถือเป็นแนวทางที่ดีมาก เพราะสามารถช่วยผลกระทบจากรายได้ที่เคยเป็นส่วนของสัญญาสัมปทานที่มากกว่า 40% ต้องลดลงไป แต่หากจะให้ดีมากขึ้น ต้องการเห็นรัฐบาล กระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) ผลักดันบริการ 3จีทีโอทีด้วย เพราะนี่เป็นธุรกิจที่สำคัญเหมือนกัน ที่จะช่วยให้ทีโอทีแข่งขันได้ และมีรายได้เลี้ยงตัวในระยะยาว
งบลงทุนขยายเน็ตเวิร์คค้างเติ่ง
ทั้งนี้ ความคืบหน้าการเปิดให้บริการ 3จีของทีโอทีบนคลื่น 1900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่ 3 ธันวาคม 2552 ใน กทม.และปริมณฑล โดยเปิดให้เอกชนมาร่วมทำการตลาด (เอ็มวีเอ็นโอ) ถึง 5 รายผ่านไป 7 เดือนมีลูกค้าเพียงหลักแสนรายเท่านั้น ถือเป็นบทเรียนอย่างหนึ่งแล้วว่า การทำตลาดโทรศัพท์มือถือในอุตสาหกรรมวันนี้ ไม่ใช่มีเพียงคลื่นที่รองรับ 3จีได้จะประสบความสำเร็จอย่างดี แต่ยังต้องมีความเชื่อมั่น เน็ตเวิร์คคุณภาพ บริการที่เสริมเป็นออปชั่นหลักด้วย
นายวรุธ ยอมรับว่า แผนการตลาด 3จีผิดไปจากเป้าหมายเดิม หรือที่เคยคาดการณ์เอาไว้มาก ปัญหาหลักๆ คือ โครงสร้างที่ยังไม่เสถียร บางพื้นที่ใน กทม. ยังมีจุดอับสัญญาณทำให้ผลตอบรับจากลูกค้าบางส่วนไม่สร้างความประทับใจเลย ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่เลี่ยงไม่ได้คือ “แหล่งเงินทุน” ที่จนถึงขณะนี้ แม้จะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีไอซีทีมาถึง 3 คนแล้ว แต่การของบลงทุนโครงข่ายเพิ่มจากรัฐบาล ยังไม่มีความคืบหน้า
แผนการดำเนินธุรกิจ 3จีทีโอทีที่จะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้ง การหาแหล่งเงินกู้ทั้งจากสถาบันการเงินในประเทศ และต่างประเทศก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้วยมูลค่าการลงทุน 17,000 ล้านบาท อิงจากผลสรุปมูลค่าการลงทุนของ ครม.เศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเสนอไอซีทีตั้งแต่ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็นรัฐมนตรี โดยขณะนี้รอเพียงนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีทีคนปัจจุบันพิจารณา เพื่อขออนุมัติวงเงินต่อไป
แปรสัมปทาน-ประมูล 3จีสารพัดเสี่ยง
นายจุติ รมว.ไอซีที กล่าวว่า ความเสี่ยงของรัฐวิสาหกิจในสังกัดโดยเฉพาะที่จะเกิดกับทีโอทีนั้น ค่อนข้างมีอัตราที่สูงมาก หากแปรสัญญาสัมปทานจะทำให้ทีโอทีต้องปรับตัวอย่างหนัก เพราะตามรายงานที่ผ่านมา ทีโอทีมีรายได้โดยอาศัยจากส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทานมากถึง 40-50% แต่หากมองตัวธุรกิจทีโอทีเองแล้ว ถ้าไม่นับค่าต๋งจากเอกชนที่ต้องส่งให้ทุกปีๆ ก็เท่ากับว่า ผลประกอบการของทีโอทีมีสถานะขาดทุน
หากในส่วนของไอซีที ยังยืนยันว่า ให้การสนับสนุนการเปิดบริการ 3จีของทีโอที เพียงแต่ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เป็นประธาน ดังนั้นไอซีที จึงไม่ต้องการเข้าไปล้วงลูก หรือก้าวก่ายการทำงานของใคร จึงขอให้บอร์ดทีโอทีชุดใหม่นี้ อนุมัติแผนการขยายโครงข่าย และจัดหาแหล่งเงินทุนตามที่ฝ่ายบริหารเสนอมาเสียก่อน จึงจะนำมาพิจารณาและอาจจะเสนอ ครม. ต่อไป
อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า ต้องการถามกลับไปยังทีโอทีว่า การลงทุน 3จีมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด และหากทำได้จริงแล้ว รายได้จะเพิ่มขึ้นมาเท่าไร เพราะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นเจ้าของทีโอที 100% ก็คงต้องการทราบเช่นกัน ถึงการทำธุรกิจ 3จีทีโอทีพันธุ์ไทยลูกครึ่งรัฐบาล และต้องดูด้วยเมื่อเปิดประมูลใบอนุญาต 3จีของ กทช. แล้วทีโอทีจะวางแผนรองรับต่ออย่างไร
“เรื่อง 3จีผมให้บอร์ดเป็นคนรับผิดชอบไปเลย ซึ่งหากผ่านไอซีทีแล้ว ก็จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี ว่าเห็นด้วยกับแผนดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา เราให้อิสระกับทีโอทีเต็มที่ในการวางแผนธุรกิจ การจัดหาแหล่งเงินกู้ โดยไอซีทีจะไม่เข้าไปล้วงลูก ถ้าแผนผ่าน ครม. ได้เร็ว ก็จะทำให้ทีโอทีไม่เสียเปรียบผู้ประกอบการรายอื่น ที่จะเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ในเดือนก.ย.นี้”
สรท.ร้องรัฐมองข้าม 3จีทีโอทีตลอด
นายพงษ์ฐิติ พงษ์ศิลามณี ประธานสหภาพฯ ทีโอที (สรท.) กล่าวว่า แนวทางของรัฐบาลยังไม่ชัดเจนว่ารัฐจะยังมีได้รายได้ รวมถึงไม่สูญเสียรายได้หรือไม่ ขณะที่การให้ทีโอที มีรายได้จากการเช่าใช้โครงข่าย ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าสุดท้ายลูกค้าจะโอนย้ายลูกค้าไปที่ระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งรายได้ที่จะมีจากการเช่าใช้โครงข่ายจะเกิดจากบริการเชื่อมโยงโครงข่าย (โรมมิ่ง) ถือว่าน้อยมาก
เช่นเดียวกับ นายโสภณ ยาเอก กรรมการสหภาพรัฐวิสาหกิจ ได้ระบุว่า สหภาพไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแปรสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 จีปัจจุบัน เป็นใบอนุญาต และเห็นว่าเจตนาของรัฐบาลครั้งนี้ผิดปกติ และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง คือบริษัท ทรูมูฟ จำกัดที่อายุสัญญาใกล้จะสิ้นสุดลง
ที่ผ่านมาทีโอที ถูกกำหนดให้เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องลงทุนใดๆ อาศัยรายได้จากสัมปทานเป็นหลัก ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่ 40-50% โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนแทนภายใต้สัญญาร่วมการงาน และเมื่อสิ้นสุดสัญญาให้ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของทีโอทีอยู่ดี การที่เอไอเอสหมดสัมปทานลงในอีก 5 ปีข้างหน้า ทรัพย์สินทั้งหมดก็จะตกเป็นของทีโอที ซึ่งสามารถนำมาบริหารจัดการ ทั้งในรูปแบบให้เช่าใช้โครงข่าย หรือให้สิทธิเอกชนบริหาร สุดท้ายรายได้จะกลับมาที่ทีโอทีทั้งหมด
คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า จริงหรือไม่ที่รัฐบาล กระทรวงการคลัง ไอซีที มองข้าม 3จีทีโอที เพราะกระแสการยุติสัญญาสัมปทานเพื่อมาออกใบอนุญาตแทนนั้นมีเหตุผลว่าต้องการให้ทีโอทีมีรายได้ต่อไปหากสัมปทานหมดลง และจะดีกว่าหรือไม่ ถ้าจะออกแรงสนับสนุนการลงทุนระบบ 3จีของทีโอทีให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เรื่องนี้ คงต้องย้อนไปถาม "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี ว่ายังจำได้หรือไม่ที่จะมามอบนโยบาย 3จีให้แก่ไอซีที รวมถึงทีโอทีภายในเดือนก.ค.นี้
ที่มา: bangkokbiznews.com