เอกชนผุดไอเดียตั้งบริษัทกลาง รวมสถานีฐาน เสาสัญญาณไว้ที่เดียว เช่าใช้โครงข่ายเก่า-ใหม่ร่วมกัน ชี้ต้องลงรายละเอียดร่างหลักเกณฑ์ 3 จีชัดเจน
เอกชนผุดไอเดียตั้งบริษัทกลาง รวมสถานีฐาน เสาสัญญาณไว้ที่เดียว เช่าใช้โครงข่ายเก่า-ใหม่ร่วมกัน ชี้ต้องลงรายละเอียดร่างหลักเกณฑ์ 3 จีชัดเจน หวั่นหมดสัมปทาน 2 จีก่อนไร้ผู้รับผิดชอบ คาดเตรียมถกอีกรอบก่อนลงจัดประชาพิจารณ์กลางเดือน ส.ค.
นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ประธานอนุกรรมการจัดทำแนวทาง การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน สำหรับประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3 G and beyond กล่าวภายหลังการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (โฟกัส กรุ๊ป) วานนี้ (14 ก.ค.) ว่า การรับฟังโฟกัส กรุ๊ปครั้งนี้ ต่อเนื่องมาจากการรับฟังร่างฯ หลักเกณฑ์ใบอนุญาต 3 จี โดยมีตัวแทนเอกชนเสนอให้จัดทำบริษัทกลางรวมทรัพย์สินโทรคมนาคม (ทาวเวอร์ คัมพะนี) รวมโครงข่ายหลัก (คอร์ เน็ตเวิร์ค) สถานีฐาน และเสาส่งสัญญาณไว้ที่เดียวทั้งระบบ 2 จีเดิม และโครงข่าย 3 จีใหม่ ที่จะสร้างขึ้นแล้วแบ่งพื้นที่ให้เกิดการเช่าใช้ร่วมกัน ซึ่งเป็นรูปแบบแนวทางเดียวกับต่างประเทศ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการที่ครอบคลุม
กทช. เสนอแนวทางการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน กทช. 3 แนวทาง ได้แก่ 1. เปิดให้เข้าร่วมใช้ฝ่ายเดียว 2. การแลกเปลี่ยนกันเข้าร่วมใช้ และ 3. สร้างเผื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมากกว่าหนึ่งรายเข้าร่วมกัน
ก่อนประกาศร่างหลักเกณฑ์การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วม กทช. จะจัดโฟกัส กรุ๊ปร่วมกับเอกชนอีกครั้งประมาณ 2 สัปดาห์ข้างหน้า ก่อนรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) กลางเดือน ส.ค.นี้ มั่นใจจะเสร็จเดือน ก.ย.นี้ ช่วงเดียวกับการประมูลใบอนุญาต 3 จี
นายวีรวัฒน์ เทพสุนทร ผู้จัดการส่วนกฎเกณฑ์การเชื่อมต่อโครงข่ายสังกัดรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ. ทีโอที กล่าวว่า หากเปิดให้บริการ 3 จีได้ภายในปลายปีนี้ เท่ากับมีผู้ให้บริการรายใหม่ต้องลงทุน 3 จี 3 ราย รวมทีโอทีเป็น 4 ราย จึงน่าจะเจรจาจับคู่กันเพื่อลดต้นทุน แต่หากเจรจาขอเช่าโครงข่ายจะใช้เวลานานอาจไม่ทันการเปิดให้บริการ
นายนฤพล รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า กทช. ไม่ควรกำหนดราคากลางการใช้โครงสร้างพื้นฐานเป็นราคาเดียว ควรปล่อยขึ้นกับการเจรจาแต่ละราย
นอกจากนี้ กทช.ไม่ควรบังคับใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วม เพราะการใช้โครงสร้างมีข้อจำกัดมาก กทช. ควรชัดเจนเรื่องสิทธิการขอเช่าใช้โครงข่าย จากผู้ให้เช่าโครงข่ายหลักจะให้เช่าได้เฉพาะโครงข่าย 2 จีด้วยกัน หรือเมื่อสร้างโครงข่าย 3 จีขึ้นมาใหม่ แล้วค่อยเช่าใช้ร่วมกัน
อีกทั้งเมื่อสร้างโครงข่ายขึ้นแล้วใครจะได้สิทธิครอบครองทรัพย์สิน เพราะรัฐบาลและกระทรวงการคลังก็จะถือสิทธิครอบครองโครงข่ายทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม การอนุญาตให้คนอื่นมาเช่าใช้ต้องรอผ่านความเห็นชอบของรัฐหรือไม่
นายธัช บุษฎีกานต์ ผู้อำนวยการด้านกฎโทรคมนาคม และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎข้อบังคับ บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กทช. ควรกำหนดสเปคคุณสมบัติเสาส่งสัญญาณให้ชัดเจนไปเลยว่าจะให้เอกชนสร้างแล้วแบ่งให้เช่าใช้ได้กี่ราย เพราะอาจเกิดการลงทุนไม่คุ้มค่า มีโครงข่ายเหลือเกินต้องการ จะยิ่งทำให้เกิดการสูญเปล่าในแง่การลงทุน
ที่มา: bangkokbiznews.com