ฮิตาชิดิสเพลย์ (Hitachi Displays) ธุรกิจผลิตหน้าจอแอลซีดีในเครือฮิตาชิจากญี่ปุ่น ตกลงยอมจ่ายเงินค่าปรับ 31 ล้านเหรียญสหรัฐในข้อหาร่วมกับผู้ผลิตหน้าจอแอลซีดีรายอื่นกำหนดราคาจำหน่ายหน้าจอแอลซีดีในสหรัฐฯแบบตายตัว ซึ่งเป็นการแทรกแซงกลไกราคาที่ทำให้ตลาดแอลซีดีไม่เกิดการแข่งขันอย่างเสรี
สก็อตต์ แฮมมอนด์ (Scott Hammond) ผู้ช่วยอธิบดีกรมอัยการสหรัฐฯแถลงการณ์ว่า ฮิตาชินั้นร่วมกับบริษัทต่างชาติสามแห่งกำหนดราคาจำหน่ายหน้าจอแอลซีดีให้แก่บริษัทในสหรัฐฯแบบตายตัวจนทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการปรับฮิตาชิครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนกับบริษัทต่างชาติที่มีการปฏิบัติงานในสหรัฐฯ ว่าจะต้องปฏิบัติตัวตามกฎหมายการค้ายุติธรรมอย่างเคร่งครัด
รัฐบาลสหรัฐอเมริกานั้นเริ่มตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ผลิตหน้าจอแอลซีดีทั่วโลกตั้งแต่ปี 2549 ว่ามีการร่วมมือกันตั้งราคาจอแอลซีดีเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือไม่ ด้วยการร่วมกันกดดันบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนให้ลดราคาลง แต่กลับตกลงกันว่าจะไม่ลดราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตัวเองในส่วนที่เป็นกำไร ถือเป็นการแทรกแซงราคาแอลซีดีในตลาดไม่ให้เปลี่ยนแปลงตามกลไกธรรมชาติ แถมยังเอื้อประโยชน์ต่อคนเฉพาะกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรม
รายงานระบุว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯได้สั่งปรับเพื่อลงโทษบริษัทแอลซีดีที่เข้าข่ายกระทำผิดกฏหมายการค้ายุติธรรมทั้งสิ้น 585 ล้านเหรียญ กับบริษัทแอลจีดิสเพลย์ (LG Display) ชาร์ป (Sharp) และชงฮวาพิกเจอร์ทูบส์ (Chunghwa Picture Tubes) โดยผู้บริหารบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียนอีก 7 รายที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในขณะนี้ ซึ่งราว 4 รายยอมรับผิดและได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 6-9 เดือน
กรณีของฮิตาชิ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯระบุว่าฮิตาชิยอมรับผิดและพร้อมชำระค่าปรับ 31 ล้านเหรียญจากการจำหน่ายจอแอลซีดีที่บริษัทได้แทรกแซงกลไกราคาไว้แล้วให้กับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อย่างเดลล์ (Dell) ซึ่งเดลล์นำมาติดตั้งไว้ในผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและเดสก์ท็อปของบริษัทตั้งแต่เดือนเมษายน 2001 ถึงมีนาคมปี 2004 โดยศาลสหรัฐฯได้อนุมัติการยอมความครั้งนี้แล้ว
สำหรับแอลจีดิสเพลย์ ซึ่งเคยทำตลาดในชื่อแอลจีฟิลิปส์ (LG Philips) มาก่อน ได้ตกลงยอมชำระเงิน 400 ล้านเหรียญเพื่อยอมความในคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่ชงฮวาควักกระเป๋าไป 65 ล้านเหรียญ น้อยกว่าชาร์ปซึ่งยอมจ่ายเงินค่าปรับไป 120 ล้านเหรียญ
ค่าปรับที่แอลจียินยอมชำระไปนั้นถือว่ามีมูลค่ามากเป็นอันดับ 2 ในบรรดาคดีที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงราคาสินค้า โดยมูลค่าสูงสุดอันดับหนึ่งคือ 500 ล้านเหรียญซึ่งทางการสหรัฐฯสั่งปรับบริษัทผลิตยารายใหญ่ของสวิสอย่าง F. Hoffmann-La Roche ในปี 1999 ข้อหาตั้งราคาผลิตภัณฑ์วิตามินแบบตายตัวจนทำให้กลไกราคาสินค้าไม่สามารถทำงานได้อย่างเสรี
ที่มา: matichon.co.th