โรคหัวใจเป็นโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจผิดปกติไป ซึ่งโรคหัวใจสามารถแบ่งย่อยออกเป็นหลายแบบด้วยกัน เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น โดยโรคหัวใจนี้ถือเป็นโรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ในอดีตพบว่าโรคหัวใจมักเกิดในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นหนุ่มสาวมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ในบทความนี้จะมาทำความรู้จักกับโรคหัวใจแบบละเอียด และ 10 อาการโรคหัวใจ เพื่อเสริมเป็นความรู้ และให้ข้อมูลในการตัดสินใจเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจ
โรคหัวใจ (Heart Disease)
โรคหัวใจ (Heart Disease) เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งโรคหัวใจนี้สามารถแบ่งย่อยออกมาได้หลายโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย โดยมีจำนวนมากถึงปีละ 7 หมื่นราย และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย ซึ่งสาเหตุโรคหัวใจมักมีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ เพศ ครอบครัว ระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด เป็นต้น ทั้งนี้เราสามารถป้องกันโรคหัวใจด้วยการปรับพฤติกรรมเสี่ยง รวมถึงเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
สาเหตุโรคหัวใจ
สาเหตุโรคหัวใจนั้นสามารถแบ่งออกได้หลายประเด็น ไม่มีสาเหตุที่ตายตัวแน่นอน แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่สามารถบ่งบอกได้ว่าน่าจะมีสิทธิ์เป็นโรคหัวใจได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำให้เกิดโรคหัวใจในประเภทที่ต่างกันออกไป เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น ประวัติครอบครัว เพศ ขาดการออกกำลังกาย และการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจสามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุขึ้น 40 แต่ในปัจจุบันพบว่าอัตราการเป็นโรคหัวใจพบมากขึ้นในคนอายุ 30-40 ปี การมีอายุมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
- เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิง แต่สำหรับผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหลังหมดประจำเดือน
- ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย (ผู้ชายก่อนอายุ 55 ปี และผู้หญิงก่อนอายุ 65 ปี)
ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้
- ระดับไขมันในเลือดสูง หรือโคเลสเตอรอลสูง โดยโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบหลักของไขมันที่มักสะสมในหลอดเลือดหัวใจ หากมีระดับโคเลสเตอรอลสูงมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนการรับประทานอาหาร เลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เป็นต้น ในผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30 มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการเตือนโรคหัวใจ โรคหัวใจมีกี่แบบ แบบไหนควรรีบพบแพทย์? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/