"เบนจามิน คาร์ลาเกียน" ปลุกยักษ์"อัลคาเทล"ตื่นรับ 3.9จี
ไม่ได้ออกมา "ยืดเส้น ยืดสาย" เสียนานล่าสุดยักษ์เน็ตเวิร์ค "อัลคาเทล ลูเซ่น" ออกมาประกาศว่าได้จัดหาแหล่งเงินทุนให้โอเปอเรเตอร์ที่สนใจแล้ว
เนิ่นนานพอสมควรที่ไม่ได้เห็นยักษ์เน็ตเวิร์ครายใหญ่ของโลกอย่าง "อัลคาเทล ลูเซ่น" ที่มีฐานบัญชาการในประเทศไทยด้วย ออกมา "ยืดเส้น ยืดสาย" เผยกลยุทธ์ตลาดเชิงรุก อาจเพราะด้วยภาวะ "เงียบงัน" ในภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ที่ต่างตั้งตารอคอยการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่อย่าง "3จี" ที่คาดหมายกันว่าเร็วๆ นี้จะได้ชื่นชม
กระทั่ง ล่าสุด "เบนจามิน คาร์ลาเกียน" กรรมการผู้จัดการ อัลคาเทล ลูเซ่น (ประเทศไทย) ผู้บริหารชาวฝรั่งเศส ออกมาประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า ได้จัดหาแหล่งเงินทุนในโครงการ 3จี ไว้ให้โอเปอเรเตอร์ที่สนใจ โดยเริ่มต้นยื่นข้อเสนอไปที่ "บมจ.ทีโอที" เป็นแห่งแรก ทำให้ตลาดอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง
เสนอแหล่งเงินกู้3จี
"บริษัทได้ผนึกกำลังกับอัลคาเทล-เซี่ยงไฮ้เบลล์ ประเทศจีน เสนอเงินกู้ระยะยาวให้โอเปอเรเตอร์ไทยลงทุนขยายเครือข่าย 3จี โดยจะหาแหล่งเงินกู้จากธนาคารในประเทศจีน ล่าสุดเราได้ยื่นข้อเสนอให้ทีโอทีแล้ว โดยอัลคาเทล-เซี่ยงไฮ้เบลล์ จะประสานกับธนาคารชั้นนำในจีน เพื่อช่วยเหลือด้านการเงิน และการยื่นความช่วยเหลือให้ทีโอทีโดยตรง ครั้งนี้จะทำให้ทีโอที และประเทศไทยได้เปรียบหลายด้าน ซึ่งทีโอทีสามารถค้ำประกันตัวเองได้ ขณะที่ธนาคารก็จะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ นั่นหมายถึง ทีโอทีจะสามารถสร้างเครือข่ายทั่วประเทศในการลงทุนที่ต่ำลง ก็รออยู่ว่าทีโอทีจะสนใจหรือไม่" คาร์ลาเกียน เล่า
พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า อัลคาเทล-ลูเซ่น ได้ยื่นข้อเสนอกับทีโอที เป็นเงินกู้แบบผ่อนระยะยาว 10 ปี เริ่มต้นที่ 100 ล้านดอลลาร์ หากทีโอทีกู้ระดับ 200-300 ล้านดอลลาร์ ก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน หากกู้เลย 500 ล้านดอลลาร์ มีเงื่อนไขต้องให้กระทรวงการคลังของไทยที่เป็นผู้ถือหุ้นเข้ามาค้ำประกันด้วย
"เราเพิ่งเสนอเงินกู้ให้ทีโอทีไปล่าสุด ถ้าทีโอทีสนใจ ตามขั้นตอนคือ ต้องขอเอกสารทางการเงิน รวมถึงเอกสารผลประกอบการ เพื่อประกอบการพิจารณา แต่ตอนนี้ ทีโอที ยังไม่ได้ตกลงอะไรมา คงกำลังพิจารณา แต่โดยปกติระดับเงินที่จะลงทุนขยายโครงข่ายก็ต้องเป็นระดับ 500 ล้านดอลลาร์ ขึ้นไป ที่สำคัญเราเปิดกว้างให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายได้เข้ามาคุยเรื่องนี้ของเงินกู้อยู่ตลอด แต่ว่า ณ จุดนี้ เรายื่นข้อเสนอให้ทีโอทีก่อน"
ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญของการเสนอแหล่งเงินกู้ให้ทีโอที หรือแม้แต่กับโอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ ครั้งนี้ อัลคาเทล-ลูเซ่น ต้องการให้โอเปอเรเตอร์หันมาใช้อุปกรณ์เครือข่ายของอัลคาเทลเป็นการตอบแทนด้วย
คาร์ลาเกียน บอกว่า อุปกรณ์ที่อัลคาเทล-ลูเซ่น เสนอนั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากจีนเท่านั้น อาจเป็นการผสมผสาน แล้วแต่การพิจารณา และตัดสินใจ เนื่องจาก "เบลล์ แล็บ" หน่วยงานวิจัยและพัฒนามาจากยุโรป และอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับทั่วโลก จากนั้นก็มาผลิตที่จีน ทำให้ต้นทุนของต่ำ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของอัลคาเทล-ลูเซ่น
"หน้าที่ของอัลคาเทล คือ หาโซลูชั่นที่ดีที่สุดในด้านต่างๆ ให้ เช่น กำหนดการชำระหนี้ ระยะให้กู้ และราคา ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในขณะนี้ ทีโอทีต้องให้ข้อมูลรายละเอียดที่จำเป็นกับเรา หากสนใจกู้ เช่น แผนงานด้านการตลาด การเติบโตของลูกค้า รายได้ที่จะเกิดจากบริการ 3จี ซึ่งเราได้เสนอโซลูชั่นทางด้านการเงินการลงทุนนี้ไปใน 2 รูปแบบ คือแผนที่ต้องการการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง และแผนที่ไม่ต้องการการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง จากทั้งสองประเภทนี้ เราจะหาราคาที่ดีที่สุดและข้อกำหนดที่ดีกว่าให้ทีโอที"
เปิดทางทุกโอเปอเรเตอร์
คาร์ลาเกียน บอกด้วยว่า สำหรับลูกค้ารายอื่นๆ บริษัทก็มีโซลูชั่นทางด้านการเงินให้ด้วยเหมือนกัน เช่น กลุ่มทรู แต่โซลูชั่นจะแตกต่างกันไปเนื่องจากมีสถานการณ์ และอุปกรณ์ที่ใช้ต่างกัน
"สิ่งที่อยากจะเน้นคือ อัลคาเทลสามารถจัดหาโซลูชั่นทางด้านการเงิน พร้อมโซลูชั่นของอุปกรณ์ ซึ่งจะช่วยจัดกระแสเงินสดของโครงการให้ดีขึ้น เราจะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ช่วยประสานงานระหว่างธนาคาร และลูกค้าให้เป็นอย่างดี"
เขาระบุด้วยว่า ถึงวันนี้แล้ว อัลคาเทล-ลูเซ่น ยังรู้สึกมั่นใจศักยภาพด้านโซลูชั่นบรอดแบนด์ไร้สาย 3จี และแอลทีอี (LTE) โดยดูจากตัวเลขการเติบโตทั่วโลก ไตรมาส 3 ปี 2552 และไตรมาส 1 ปี 2553 เห็นได้ชัดเจนว่า อัลคาเทล-ลูเซ่น เป็นผู้ค้ารายเดียวที่สามารถมีอัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจ 3จี ได้ถึง 20%
ขณะที่ผู้ค้าอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติยุโรปหรือจีนต่างทำได้แค่ทรงตัวหรือลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตของคู่แข่งในตลาดเน็ตเวิร์คทั่วโลกจะอยู่ที่ 14% เท่านั้น
ทั้งนี้ บริษัทยังถือว่าเป็นผู้นำในเทคโนโลยีด้านแอลทีอีด้วย มีบริษัทโทรคมนาคมระดับโลกอย่างเอทีแอนด์ที ก็ใช้โซลูชั่นแอลทีอีของอัลคาเทล-ลูเซ่น หรือประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่ทุกประเทศยอมรับว่า เกาหลีใต้ เป็นตลาดใหญ่ของ 3จี ซึ่งที่นี่บริษัทก็มีส่วนแบ่งตลาดในอัตราสูงด้วยเช่นกัน
"สำหรับการเติบโตของตลาดอุปกรณ์เน็ตเวิร์คในไทยนั้น ไม่ว่าจะก่อน หรือหลังมี 3จี เป็นการหาตัวเลขที่ชัดเจนยาก แต่หากมองในแง่ของการลงทุนที่จะเกิดขึ้น เมื่อใบอนุญาต 3จีออก มีการให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ จะทำให้ตลาดแข่งขันสูง และจะดันให้มูลค่าตลาดเติบโตเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันที่ตลาดนิ่งๆ คาดว่า จะกระตุ้นการลงทุนของโอเปอเรเตอร์ไทยในส่วนอุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท"
จัดไทยอยู่กลุ่มประเทศเรียนรู้ไอที
คาร์ลาเกียน ยังได้เล่าถึงโครงสร้างขององค์กรช่วงที่ผ่านมาว่า อัลคาเทล-ลูเซ่น จะบริหารจัดการเป็นกลุ่มประเทศ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้จัดรวมเอเชียเหนือและเอเชียใต้เข้าด้วยกัน เรียกว่า North & South East Asia (NSEA) Regional Unit รวมทั้งหมด 14 ประเทศ เช่น ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม เขมร ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น
เขาบอกจะเห็นได้ว่า เป็นการรวมเอาประเทศที่มีระดับความก้าวหน้าทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันมาก แต่นั่น คือ ข้อดีที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากประเทศอื่นในภูมิภาคเพื่อหายุทธวิธีที่จะก้าวหน้าให้เร็วกว่าเขา ในกลุ่มธุรกิจนี้ สร้างธุรกิจเป็นจำนวน 28% ให้รายได้ทั้งหมดในเขตเอเชียแปซิฟิกเมื่อปีที่ผ่านมา
"ผมมองว่า 3จี มีส่วนสำคัญต่อความเจริญของประเทศ ไม่เพียงจะพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของประเทศโดยรวม ยังสามารถเพิ่มจีดีพีของประเทศได้ด้วย และก็อยากที่จะเห็นการสร้างงานที่เกิดจากการขยายเครือข่าย ประโยชน์จากการมี 3จี ในแง่มุมอื่นๆ ด้วย รวมถึงการสร้างคอนเทนท์ แอพพลิเคชั่นที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจและสำหรับคนไทย ที่สำคัญ 3จี ยังเป็นการกระจายช่องทางให้คนไทยในทุกภูมิภาคได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างรวดเร็วในหลากหลายวิธี" ผู้บริหารอัลคาเทล-ลูเซ่น ทิ้งท้าย
จุติขอ3สัปดาห์ดูข้อมูล3จีทีโอที
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า แผนการลงทุน 3 จีของทีโอที มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท จะต้องหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กระทรวงไอซีทีภายใน 3 สัปดาห์นี้ โดยระหว่างนี้ทีโอทีจำเป็นต้องรวบรวมเอกสาร เกี่ยวกับแผนการดำเนินงานทั้งหมด ส่งมาให้ไอซีทีพิจารณา
ขณะที่ นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ยอมรับว่า คุยรายละเอียดเบื้องต้นกับอัลคาเทลไป แต่ทีโอทียังไม่สรุปจะเปิดวงเงินกู้จากรายใดบ้าง
ที่มา: bangkokbiznews.com